เปิดเคล็ดลับ กุญแจสู่ความสำเร็จ 7 ธุรกิจเอสเอ็มอี

เมื่อวันที่ 21-24 มกราคมที่ผ่านมา ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) จัดโครงการพัฒนาคุณภาพผู้ประกอบการเอสเอ็มอี “Change SMEs เปลี่ยนแล้วรวย” ระดมผู้เชี่ยวชาญชั้นนำ ผู้ประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจ มาเผยเคล็ดลับในการทำธุรกิจที่คาดไม่ถึง

 

เปลี่ยนบ้านเก่าเป็นบูติคโฮเทล

12646722_1020483001348951_2447577071619056824_o

วรพันธุ์ คล้ามไพบูลย์ เจ้าของบริษัท Supergreen Studio กูรูผู้เชี่ยวชาญด้านบูติคโฮเทลคนแรกของไทย และ โอภาส ลิมปิอังคนันท์ กรรมการตัดสิน โครงการ Thailand Boutique Awards Eeason 3 เผยกุญแจสู่ความสำเร็จของการทำธุรกิจโฮสต์เทล คือ 1.ความสร้างสรรค์ เพราะนักท่องเที่ยวไม่ได้ต้องการแค่ที่พัก ที่นอน แต่ต้องการประสบการณ์ที่แปลกใหม่ 2.ธุรกิจต้องสามารถทำกำไร ต้องดีไซด์จุดขายให้สามารถเลือกลูกค้าได้ 3.ต้องมีความยั่งยืน ไม่ประนีประนอมกับการใช้ทรัพยากรที่ไม่ถูกต้อง เช่น ทำลายป่าไม้

Advertisement

ธุรกิจโฮสต์เทลไม่เพียงแต่เป็นการสร้างรายได้ แต่เป็นการสร้างทางเลือก ให้คนกลับไปพัฒนาชุมชน เป็นทางเลือกให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยว แต่สิ่งที่ต้องระวังคือ อย่าทำตามๆ กัน และอย่าทำเพื่อเอาใจทุกคน แต่ต้องมั่นใจในจุดขายและออกแบบจุดขายให้สามารถเลือกลูกค้าได้

 

เปลี่ยนแฟรนไชส์ที่ถูกมองข้าม กลับมาเป็นตัวเลือกอันดับต้นๆ ของผู้บริโภค

12642553_1020483031348948_5067361087434686304_n

Advertisement

ชาตยา ชูพจน์เจริญ (เป้) ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท เดอะบาร์บีคิวพลาซ่า จำกัด เผยเคล็ดลับนำธุรกิจที่ตั้งมากว่า 29 ปี ฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจครั้งสำคัญมาได้ โดยการเปลี่ยนความคิดจากการเป็นธุรกิจขายอาหาร เป็นการดูแลความสุขของคน โดยมีมื้ออาหารเป็นสื่อกลาง

คุณเป้กล่าวถึงสิ่งที่เรียกว่า “วงจรความสุข” ซึ่งเริ่มจากการเอาใจใส่พนักงาน ดูแลพนักงานให้มีความสุข เมื่อพนักงานมีความสุข ก็จะส่งต่อความสุขให้กับลูกค้า ผ่านการบริการที่ดี ซึ่งผลที่ตามมาคือธุรกิจแข็งแรง มีเงินสำหรับกลับมาดูแลพนักงานให้มีความสุข เป็นวงจรต่อเนื่องไปเรื่อยๆ

สัญญาณที่บอกได้ว่าคุณดูแลพนักงานได้ดีหรือไม่ เช่น พนักงานจะพูดถึงบริษัทในแง่ดี มีอัตราการเทิร์นโอเวอร์น้อย ซึ่งมีผลต่อการเทรนนิ่ง และความเชี่ยวชาญในการทำงาน อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงจำเป็นต้องทำในครั้งเดียว หรือใช้เงินทุนมาก สามารถค่อยๆ เปลี่ยนทีละจุด แต่ให้ทำอย่างสม่ำเสมอ

 

