อีไอซีคาดจีดีพีโตแค่3.8% ผลสงครามการค้า ชี้ลงทุนรัฐ-เอกชนพระเอกหนุน หวังรัฐบาลใหม่สานต่อนโยบาย

นายยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุดศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ(อีไอซี) ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า อีไอซีได้ปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจ(จีดีพี) ไทย ปี 2562 มาอยู่ที่ 3.8% จากเดิมที่ 3.9% ขณะที่ปี 2561 คาดขยายตัวได้ 4.2% โดยแม้ว่าจีดีพีจะชะลอตัวแต่ยังถือว่าขยายตัวได้สูงกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีที่ผ่านมาที่ขยายตัวเฉลี่ย 2.8% และสูงกว่าศักยภาพเศรษฐกิจไทยที่ 3.5% ซึ่งสาเหตุหลักที่มีการปรับลดประมาณการคือ การส่งออกที่คาดขยายตัวเพียง 3.4% จากปี 2561 ที่ขยายตัว 7% จากผลกระทบสงครามการค้าสหรัฐและจีน รวมทั้งเศรษฐกิจประเทศหลักในโลกชะลอตัวลงความต้องการการค้าลดลง และปัจัยเชิงเทคนิคของไทยจากราคาน้ำมันที่ทรงตัวทำให้ส่งผลต่อมูลค่าสินค้าส่งออกที่เกี่ยวเนื่องราคาน้ำมัน เช่น ปิโตรเคมี เป็นต้น

นายยรรยง กล่าวว่า ด้านจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติตาดขยายตัว 5.7% หรือจำนวน 40.2 ล้านคน จากปี 2561 ที่คาดว่าจะอยู่ที่ 38 ล้านคน ซึ่งคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจีนจะกลับมาเป็นบวกได้ในช่วงไตรมาสที่ 2/2562 อย่างไรก็ตามที่ผ่านมา แม้นักท่องเที่ยวจีนชะลอมีกลุ่มนักท่องเที่ยวในอาเซียน เช่น มาเลเซีย รวมทั้งอินเดีย เข้ามาทดแทน แต่การใช้จ่ายต่อหัวต่ำกว่าจีน อาจมีผลกระทบต่อรายได้จากการท่องเที่ยวโดยรวมได้ ทั้งนี้ แรงหนุนเศรษฐกิจไทยยังมาจากการลงทุนที่คาดเป็นพระเอกในปีนี้  สำหรับการลงทุนรัฐทั้งการลงทุนประจำและการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน คาดขยายตัว 7.2% ส่วนการลงทุนเอกชนคาดขยายตัว 4.1% ซึ่งเริ่มเห็นการใช้กำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้น และการจดทะเบียนนิติบุคคลเพิ่มขึ้น รวมทั้งผลดีบวกจากส่งครามการค้าที่เห็นการขอสนับสนุนการลงทุนของนักลงทุนจีนผ่านสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) เพิ่มขึ้น จะเป็นแรงหนุนการลงทุนเอกชนเพิ่มขึ้น ส่วนการบริโภคเอกชนยังกระจุกตัวคาดขยายตัว 3.5%

นายยรรยง กล่าวว่า ปัจจัยการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในปีนี้ ประเด็นสำคัญคือ กระบวนการเลือกตั้งและการจัดตั้งรัฐบาลซึ่งหากจัดตั้งรัฐบาลได้และเป็นรัฐบาลที่เป็นที่ยอมรับคาดว่าจะส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นและภาพรวมเศรษฐกิจไทย ขณะที่การเลื่อนการเลือกตั้งออกไปถ้ายังอยู่ในกรอบระยะเวลาตามรัฐธรรมนูญ และมีการการอธิบายให้เข้าใจและชัดเจนถึงเหตุผล น่าจะเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ไม่น่าจะมีปัญหาต่อความเชื่อมั่นนักลงทุน ทั้งนี้ รัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาต้องเน้นการลงทุนภาครัฐต้องต่อเนื่อง รวมทั้งนโยบายหลักจะต้องเน้นเรื่องการปรับตัวเทคโนโลยีใหม่ทั้งรายย่อยและเอสเอ็มอี ทั้งนี้นโยบายจะต้องมีแผนที่ชัดเจนและสามารถติดตามได้” นายยรรยง กล่าว

