“บัตรเครดิต”ใหม่ อัพเกรด-สกัดโจร ลุย ศก.ดิจิตอล

เป็นระยะเวลากว่า 30 ปีแล้วที่ธนาคารในประเทศไทย พัฒนาและเริ่มนำเทคโนโลยีการให้บริการด้านการเงินด้วยการถอนเงินผ่านเครื่องบริการอัตโนมัติ (Automatic Teller Machine-ATM) ทำให้ไม่ต้องไปเบิกถอนเงินที่ธนาคารพาณิชย์ (ธพ.)

ตัวกลางที่ใช้แสดงตัวตนเพื่อทำธุรกรรมคือบัตรเอทีเอ็ม

บัตรนี้เก็บข้อมูลของผู้ถือบัตรไว้ในแถบแม่เหล็ก (Magnetic) มีรหัส 4 ตัว เพื่อใช้ยืนยันตัวตนในการทำรายการ

ต่อมาได้พัฒนาไปเป็นบัตรเดบิต สามารถถอนเงินผ่านเครื่องเอทีเอ็มและใช้ชำระค่าสินค้าหรือบริการแทนเงินสดได้เหมือนบัตรเครดิตด้วย

Advertisement

แต่ไม่ใช่แค่บริการทางการเงินที่พัฒนาไปเท่านั้น กลุ่มมิจฉาชีพเองก็พัฒนากลวิธีการโจรกรรมใหม่ๆ ขึ้นมาด้วย

มีทั้งการนำอุปกรณ์คัดลอกข้อมูล (สกิมมิ่ง) ไปติดตั้งเพื่อคัดลอกข้อมูลจากบัตรเอทีเอ็ม บัตรเดบิตและติดตั้งกล้องวิดีโอขนาดเล็กบริเวณเครื่องเอทีเอ็มเพื่อแอบดูรหัส ก่อนนำไปทำบัตรปลอมเพื่อใช้ถอนเงินจากทั้งในและต่างประเทศเกิดความเสียหายทั้งผู้ถือบัตรและธนาคารเจ้าของ ส่งผลให้เกิดความไม่มั่นใจจะใช้บริการเครื่องเอทีเอ็ม

แม้ว่าที่ผ่านมาธนาคารทุกแห่งพยายามหาแนวทางแก้ไขและป้องกันอย่างหนัก แต่ยังมีข่าวบัตรเอทีเอ็มถูกสกิมมิ่ง เกิดความเสียหายขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง

Advertisement

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือแบงก์ชาติ โดยคณะกรรมการระบบชำระเงิน (กรช.) จึงศึกษาเทคโนโลยีใหม่เพื่อนำมาใช้กับบัตรเอทีเอ็มของธนาคารในไทยเพื่อป้องกันการโจรกรรม

กระทั่งพบว่าในต่างประเทศได้เปลี่ยนบัตรแถบแม่เหล็กไปเป็นสมาร์ทการ์ด หรือบัตรเก็บข้อมูลลงในวงจรอิเล็กทรอนิกส์ หรือชิป (Chip) ภายใต้เทคโนโลยีที่ชื่อว่ายูโร มาสเตอร์ วีซ่า (Euro Master Visa-EMV) กันเรียบร้อยแล้ว

เทคโนโลยีนี้ เริ่มพัฒนาและใช้มาตั้งแต่ราวปี 2543 หรือกว่า 10 ปีที่ผ่านมา

ทองอุไร ลิ้มปิติ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธปท. ในฐานะรองประธานกรรมการ กรช.ระบุว่า ปี 2556 กรช.ได้กำหนดนโยบายให้ ธพ.เริ่มเปลี่ยนบัตรเอทีเอ็มและบัตรเดบิตของไทยจากแถบแม่เหล็กให้เป็นชิปการ์ด ตามมาตรฐานชิปการ์ดของไทย (Thai Chip Card Standard) เพื่อเพิ่มความปลอดภัยและแก้ปัญหาการปลอมแปลงบัตร และช่วยสร้างความเชื่อมั่นในการใช้บัตรเอทีเอ็มและบัตรเดบิตเพื่อทำธุรกรรมทางการเงินผ่านเครื่องเอทีเอ็ม รวมถึงการชำระค่าสินค้าและบริการที่ร้านค้าผ่านเครื่องรูดบัตรอัตโนมัติ (Electronic Data Capture-EDC)