เปลี่ยนวงการ Taxi ด้วยการแก้ปัญหา และการออกแบบบริการ

12594046_1020483191348932_4030165278226105557_o

วัลภา คมคาย (ฝน) ผู้บริหารฝ่ายส่งเสริมความสัมพันธ์องค์กร Grab Taxi ประเทศไทย กล่าวว่า Grab Taxi เกิดขึ้นมาด้วยแรงบันดาลใจที่จะช่วยเหลือสังคม เมื่อทำดีที่สุดแล้วเงินจะตามมา ด้วยกฎ 4 ข้อ สู่ความสำเร็จ คือ 1.หาให้ได้ว่าความต้องการของลูกค้าคืออะไร 2.การออกแบบผลิตภัณฑ์ ต้องสมดุลกับการใช้งาน 3.ยิ่งออกแบบ ยิ่งนำไปสู่การค้นพบ 4.ให้มองหาเรื่องราว (story) จากการออกแบบ ซึ่งจะทำให้ผลิตภัณฑ์มีความชัดเจนขึ้น

 

พัฒนาสินค้าด้วยงานออกแบบและวิจัย

12622127_1020483401348911_2477397280149590923_o

สุรนาม พาณิชการ เจ้าของธุรกิจน้ำเต้าหู้สำเร็จรูปโทฟุซัง (TOFUSAN) ที่มียอดขายหลัก 200 ล้านบาท ใน 5 ปี เผยเคล็ดลับความสำเร็จ มาจากการสร้างความแตกต่างจากนมถั่วเหลืองยูเอชทีในตลาด ซึ่งโทฟุซังเริ่มจากการวางเป้าหมายที่จะเป็นน้ำเต้าหู้ที่ดีที่สุด มีรสชาติเหมือนน้ำเต้าหู้จริงๆ แต่สามารถเก็บได้นาน 1 ปี โดยไม่ใช้สารเคมี จากนั้นจึงทำงานร่วมกับนักวิจัยในมหาวิทยาลัย จนออกมาเป็น TOFUSAN ในปัจจุบัน

สำหรับการใช้งานออกแบบ ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เริ่มตั้งแต่การออกแบบขวดบรรจุ ซึ่งนับจากครั้งแรกที่ออกผลิตภัณฑ์ มีการเปลี่ยนแปลงไปแล้ว 3 ครั้ง สามารถลดปริมาณพลาสติกที่ใช้ในการผลิตขวดลงได้ครั้งละ 13% ทำให้ราคาของโทฟุซังปรับขึ้นน้อยกว่าคู่แข่งรายอื่นๆ ในตลาด นอกจากนี้ยังใช้การออกแบบในการผลิตเครื่องโม่ที่ใช้ในกระบวนการผลิต ซึ่งมีความแตกต่างจากผู้ผลิตนมถั่วเหลืองปกติที่ใช้การปั่น ทำให้ได้รสชาติและสัมผัสที่แตกต่าง รวมถึงออกแบบกระบวนการต้มเฉพาะ ซึ่งเป็นความลับ
ทางการค้าด้วย

 

ออกแบบแบรนด์ให้คนจำได้

ชารีย์ บุญญวินิจ เจ้าของฟาร์มไส้เดือน Uncle Rea เผยเคล็ดลับในการสร้างแบรนด์ให้เป็นที่จดจำ ต้องสำรวจตัวเองว่ามีบุคลิกเป็นอย่างไร บอกความต้องการนักออกแบบให้ครบชัดเจน จากนั้นให้ไว้ใจนักออกแบบได้ทำงานของตัวเอง ซึ่งแบรนด์ที่ดีจะสร้างภาพจำต่อผู้บริโภคได้

ขณะที่การตั้งชื่อแบรนด์ ควรจะให้ชื่อแบบกลางๆ สามารถใช้ได้กับผลิตภัณฑ์ที่อาจจะมีการปรับเปลี่ยนในอนาคตได้

 

