ศุภชัย เจียรวนนท์ “ปลื้ม” กฎเหล็ก “ซีพี” ส่งลูกขึ้น “สตาร์ตอัพ” ระดับโลก

กรวัฒน์ เจียรวนนท์ (กลาง)

ศุภชัย เจียรวนนท์ “ปลื้ม” กฎเหล็ก “ซีพี” ส่งลูกขึ้น “สตาร์ตอัพ” ระดับโลก

“คุณธนินท์บอกลูกๆ ว่าอย่าหวังจะเข้ามาทำธุรกิจของเครือเจริญโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะทางด้านการเกษตร ซึ่งถือว่าดำเนินกิจการได้ดีอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น ถ้าเกิดลูกหลานอยากจะทำธุรกิจก็ต้องทำในสิ่งที่เริ่มต้นใหม่เท่านั้น อันนั้นเป็นที่มาที่ผมได้เริ่มต้นการทำงานของผมในหมวดเทเลคอม เมื่อปี 2536”

ศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บอกเล่าให้ฟังในงานแถลงข่าว “Startup Thailand 2016” เมื่อไม่นานมานี้ โดยมีกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นเจ้าภาพหลักร่วมกับ 11 หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน

ถ้าจะว่ากันไปแล้วทายาทเจ้าสัวซีพีรายนี้ก็เกี่ยวข้องกับเรื่องสตาร์ตอัพโดยตรงจริงๆ เพราะด้วยกฎเหล็กที่คุณพ่อยื่นคำขาดไว้แบบนี้ เขาจึงส่งต่อไปยังลูกๆ 3 คนของเขา และเห็นผลชัดเจน กรณีลูกชายคนโต กรวัฒน์ เจียรวนนท์ อายุ 21 ปี

“ผมก็ถ่ายทอดลักษณะเดียวกันให้กับลูกชาย โดยบอกเขาตั้งแต่เด็กแล้ว โตขึ้นอย่าหวังว่าจะมาทำงานในเครือ หรือในทรู คอร์ปอเรชั่น เธอต้องสร้างธุรกิจของตัวเอง เพื่ออะไรครับ เพื่อถ่ายทอด Entrepreneural Spirit ให้กับเขา เพราะฉะนั้น ตั้งแต่เด็กเขาคิดอยู่แล้วว่าต้องเลือกธุรกิจด้วยตัวเอง อย่างมากพ่อให้ได้ ก็คือ คำแนะนำ”

Advertisement

“สิ่งที่ผมถ่ายทอดให้เขา มี 4 ข้อเท่านั้นเอง เหมือนกับที่ผมถ่ายทอดให้กับพนักงานในทรูฯ ทุกคน คือ caring, credible, creative และ courage”

ศุภชัยมีบุตรชายหญิง 3 คน คือ นายกรวัฒน์ นางสาวกมลนันท์ อายุ 19 ปี และ ด.ช.แซนเดอร์ อายุ 12 ปี

“ตอนนี้คนโตไปทำสตาร์ตอัพเกี่ยวกับเรื่องเอ็นเตอร์ไพรส์ โมบายแอพพลิเคชั่น คือเขาทำของเขาเอง เราก็ให้คำแนะนำ เขาหาทุนเอง ไปหากองทุนอะไรอย่างนี้ ไปขายไอเดีย ไปขายทีมงาน แล้วไปหาทุน ลูกชายทำมา 3 ปีแล้ว ประสบความสำเร็จระดับหนึ่ง แต่ยังต้องทำอีกเยอะ อุปสรรคเจอตลอดเวลา แต่อายุยังน้อย เจออุปสรรคยังไงก็ต้องให้เขาสู้ เราแนะนำเท่าที่เราให้ได้ ประมาณนั้น”

Advertisement

ส่วนที่ว่าหลังจากธุรกิจที่ริเริ่มเองไปได้ดีแล้ว สามารถกลับเข้ามาทำงานในเครือเจริญโภคภัณฑ์ได้หรือไม่นั้น ศุภชัยบอกว่า

