ปตท.แนะ ปี 2030 ธุรกิจจะเปลี่ยนเกือบทุกด้าน ต้องตามพฤติกรรมคนผ่านเทคโนโลยีให้ทัน

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 14 ธันวาคม ที่ห้องลานนา บอลรูม โรงแรมแชงกรี-ลา อ.เมืองเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ จัดสัมมนาครั้งยิ่งใหญ่ส่งท้ายปี ‘เชียงใหม่ 2019 Smart Economy, Smart City ก้าวใหม่สู่อนาคตที่มั่นคง’ เพื่อระดมมุมมอง ความรู้ ความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ จากกูรูทั้งภาครัฐ-ธุรกิจ หวังกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่นให้เติบโตอย่างมั่นคง โดยมีนายสมหมาย ปาริจฉัตต์ รองประธานกรรมการบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) นายพัฒนพันธุ์ วงษ์พันธุ์ บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ให้การต้อนรับนางวิภาวัลย์ วรพุฒิพงศ์ ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ นายอนุชา มีเกียรติชัยกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่ และสมาชิกจากหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ สภาอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่ และ TCDC เชียงใหม่ ตลอดจนภาคธุรกิจในพื้นที่ภาคเหนือเข้าร่วมการสัมมนาอย่างคับคั่ง

นายมนัส ขันใส รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ประธานกล่าวเปิดการสัมมนาว่า ทั้งหนังสือพิมพ์มติชนและประชาชาติธุรกิจถือเป็นครูของนักเรียนนักศึกษาในการนำข้อมูลมาประกอบการเรียนและการใช้ชีวิตทั้งในแง่การเมืองและเศรษฐกิจ จึงถือเป็นเรื่องที่ดีที่ประชาชาติธุรกิจมาจัดสัมมนาเรื่อง ‘เชียงใหม่ 2019 Smart Economy, Smart City ก้าวใหม่สู่อนาคตที่มั่นคง’ ที่นี่ เพราะเชียงใหม่ถือเป็นเมืองที่สองของประเทศ การสัมมนาในแง่มุมต่างๆ ทั้งเศรษฐกิจ การค้าการลงทุนที่ไร้พรมแดน และโดยเฉพาะการก่อสร้างสนามบินที่สอง การพัฒนาเมือง และรถไฟฟ้า ที่จะมีรองรับความเติบโตและการขยายตัวไปในทิศทางเดียวกัน กระตุ้นความสนใจของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ตลอดจนถึงการก้าวเป็นมรดกโลกในอนาคต

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ นายกสมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย และประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บรรยายพิเศษในหัวข้อ เปลี่ยน ‘ธุรกิจไทย’ ให้ทันโลก ว่า สิ่งที่พูดในวันนี้หวังว่าจะนำไปปรับตัวใช้ในธุรกิจได้ เริ่มจากคู่แข่งจากข้ามอุตสาหกรรม หากไม่เก่งจับมือกันเพื่อสร้างธุรกิจใหม่และไปด้วยกัน แรงงานในอนาคตที่กำลังจะถูกทดแทนด้วยเทคโนโลยี ต้องเปลี่ยนความรู้ความสามารถเพื่อทำงานร่วมกับหุ่นยนต์และคอมพิวเตอร์ ตามให้ทันโลก มองความจริงใจและเห็นผู้บริโภคเป็นสำคัญผ่านเทคโนโลยี ตามด้วยพฤติกรรมและความต้องการคนให้ทัน เช่น นาฬิกาที่มาพร้อมเทรนด์การออกกำลัง แต่ปัญหาใหญ่คือเราจะตามเทคโนโลยีอย่างไรโดยเฉพาะกฎหมายเก็บภาษี หรือแม้แต่การใช้เทคโนโลยีขับเคลื่อนสังคมเมือง เช่น การนำรถไฟฟ้ามาใช้เพื่อการเดินทางไปพร้อมกันให้ได้มากขึ้น สร้างชุมชนเมืองอัจฉริยะให้เกิดการเติบโตร่วมกันอย่างยั่งยืน การแพทย์ที่ทันสมัยด้วย AI หรือดิจิทัล เพื่อให้สอดคล้องกับอาหารที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นในฐานะประเทศเกษตรกรรม วิเคราะห์เลือดและดีไซน์อาหารที่เหมาะกับคนอย่างไร นาโนเทคโนโลยีจะเข้ามาเกี่ยวข้องกับคนมากขึ้นวัสดุใหม่ๆ เช่น รถที่นำคาร์บอนไฟเบอร์น้ำหนักเบามาผลิต สิ่งเหล่านี้เป็นเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะเข้ามาเป็นเทรนด์ใหม่ในอนาคต

Advertisement

“ปี 2020 สื่อสิ่งพิมพ์ที่ถูกทดแทนด้วยไอแพด มือถือ โมเดลใหม่ๆ ผู้ประกอบการเริ่มติดโซลาร์มากขึ้นตามโรงงาน การซื้อขายพลังงานกันเอง และในปี 2030 จะมีการเปลี่ยนธุรกิจเกือบทุกอย่าง ขอเพียงติดตามและปรับตัวให้ทัน ข่าวดีคือ ยังไม่มีเรื่องท่องเที่ยวที่จะเปลี่ยนไป ขอให้ทำให้ดี เชียงใหม่ยังเติบโตได้อยู่ในแง่ความเติบโตทางการท่องเที่ยว”

นายอรรถพลกล่าวอีกว่า พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะในสังคมออนไลน์กลายเป็นโลกสองใบให้เราทำธุรกิจ เพราะเขามีความฉลาดเลือก มีความคาดหวังสูง และต้องการความสะดวกสบายและรวดเร็ว การทำตลาดจะยากขึ้นเพราะผู้บริโภคเปลี่ยนใจตลอดเวลา ขอแค่ตามพฤติกรรมและทำอะไรให้เหนือความคาดหมายของผู้บริโภค เชื่อว่าจะประสบความสำเร็จแน่ หันไปเรียนรู้สิ่งใหม่ที่เข้ามาเพื่อปรับตัวและทำธุรกิจใหม่ๆ การตลาดต้อง 5 ใช่ คือ คนที่ใช่ กลุ่มเป้าหมายชัดเจน สินค้าที่ใช่ ต้องดีต้องโดน วัตถุประสงค์ที่ใช่ แบรนด์ตัวสินค้า ตอบโจทย์มากกว่าสินค้าและบริการ วิธีที่ใช่ เข้าถึงช่องทางและถูกวิธี และเวลาที่ใช่ มองภาพใหญ่ให้ชัดเจนและเข้าถึงถูกเวลา สุดท้ายคือ ทำธุรกิจควบคู่ไปกับการดูแลชุมชนและสังคมรอบข้าง

เกาะกระแสเศรษฐกิจ กับ Line@มติชนเศรษฐกิจใกล้ตัว

Advertisement

เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image