“สภาวิศวกร-วสท.”ลงพื้นที่ตรวจตึกถล่มหน้าม.รามฯ ประเมิน 3 เดือนได้ข้อสรุป (มีคลิป)

เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 8 มกราคม นายอมร พิมานมาศ เลขาธิการสภาวิศวกร ลงพื้นที่ตรวจสอบสาเหตุการทรุดตัวของอาคารที่อยู่ระหว่างการรื้อถอน บริเวณปากซอยรามคำแหง 51/2 ถนนรามคำแหง หรือบริเวณตรงข้ามมหาวิทยาลัยรามคำแหง เมื่อวันที่ 7 มกราคมที่ผ่านมา เป็นเหตุให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 2 ราย ทั้งนี้ในระหว่างที่สภาวิศกรลงพื้นที่ตรวจสอบสาเหตุ ทางวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) นำโดยนายเอนก ศิริพานิชกร ประธานสาขาวิศวกรรมโยธา วสท. นายสิริวัฒน์ ไชยชนะ ที่ปรึกษาวสท. และทีมวิศวกร ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบสาเหตุอาคารถล่มเช่นเดียวกัน

นายสิริวัฒน์กล่าวว่า อาคารดังกล่าวเป็นอาคาร 3 ชั้น จากการลงพื้นที่สันนิษฐานสาเหตุอาคารถล่มไว้ 2 ประการ คือ 1.ขั้นตอนการรื้อถอนไม่ถูกต้อง และ 2.ขั้นตอนถูกต้องตามหลักการ แต่เป็นเหตุสุดวิสัย ที่อาจจะเกิดจากจุดอ่อนในตัวโครงสร้างอาคารที่มองไม่เห็น อย่างไรก็ตามในด้านเทคนิค อาคารดังกล่าวเป็นอาคารเก่ามีอายุ 40-50 ปี ระบบการก่อสร้าง กำลังคอนกรีตและชนิดของคอนกรีตอาจจะไม่เหมือนกับสภาพในปัจจุบัน จึงทำให้มีปัญหาได้ ขณะเดียวกันอาจจะมีปัจจัยอื่นเกี่ยวข้อง เช่น คาร์บอนไดออกไซด์ เนื่องจากอาคารตั้งอยู่ริมถนน เพราะฉะนั้นอาคารที่เป็นอาคารเก่า จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการวิเคราะห์และวิจัยหาจุดบกพร่องให้ได้ และต้องมีค้ำยันหรือพยุจุดสำคัญ ก่อนที่จะรื้อถอนส่วนอื่นๆ ซึ่งจะต้องมีการค้ำยันไว้จนกว่าการรื้อถอนจะหมดสิ้น

“นอกจากนี้การรื้อถอนอาคารโดยเฉพาะอาคารเก่าๆ จะต้องมีมาตรการป้องกันไม่ให้มีผลกระทบกับผู้คน สาธารณูปโภค อาคารใกล้เคียงและสิ่งแวดล้อม ยิ่งเป็นอาคารริมถนน มีผู้คนเดินผ่านจำนวนมาก กำแพงกั้นการรื้อถอนอาคารต้องมิดชิดกว่าปกติ ไม่ละเลย เพราะฉะนั้นการรื้อถอนส่วนที่เหลือต้องเข้มงวด และต้องมีวิศวกรที่มีความเชี่ยวชาญมาควบคุมดูแลการรื้อถอน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบและดำเนินการ ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วิศวกร” นายสิริวัฒน์กล่าว

Advertisement

นายเอนกกล่าวว่า ขั้นตอนการรื้อถอนมีความสำคัญเช่นเดียวกับการก่อสร้าง จะต้องวางแผนการดำเนินการให้รอบคอบ ทั้งนี้ในพื้นที่การรื้อถอนเป็นพื้นที่ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ที่เวนคืนพื้นที่เมื่อปี 2560 เพื่อใช้ก่อสร้างสถานีรามคำแหง ในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม โดยว่าจ้างผู้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างตั้งแต่เดือนธันวาคม 2561 จนถึงวันเกิดเหตุ เพื่อส่งมอบพื้นที่ให้กับบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) และบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้รับเหมาก่อสร้าง

นายอมรกล่าวว่า สภาวิศวกรจะตรวจสอบขั้นตอนการรื้อถอนว่า ผู้รับเหมารื้อถอนส่วนไหนก่อน เพื่อตรวจสอบสาเหตุว่าเกิดจากจุดไหน ซึ่งหากรื้อถอนผิดจะทำให้เกิดอันตราย โดยขั้นตอนภายหลังการลงพื้นที่สำรวจในเบื้องต้นจะตรวจสอบการออกแบบว่าถูกต้องตามหลักเกณฑ์หรือไม่ ขณะเดียวกันจะตรวจสอบในส่วนควบคุมงานว่าวิศวกรผู้ดูแลได้รับใบอนุญาตถูกต้องหรือไม่ ทั้งนี้คาดว่าจะใช้เวลาตรวจสอบข้อเท็จจริงประมาณ 3 เดือน ซึ่งหากพบว่ามีความผิดจะมีโทษสูงสุดคือการเพิกถอนใบอนุญาต

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image