แทนการใช้เงินสด

นอกจากนี้ยังเป็นการส่งเสริมการใช้ระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment) และเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาต่อยอดกับนโยบายของรัฐบาลจะพัฒนาระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National e-Payment) ที่ต้องการผลักดันให้ไทยก้าวสู่สังคมไร้เงินสด

“ตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม 2559 นี้

บัตรเอทีเอ็มและบัตรเดบิตออกใหม่ของ ธพ.

ทุกแห่งจะเป็นแบบชิปการ์ด ตามมาตรฐานชิปการ์ดของไทย (ทีบีซีซี) ผู้ถือบัตรต่างธนาคารสามารถใช้งานเครื่องเอทีเอ็มระหว่างกันได้ ส่วนบัตรเอทีเอ็มและบัตรเดบิตเก่าแบบแถบแม่เหล็กทั้งหมดกว่า 60 ล้านใบ จะให้ ธพ.ทยอยเปลี่ยนเป็นแบบชิปการ์ด คาดว่าจะเปลี่ยนบัตรทั้งหมดได้ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2562 ไทยถือเป็นประเทศที่ 3 ในอาเซียนที่ปรับเปลี่ยนบัตรต่อจากมาเลเซียดำเนินการไปแล้วในปี 2547 และสิงคโปร์ปี 2553” รองประธานกรรมการ กรช.กล่าว

ด้าน ปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า การเปลี่ยนบัตรจากแถบแม่เหล็กเป็นแบบชิปการ์ด จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นในทำธุรกรรมการเงินให้กับลูกค้าผู้ถือบัตร เพราะบัตรแบบสมาร์ทการ์ด หรือชิปการ์ด จะเก็บข้อมูลของ

ผู้ถือบัตรไว้ในชิป เปรียบเสมือนคอมพิวเตอร์ขนาดเล็ก มีระบบป้องกันการเข้าถึงข้อมูลมีความปลอดภัยสูงกว่าการเก็บข้อมูลในแถบแม่เหล็ก

ธพ.ลงทุนแต่ละแห่งมากกว่าพันล้านบาท เพื่อปรับปรุงหลังบ้านและโครงสร้างพื้นฐานให้รองรับเทคโนโลยีใหม่ รวมทั้งได้ปรับปรุงเครื่องเอทีเอ็มให้รองรับชิปการ์ดได้

ขณะนี้เครื่องเอทีเอ็มทั่วประเทศของ ธพ.

ทั้งหมด รวมกว่า 6 หมื่นเครื่อง ทยอยปรับเปลี่ยนระบบไปแล้ว 86%

คาดว่าสิ้นปีนี้เครื่องเอทีเอ็มทุกเครื่องจะรองรับชิปการ์ดได้ 100%

ยศ กิมสวัสดิ์ ประธานสำนักระบบการชำระเงิน (พีเอสโอ) สมาคมธนาคารไทย อธิบายว่า บัตรเอทีเอ็มและบัตรเดบิตเก่า 60 ล้านใบ จำเป็นต้องเปลี่ยนมาเป็นแบบชิปการ์ด คาดว่าจะเปลี่ยนทั้งหมดภายใน 3 ปีครึ่ง ปี 2559 คาดว่าจะมีบัตรใหม่และบัตรเก่าเปลี่ยนบัตรเป็นชิปการ์ดได้ 8-10 ล้านใบ ปี 2560 อีกราว 20-25 ล้านใบ จากนั้นจะเปลี่ยนได้ครบถ้วนในสิ้นปี 2562 ตั้งแต่ 1 มกราคม 2563 บัตรเอทีเอ็มและบัตรเดบิตออกโดย ธพ.ในไทยจะเป็นบัตรชิปการ์ดทั้งหมด

