“รฟท.”ทำมาร์เก็ตซาวน์ดิ้ง รอบสถานีรถไฟขอนแก่นรับไฮสปีดเทรน (มีคลิป)

นายวรวุฒิ มาลา รักษาการแทนผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยในงานสัมมนาทดสอบความสนใจของนักลงทุน (มาร์เก็ตติ้ง ซาวน์ดิ้ง) โครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณอาคารบ้านพักพนักงาน, อาคารที่ทำการและสนามกอล์ฟที่สถานีขอนแก่น ตามพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2556 ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัล พลาซา ลาดพร้าว ว่า โครงการดังกล่าวเป็นโครงการพัฒนาที่ดินบริเวณรอบสถานีขอนแก่น ที่มีอาคารบ้านพักพนักงาน อาคารที่ทำการ และสนามกอล์ฟ รวมทั้งยังมีพื้นที่ว่างบางส่วน เพื่อศึกษาความเหมาะสมด้านการตลาด การพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ รวมถึง เพื่อศึกษาแนวคิดการออกแบบ ความเหมาะสมด้านการเงินและการจัดการโครงสร้างการลงทุน และเพื่อศึกษาและจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ ก็เพื่อให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2556

นายวรวุฒิ กล่าวว่า บริเวณโดยรอบสถานีขอนแก่น มีเนื้อที่ประมาณ 108.4 ไร่ โดยจะแบ่งการศึกษาเชิงพื้นที่ภายในรัศมี 1 กิโลเมตร จากอนวเขตพื้นที่โครงการ 4 โซน ได้แก่ โซนบี โครงการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ เนื้อที่ 16.2 ไร่, โซนซี และโซนดี โรงแรม ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้า เนื้อที่ 26.5 ไร่, โซนอี พื้นที่สวนสนุกและพื้นที่สันทนาการ เนื้อที่ 58.6 ไร่ และ โซนเอฟ พื้นที่ประเภทกลุ่มอาคารสำนักงานและที่พักอาศัยของพนักงานการรถไฟ เนื้อที่ 8 ไร่

“โครงการนี้ ยังเป็นเพียงแนวคิด และเป็นการสอบถามนักลงทุนเพื่อศึกษาเรื่องความสนใจในการพัฒนาพื้นที่ โดยรอบสถานีขอนแก่น ซึ่งอยู่ใจกลางเมืองขอนแก่น ติดกับถนนมิตรภาพ โดยจะต้องสอบถามความคิดเห็นจากเอกชน ว่า มีความสนใจมากน้อยแค่ไหน และพัฒนาต่อได้อย่างไร โดยเบื้องต้นโครงการนี้จะใช้รูปแบบการร่วมทุนรัฐและเอกชน หรือพีพีพี จากการประเมินราคาที่ดินกว่า 1,000 ล้านบาท ซึ่งการพัฒนานี้จะรองรับ การเติบโตที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจากโครงการรถไฟทางคู่ ชุมทางจิระ-ขอนแก่น ที่จะแล้วเสร็จในปี 2563 คาดว่า ผู้โดยสารจะใช้บริการ 28,000-38,000 คนต่อวัน รถไฟฟ้ารางเบาวิ่งในตัวเมืองขอนแก่นระยะทาง 22 กิโลเมตร, โครงการรถไฟความเร็วสูง ไทย-จีน ระยะที่ 2, และโครงการขอนแก่นสมาร์ทซิตี้ ที่เชื่อมโยงกับสถานีขอนแก่นทั้งหมด” นายวรวุฒิ กล่าว

นายชาญณรงค์ บุริสตระกูล นายกอสังหาริมทรัพย์จังหวัดขอนแก่น เปิดเผยว่า พื้นที่บริเวณดังกล่าวมีศักยภาพ และตั้งอยู่ใจกลางเมือง จึงเป็นพื้นที่ที่มีความน่าสนใจ ซึ่งหากต้องการที่จะพัฒนา ก็จะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจในบริเวณนั้น รวมถึงทิศทางในอนาคตด้วย จึงต้องการให้ รฟท. มองเป้าหมายในการพัฒนาในระดับอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ซึ่งเมืองขนาดใหญ่ที่จะพัฒนาเป็นศูนย์กลางในอนาคต ควรจะต้องรองรับประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงรองรับการเดินทางต่างๆ ด้วย เพื่อให้การพัฒนาเดินหน้าได้อย่างตรงจุด ซึ่งปัจจุบันในจังหวัดขอนแก่นมี ที่ดินแปลงใหญ่ที่จะพัฒนา เป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ หรือทีโอดี 3-4 แปลง ซึ่งหาก รฟท. ออกแบบร่วมกับเอกชน ในการพัฒนาเมือง เพื่อให้แต่ละจุดสนับสนุนเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน จะเป็นการพัฒนาที่ได้ประโยชน์ร่วมกัน

Advertisement

เกาะกระแสเศรษฐกิจ กับ Line@มติชนเศรษฐกิจใกล้ตัว

Advertisement

เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image