“ถ้าอันนั้นเขาทำประสบความสำเร็จแล้ว ถ้าเครืออยากให้เขาทำงาน เครือก็คงไปเชิญเขามาช่วย แต่ถ้าเครือทำได้ดีอยู่แล้วก็ไม่จำเป็น ถ้าบริษัททำได้ดีอยู่แล้ว ทำไมต้องเอาลูกหลานเข้าไป มืออาชีพเขาก็หมดกำลังใจ การให้ริเริ่มธุรกิจเพื่อเป็นประสบการณ์ของตัวเขาเอง ให้เขามีอองเทรอปรองเนอรอลชิฟ คือ การริเริ่มอะไรใหม่ อาจจะเป็นการริเริ่มในเครือก็ได้”

“แต่ต้องเป็นเรื่องใหม่ ไม่ใช่ว่าไปทำเรื่องที่สำเร็จอยู่แล้ว แต่ถ้าบางเรื่องที่เครือทำ มันไม่สำเร็จ มันมีปัญหามาก อันนี้ลูกหลานเข้าไปได้”

ปัจจุบัน “เอโค่ คอมมิวนิเคชั่น” บริษัทพัฒนาแอพพลิเคชั่น “แชต” ผ่านโทรศัพท์มือถือที่เน้นการสื่อสารในองค์กร (www.ekoapp.com) อันเป็นบริษัทของกรวัฒน์ลูกชายคนโตของ “ศุภชัย” ไปได้ดีทีเดียว ถือเป็นสตาร์ตอัพที่เติบโตอย่างก้าวกระโดดในระดับโลก โดยมีจุดกำเนิดในซิลิคอน วัลเล่ย์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ด้วยเงินทุนจาก Incubator จำนวนเงิน 20,000 เหรียญ

นอกจากนี้ ยังมีนักลงทุนหนุนต่อเนื่อง อาทิ “ไทเกอร์แล็บ เวนเจอร์” ตามด้วย 500 สตาร์ตอัพ และซีเมอร์ เวนเจอร์ มูลค่า 35 ล้านบาท เมื่อปีก่อน ล่าสุดได้ทุนเพิ่มอีก 200 ล้านบาท จาก “โกบี พาร์ตเนอร์” กองทุนที่ลงทุนในสตาร์ตอัพเกิดใหม่ที่ประสบความสำเร็จกว่า 100 บริษัทในอาเซียน

ทั้งนี้ “เอโค่ คอมมิวนิเคชั่น” ตั้งขึ้นเมื่อปี 2555 เน้นพัฒนาเครื่องมือสื่อสารในองค์กรที่ปลอดภัย เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ผ่านแพลตฟอร์มบนมือถือรวมฟังก์ชั่นอีเมลและแชต จัดการกับการสนทนา แยกตามหัวข้อหรือกลุ่ม ค้นหาและแก้ไขข้อความ โดยใช้งานได้หลายอุปกรณ์พร้อมกัน โดยในปี 2558 เอโค่มีรายได้อยู่ที่ 1.2 ล้านเหรียญ แยกเป็นรายได้ที่มาจากจีน 70% และไทย มาเลเซีย ฮ่องกง ฯลฯ 30% ในปีนี้เขาคาดการณ์รายได้ไว้ที่ 7 ล้านเหรียญ หรือมากกว่านั้น

ฉะนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่ชื่อของ “กรวัฒน์” อยู่ใน 30 Under 30 ของนิตยสาร Forbes Asia อันเป็นการจัดอันดับหนุ่มสาวรุ่นใหม่ที่อายุไม่เกิน 30 ปี ที่สามารถสร้างธุรกิจจนประสบความสำเร็จในระยะเวลาไม่กี่ปี