นายยรรยง กล่าวว่า ด้านทิศทางค่าเงินบาทในปีนี้ คาดว่าปัจจัยหนุนดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าในปีที่ผ่านมาจะชะลอลง ทั้งจากการขยายตัวเศรษฐกิจสหรัฐและการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) ที่จะขึ้นดอกเบี้ยได้ช้าลง รวมทั้งการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยคาดอยู่ในระดับ 3.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ค่าเงินบาทอาจจะแข็งค่าในบางจังหวะ แต่ยังมีความผันผวนจากสงครามการค้าที่อาจจะมีเงินทุนไหลออกจากประเทศเกิดใหม่ได้ อย่างไรก็ตาม นักลงทุนมองเงินบาทถือเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย(เซฟ เฮฟเว่น) ในการลงทุนจากเสถยรภาพต่างประเทศที่แข็งแกร่ง ทำให้แม้ค่างเงินบาทจะอ่อนค่าแต่อาจจะอ่อรค่าน้อยกว่าประเทศเกิดในและประเทศในเอเชีย คาดกรอบค่าเงินบาทปีนี้ที่ 31.50-32.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

Advertisement

นายยรรยง กล่าวว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยจะมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างค่อยเป็นค่อยไปและคาดว่าจะขึ้นอีก 1 ครั้งในปีนี้ในช่วงตั้งแต่ไตรมาส 2 เป็นต้นไป ที่ระดับ 0.25% หรือดอกเบี้ยนโยบายปีนี้อยู่ที่ 2.00% อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน ธปท.มีการใช้อัตราดอกเบี้ยนโยบายและใช้มาตรการแมคโครพรูเด็นเชียลควบคู่กัน ซึ่งอาจจะเห็นมีแมคโครพรูเด็นเชียลเข้าไปดูแลเฉพาะจุดอีก ขณะที่การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์เริ่มเห็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำแล้ว อาทิ ธนาคารออมสิน ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกสิกรไทย ซึ่งถือว่าเป็นไปตามสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตระยะต่อไปคือการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ทั้ง เอ็มแอลอาร์ เอ็มอาร์อาร์ และเอ็มโออาร์ ส่วนเงินฝากออมทรัพย์จะขึ้นตามมาหลังสุด อย่างไรก็ตาม การขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ขึ้นกับหลายปัจจัย ทั้งทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบาย สภาพคล่องในระบบ การแข่งขันปล่อยสินเชื่อ

“แม้เศรษฐกิจขยายตัวชะลอตัวลง แต่จีดีพีที่ระดับปัจจุบัน ยังสนับสนุนการจ้างงาน อัตราว่างงานต่ำ และคาดว่าค่าจ้างแรงงานปีนี้จะเพิ่มขึ้นได้อย่างค่อยเป็นค่อยไปและภาคครัวเรือนน่าจะปรับลดหนี้ลงได้ ไม่น่าจะส่งผลให้เกิดหนี้เสียที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญคือปัญหาเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจ รายได้ยังกระจุกตัวบางกลุ่ม ซึ่งภาคแรงงานและธุรกิขขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี) ต้องเพิ่มทักษะเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและรายได้ใหม่ ทั้งหนี้หนีครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้นธนาคารแห่งประเทศไทยได้มีมาตรการแมคโครพรุเด็นเชียลออกมาดูและ และล่าสุดได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อป้องกันความเสี่ยงในระยะกลางและยาวแล้ว” นายยรรยง กล่า

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image