ส่วนบัตรแถบแม่เหล็กจะไม่สามารถใช้ได้

อย่างไรก็ตาม บาง ธพ.อาจจะยังออกบัตรแถบแม่เหล็กบางส่วน เพราะประเทศในอาเซียนบางส่วน อาทิ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ยังอยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่านมาใช้ชิปการ์ด หากเดินทาง

ไปยังประเทศเหล่านี้อาจไม่สามารถใช้บัตเอทีเอ็มหรือบัตรเดบิตแบบชิปการ์ดในการทำธุรกรรมได้ “การเปลี่ยนผ่านครั้งนี้ ไม่ใช่เฉพาะประเด็นเรื่องความปลอดภัยของข้อมูลผู้ถือบัตรและการป้องกันความเสียหายด้านการเงินเท่านั้น แต่ประเด็นสำคัญ คือการสร้างความสามารถในการแข่งขันกับประเทศอื่น ไทยต้องเดินหน้าไปสู่เศรษฐกิจดิจิตอล เพราะทั่วโลกดำเนินมาในทางนี้ การใช้จ่ายในสังคมดิจิตอลจะไม่ใช้เงินสด แต่ใช้เงินอิเล็กทรอนิกส์ ผ่านบัตรเครดิต บัตรเดบิตแทน เพราะการใช้เงินสดมีต้นทุนในการพิมพ์พันธบัตร

การดูแลและบริหารจัดการปีละกว่า 1 แสนล้านบาท การส่งเสริมให้ประชาชนมาใช้บัตรในการชำระสินค้า สามารถลดต้นทุนการบริการจัดการลงได้ อย่างน้อย 5 หมื่นล้านบาท เงินเหลือกว่า 5 หมื่นล้านบาท คิดเป็นกว่า 0.4% ของอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจหรือจีดีพี ก็สามารถนำไปหมุนใช้จ่ายในระบบกระตุ้นเศรษฐกิจได้” ยศให้ความเห็น

นอกจากนี้นโยบายของรัฐบาลตามโครงการเนชั่นแนล อีเพย์เมนต์ ยังมีแผนจะวางเครื่องอีดีซีเพิ่มกว่า 2 ล้านจุดทั่วประเทศ เป็นการขยายจุดชำระเงินผ่านบัตรและเป็นการส่งเสริมประชาชนหันให้ใช้บัตรมากขึ้น ต่อไปคาดว่ารัฐบาลจะมีมาตรการลดหย่อนภาษีต่างๆ ออกมาเพื่อสนับสนุนให้ใช้จ่ายผ่านบัตรมากขึ้น

นอกจากจะช่วยลดต้นทุนการบริหารจัดการเงินสด ยังช่วยป้องกันความเสี่ยงจากการโดนปล้นเพราะพกเงินสดจำนวนมากได้

ยศกล่าวด้วยว่า ปัจจุบันประชาชนมีความสับสนระหว่างบัตรเอทีเอ็มและบัตรเดบิต บัตรเดบิตคือบัตรเอทีเอ็มชนิดหนึ่ง ใช้จ่ายค่าสินค้าและบริการแทนเงินสดได้ ปัจจุบัน ธพ.ส่วนใหญ่เปลี่ยนจากการออกบัตรเอทีเอ็มธรรมดา มาเป็นการออกบัตรเดบิตแทน

การใช้บัตรเดบิตซื้อของเป็นการหักเงินจากวงเงินฝากของผู้ถือบัตร ขณะนี้การรูดบัตรเดบิตใช้ระบบยืนยันตัวตนแบบใช้ลายเซ็น