วกกลับมาในส่วนของ “ศุภชัย” กันบ้าง ซึ่งตอนนี้นอกจากจะทำงานในเครือเจริญโภคภัณฑ์แล้ว ยังรับตำแหน่งเป็นประธานคณะทำงานด้านการศึกษาพื้นฐานและการพัฒนาผู้นำ ตามนโยบายประชารัฐของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อีกด้วย โดยเขาระบุว่าเวลานี้เป็นโอกาสทองของสตาร์ตอัพไทยอย่างแท้จริง

“รัฐบาลให้ความสำคัญและให้งบประมาณจัดตั้งกองทุน 300 ล้านเหรียญ เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญมาก สามารถดึงความสนใจจากทุกภูมิภาคเลย ทุกท่านที่เป็นสตาร์ตอัพ และอองเทรอปรองเนอรอล สปิริต อาจไม่ได้แข่งขันเฉพาะผู้ประกอบการในประเทศ แต่จะต้องแข่งขันกับผู้ประกอบการระดับภูมิภาค ท่านอาจจะไม่ใช่มีทีมงานที่มีเฉพาะพนักงานไทย แต่ต้องมีทีมงานในระดับภูมิภาค มาจากรัสเซีย มาจากเวียดนาม มาจากพม่า มาจากมาเลเซีย หรือแม้กระทั่งมาจากสิงคโปร์ สิ่งที่ท่านทำ และโอกาสที่ท่านมีอยู่ในขณะนี้ เป็นจั๊มพ์ สตาร์ต เมื่อมีการเชื่อมโยงที่ทั่วถึง และมีการเชื่อมโยงที่สมบูรณ์แบบ”

“ศุภชัย” ยังชี้ให้เห็นด้วยว่าสตาร์ตอัพยุคนี้ มีโอกาส มีช่องทางและสามารถสร้างฐานะร่ำรวยได้โดยไม่ต้องใช้เวลาหลายสิบปี โดยเจ้าตัวเปรียบเทียบกับธุรกิจในเครือซีพีที่ใช้เวลาเติบโตมาอย่างยาวนาน

“สิ่งที่ท่านจะขาย คือ ขายมันสมอง ขายสติปัญญา และขายความมุมานะ คือสิ่งที่สตาร์ตอัพสามารถเข้าถึงโอกาสได้ โดยไม่ต้องผ่านขั้นตอนอะไรมากมายเลย และถ้ากองทุนทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งผ่านภาครัฐและเอกชน อันนี้คือจุดเริ่มต้นที่ผมเชื่อว่ายิ่งใหญ่”

“คนรุ่นใหม่สามารถเติบโตอย่างก้าวกระโดด และสร้างนวัตกรรมอย่างที่ไม่มีวันสิ้นสุด เพราะเราใช้พลังสมอง ไม่ใช่ธุรกิจของเครือเจริญโภคภัณฑ์ ที่ทำฟาร์มเลี้ยงไก่ บุกเบิก ทำค้าปลีก ธุรกิจทรู คอร์ปอเรชั่น ที่ลงทุนตั้งแต่เน็ตเวิร์กหลายๆ หมื่นล้าน กว่าจะก่อร่างสร้างตัว ใช้เวลากว่า 20 ปี ในแต่ละธุรกิจ”

ในฐานะนักธุรกิจที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาหลายสิบปี เขาฝากถึงบรรดาสตาร์ตอัพว่า

“ในหลักยึดของชีวิตคนทั่วไป มี 3 ข้อ อันหนึ่งคือซีเคียวริตี้ (security) ทุกคนต้องการซีเคียวริตี้ อันที่สอง คือความฝัน ทุกคนมีความฝัน และความฝันของท่านยิ่งใหญ่ แต่กรุณาอย่าฝันเฉพาะประเทศไทย เมื่อทำแล้วฝันให้เป็นระดับโลกไปเลย และอันที่สาม ทุกคนมีความรัก ทั้ง 3 หลักนี้ สิ่งที่สำคัญที่สุด คือความรักต่อบริษัทท่าน ต่อตัวท่าน ต่อส่วนรวม ต่อลูกค้าของท่าน เมื่อความเป็นจริงในชีวิตมาเจอกับความฝัน บนพื้นฐานของความเผื่อแผ่และความรัก สิ่งที่ยิ่งใหญ่เกิดขึ้นเสมอ”