เปลี่ยนรูปแบบธุรกิจด้วยการบริการ เพิ่มยอดขายเป็น 300 ล้านบาท

12525662_1020483538015564_4380390111244357835_o

สุรีรัตน์ ศรีพรมคำ เจ้าของกิจการ JQ ปูม้านึ่ง ดิลิเวอรี่ บริการส่งปูม้าและอาหารทะเลถึงบ้านรายแรกของไทย เผยวิธีคิดของธุรกิจมาจากคำถามว่า “เราจะสามารถช่วยลูกค้าได้อย่างไร” และไม่ทำอะไรที่ซ้ำกับสิ่งที่มีอยู่เดิม ซึ่งการเก็บเงินปลายทาง และการพร้อมส่งสินค้าทันทีโดยไม่ต้องพรีออเดอร์ ถือเป็นปัจจัยที่แตกต่างจากร้านค้าออนไลน์ทั่วๆ ไปในขณะนั้น และมีการพัฒนาบริการให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น การเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์จากกล่องโฟม เป็นกล่องที่สามารถเข้าไมโครเวฟได้ การเปลี่ยนเบอร์โทรศัพท์ของร้านแต่ละสาขา เป็นระบบ Call Center อำนวยความสะดวก
ให้ลูกค้า

“ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ JQ ปูม้านึ่ง ประสบความสำเร็จ คือความซื่อสัตย์ที่มีให้กับลูกค้า ในการจำหน่ายสินค้าที่สดและมีคุณภาพ โดยขณะนี้ JQ ปูม้านึ่งมีการเปิดหน้าร้านถึง 19 สาขาใน กทม.และปริมณฑล และในปีนี้มีแผนขยายสาขาไปยังต่างจังหวัดอีก 45 สาขาด้วย”

 

เปลี่ยนวิถีพื้นบ้าน สู่กิจการเพื่อสังคมระดับโลก

12493783_1020483991348852_4471454169645735733_o

ลี อายุ จือปา ผู้ก่อตั้งธุรกิจกาแฟอาข่า อาม่า (Akha Ama) ธุรกิจกาแฟเพื่อสังคม ที่มีแรงบันดาลใจมาจากการเห็นพ่อค้าคนกลางกดราคารับซื้อเมล็ดกาแฟจากชาวบ้าน จากการไม่รู้ข้อมูล จนทำให้แทบไม่เหลือกำไร ไม่มีเงินที่จะส่งลูกหลานเรียน

ลีตั้งคำถามถึงคุณภาพของกาแฟไทย ว่าเพราะอะไรจึงถูกมองว่าไม่มีคุณภาพ จึงตัดสินใจนำกาแฟของหมู่บ้านส่งเข้าประกวดและได้รับคัดเลือกจากองค์กรกาแฟชนิดพิเศษแห่งยุโรป เพื่อใช้บนเวทีกาแฟโลก 3 ปีซ้อน ทำให้กาแฟจากหมู่บ้านได้รับการยอมรับ โดยปัจจุบัน กาแฟอาข่า อาม่า มีหน้าร้าน 2 สาขาใน จ.เชียงใหม่ และมีแผนเปิดสาขาในกรุงเทพฯ รวมถึงมีแผนเปิดโรงงานกาแฟใน อ.แม่ริม ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นการขยายธุรกิจ แต่ยังเป็นการขยายพื้นที่การเรียนรู้ด้วย

สำหรับการวัดผลสำเร็จของธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) ของกาแฟอาข่า อาม่า พบว่าชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้นชัดเจน ราคารับซื้อเมล็ดกาแฟจากพ่อค้าคนกลางสูงขึ้น เยาวชนในหมู่บ้านมีโอกาสเรียนต่อเพิ่มขึ้น มี Know How ที่จะต่อยอดธุรกิจ

สิ่งที่น่าสนใจของการบริหารธุรกิจของกาแฟอาข่า อาม่า คือการส่งเสริมให้แต่ละครอบครัวพัฒนาแบรนด์กาแฟเฉพาะของครอบครัว เกิดการแข่งขันกันเอง และเป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับลูกค้าด้วย โดย 35 ครอบครัวของหมู่บ้านสามารถผลิตกาแฟที่แตกต่างกันถึง 5 แบรนด์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image