อย่างไรก็ตาม หากการใช้บัตรเพื่อกดเงินสด

อย่างเดียว สามารถติดต่อ ธพ.ผู้ถือบัตรให้มีการปรับวงเงินในการใช้แทนเงินสดให้เหลือ 0 บาท หรือกำหนดวงเงินตามต้องการใช้จ่ายได้ เป็นการป้องกันความเสี่ยงทางหนึ่ง หากทำบัตรหายและมีผู้ไม่ประสงค์ดีจะนำบัตรเดบิตไปใช้รูดซื้อสินค้า

สมาคมอยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อใช้การยืนยันการชำระเงินของเดบิตด้วยรหัส (พิน) คือเมื่อรูดจ่ายค่าสินค้าแล้ว ต้องกดรหัสยืนยันตัวตน แทนการใช้ลายเซ็นอาจตรวจสอบได้ยาก คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ภายในไตรมาส 4 ปีนี้ หรือช่วงต้นปี 2560 จะทำให้การใช้บัตรเดบิตมีความปลอดภัยเพิ่มมากขึ้น

นอกจากนี้ พบว่าแนวโน้มการใช้บัตรเดบิตเพิ่มมากขึ้น ข้อมูลจาก ธปท. ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2559 พบว่ามีจำนวนบัตรเอทีเอ็มและบัตรเดบิต รวม 60 ล้านใบ เป็นบัตรเอทีเอ็มราว 13 ล้านใบ และบัตรเดบิต 47 ล้านใบ เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อยู่ที่ 59 ล้านใบ เป็นบัตรเอทีเอ็ม 14 ล้านใบ และบัตรเดบิต 45 ล้านใบ

ส่วนยอดธุรกรรมผ่านบัตรเอทีเอ็มและบัตรเดบิตอยู่ที่ 1.74 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นธุรกรรมผ่านบัตรเอทีเอ็ม 1.40 แสนล้านบาท ส่วนบัตรเดบิตมีมูลค่า 9.15 แสนล้านบาท มูลค่าการทำ

ธุรกรรมผ่านบัตรเอทีเอ็มและเดบิตเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2558 อยู่ที่ 1.57 ล้านล้านบาท

ข้อมูลจาก ธปท.ระบุว่า สำหรับบัตรเอทีเอ็มและบัตรเดบิตแบบธรรมดาจะต้องมีค่าใช้จ่าย อาทิ ค่าธรรมเนียมแรกเข้าประมาณ 100 ต่อบัตร ค่าธรรมเนียมบัตรรายปีเฉลี่ย 200 บาทต่อปี

รวมทั้งสิ้น 100-300 บาท

ส่วนบัตรเอทีเอ็มและบัตรเดบิตที่มีสิทธิพิเศษอื่น จะเสียค่าธรรมเนียมเพิ่มเติมตามที่ ธพ.กำหนด

อย่างไรก็ตาม ผู้ถือบัตรอยู่แล้ว หากจะไปเปลี่ยนก็ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมแรกเข้า อาจจะเสียแค่ค่าธรรมเนียมรายปีเท่านั้น ธพ.ยืนยันว่าอัตราค่าธรรมเนียมการทำบัตรใหม่และเปลี่ยนเป็นบัตรชิปการ์ดไม่มีการเปลี่ยนแปลง ยังจัดเก็บในอัตราเดิมเท่ากับบัตรแถบแม่เหล็ก

ทราบอย่างนี้แล้ว ผู้ถือบัตรอย่างเราท่าน อย่าลืมเข้าไปเปลี่ยนบัตรใหม่ เพื่อเพิ่มความปลอดภัยของเงินในกระเป๋า

และอย่าลืมติดตาม มาตรการโปรโมชั่นหรือจูงใจให้ไปเปลี่ยนบัตรหรือทำบัตรใหม่ของ ธพ. เพื่อเป็นการรักษาสิทธิของตนเองด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image