กับคำถามที่ว่า เวลาเจอปัญหาอุปสรรค ใช้วิธีบริหารจัดการอย่างไร กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรูฯ ให้คำตอบว่า ใช้ 4C คือ caring, credible, creative และ courage อะไรก็ตามที่ถึงจุดวิกฤต ให้พิจารณาถึงส่วนรวมเป็นหลัก แล้วตัดสินใจถ้าดีต่อส่วนรวมก็ทำไป ถ้าไม่ดีต่อส่วนรวมอย่าไปทำ

และการทำให้องค์กรมีความยั่งยืนประกอบด้วย 3 ข้อ

1. คือ คอร์ แวลู (core value) วัฒนธรรมขององค์กร คุณค่าหลักขององค์กรเป็นอย่างไร นี่คือความยั่งยืน และอย่างที่บอก แคริ่ง, ครีเอเบิล, ครีเอทีฟ และก็คอเรจ เป็นสิ่งสำคัญอันดับที่ 1

2. อินโนเวชั่น องค์กรเปิดกว้างและมีโปรเซส (process) ในการที่จะให้คนนำเสนอความคิดเห็นใหม่ๆ นวัตกรรมใหม่ๆ ไหม

3. เรื่องของผู้นำ และการบริหารคนที่มีพรสวรรค์ การสร้างคน และการพัฒนาผู้นำ

3 เรื่องนี้สำคัญมากๆ เป็นหลักที่ทำให้ธุรกิจยั่งยืน แต่ถ้าพูดคำว่า บิสซิเนส โปรเซส (Business process) พูดถึงกระบวนการ การทำธุรกิจ แน่นอนทุกอย่างต้องมองก่อนว่าลูกค้าต้องการอะไร ตลาดต้องการอะไร หรือมีปัญหาอะไร ต้องมองให้เห็นตรงนี้ และใช้ข้อมูลมาช่วย เดี๋ยวนี้ข้อมูลเยอะขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะจากอินเตอร์เน็ต ต่อไปต้องวิเคราะห์ข้อมูล ถึงจะตอบสนองได้ อันนี้เป็นเป้าใหญ่ และที่เหลือเป็นกระบวนการที่จะทำอย่างไรให้เกิดประสิทธิภาพ และคุณภาพอย่างต่อเนื่อง

เพราะธุรกิจต้องยืนอยู่บนคุณภาพกับนวัตกรรม

ทั้งหมดนี้คงทำให้เราๆ ท่านๆ ได้เห็นได้เข้าใจกฎเหล็กของตระกูล “เจียรวนนท์” เป็นอย่างดี ว่ากำหนดขึ้นเพื่อให้ลูกหลานสืบทอดเจตนารมณ์ของการเป็นผู้ประกอบการที่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และเห็นช่องทางทำมาหากินในโลกทุนนิยมที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน

ฉะนั้น ใครก็ตามที่เคยตั้งคำถามและวิพากษ์วิจารณ์ในทางลบ ว่า “เครือซีพี” จะผลิตสินค้าทุกอย่างในประเทศไทย โดยไม่เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายเล็กรายน้อยได้เกิดเลยนั้น คงจะมองเห็นอะไรๆ ชัดเจนขึ้น

และหลังจากนี้น่าจะได้เห็นบรรดาหลาน-เหลน ของ “เจียรวนนท์” ทำธุรกิจอีกสารพัด อันสืบเนื่องมาจากกฎเหล็กของ “ท่านประธานธนินท์ เจียรวนนท์” นั่นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image