คิดเห็นแชร์ : เชื้อเพลิงชีวภาพ

สวัสดีครับ พบกันเดือนละครั้งครับ ในคอลัมน์ คิด เห็น แชร์ ของหนังสือพิมพ์มติชน สองครั้งก่อนผมเล่าเรื่องของ สถานการณ์น้ำมันและก๊าซ LPG ครั้งนี้ผมขอพูดถึงเรื่องเชื้อเพลิงชีวภาพครับ เพื่อจะได้จบชุดที่เกี่ยวกับกลุ่มน้ำมันเชื้อเพลิง

พื้นฐานสำคัญที่ควรรู้ของเชื้อเพลิงชีวภาพคือพืชที่ให้เชื้อเพลิงชีวภาพมี 2 ชนิด คือพืชให้แป้ง กับพืชให้น้ำมัน

1.อย่างที่เราทราบกันครับ พืชให้แป้งแล้วนำมาแปลงสภาพเป็นเอทานอล ก่อนผสมกับนำมันเบนซิน ได้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ พืชเหล่านี้ได้แก่ อ้อย มันสำปะหลัง และข้าวโพด ในประเทศไทยส่วนใหญ่เราใช้กากน้ำตาล มันสำปะหลัง และน้ำอ้อยเป็นวัตถุดิบสำคัญ ในสัดส่วน 66% 28% และ 6% ตามลำดับ ส่วนต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา และจีน มักจะใช้ข้าวโพด ส่วนบราซิลเหมือนไทยคือใช้อ้อยเป็นหลักครับ การใช้เอทานอลส่วนหนึ่งช่วยทำให้ลดการนำเข้านำมันจากต่างประเทศ เพราะบริษัทน้ำมันจะหันมาใช้ผลิตผลทางการเกษตรเข้ามาเป็นส่วนผสม พร้อมกันนั้นยังช่วยเกษตรกรของไทยพยุงราคาสินค้าเกษตรไปด้วยในตัว ได้ประโยชน์สองด้านพร้อมกัน ทำให้เราไม่ต้องใช้พลังงานจากฟอสซิลที่กำลังจะหมดไปมากนัก และที่สำคัญยังช่วยทำให้รักษาสิ่งแวดล้อมด้วยเพราะเป็นเชื้อเพลิงสะอาดที่มาจาก พืช

และที่ว่ารักษาสิ่งแวดล้อมและลดโลกร้อน เพราะเอทานอลมี CO2 น้อย เนื่องจากมีโมเลกุลออกซิเจนเป็นส่วนประกอบถึงร้อยละ 35 โดยน้ำหนัก เมื่อนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงในรถยนต์จึงเกิดการเผาไหม้ที่สมบูรณ์กว่าเชื้อเพลิงทั่วไป และถือเป็นพลังงานสะอาดที่ยั่งยืน เพราะผลิตภัณฑ์ที่ได้มาจากพืชหลายชนิดในประเทศไม่มีปัญหา
การขาดแคลนอย่างแน่นอน ไม่มีปัญหาในการแย่งพื้นที่ของพืชอาหาร

Advertisement

ขณะเดียวกันประเทศไทยมีการผลิตพืชที่ให้แป้งมากเพียงพอที่จะสามารถผลิตเอทานอลได้เหลือเฟือ สำหรับวิธีการคำนวณราคาอ้างอิงเอทานอลก็เหมือนกับวิธีการทั่วๆไป ทางการจะนำข้อมูลราคาเอทานอลในเดือนก่อนจาก 3 แหล่ง ได้แก่ ข้อมูลจากกรมสรรพสามิต ข้อมูลจากผู้ผลิตและข้อมูลจากผู้ซื้อ
เอทานอลที่มีการซื้อขายจริง จากนั้นนำมาเปรียบเทียบหาราคาต่ำสุดและกำหนดเป็นราคา ณ โรงกลั่นในเดือนถัดไป พูดง่ายๆ ก็คือ ราคาอ้างอิงเอทานอลในปัจจุบัน เป็นระบบที่เลือกราคาต่ำสุด ระหว่างราคาที่ผู้ผลิตอาทานอลรายงานต่อกรมสรรพสามิต กับราคาเอทานอลที่ผู้ค้ามาตรา 7 รายงานตรงต่อ สนพ. ทำให้ราคาเอทานอลที่มีฐานต่ำสุดเป็นเกณฑ์ในการนำไปคำนวณโครงสร้างราคาน้ำมันกลุ่มแก๊สโซฮอล์

2.ส่วนที่สองคือ พืชให้น้ำมัน เช่น ปาล์มน้ำมัน ซึ่งมีกลไกค่อนข้างสลับซับซ้อนกว่า น้ำมันพืชเหล่านี้จะต้องนำมาแปลงสภาพเปลี่ยนเป็น “ไบโอดีเซล” ก่อนไปผสมน้ำมันดีเซลในอัตราส่วน 7% บ้าง 20% บ้าง กลไกในส่วนนี้จะขอเล่าในตอนต่อไปนะครับ
ที่เล่าก็เป็นเพียงเบื้องต้นเท่านั้น ผมมีรายละเอียดทั้งหมดอยู่ในเว็บไซต์

 

ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร
ผู้ตรวจราชการ กระทรวงพลังงาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image