ฐาปน สิริวัฒนภักดี เมื่อยามสวมบท “นักช็อป-ตากล้อง”

ฐาปน สิริวัฒนภักดี เมื่อยามสวมบท "นักช็อป-ตากล้อง"

ฐาปน สิริวัฒนภักดี เมื่อยามสวมบท “นักช็อป-ตากล้อง”

ใครที่ได้เคยรู้จัก ได้พูดคุยสนทนา ได้ร่วมงาน หรือแม้กระทั่งเป็นลูกน้อง ต่างรับรู้ตรงกันว่า คุณหนุ่ม “ฐาปน สิริวัฒนภักดี” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ลูกชายคนโปรดของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี เป็นคนมีอัธยาศัยไมตรี อ่อนน้อมถ่อมตน ให้เกียรติคนอื่นเสมอ พูดจาไพเราะ ชอบยกมือไหว้ผู้คนตลอด แม้จะเป็นพนักงานในบริษัทก็ตาม

จนทำให้ผู้คนชื่นชมบุพการีที่อบรมเลี้ยงดูลูกชายเป็นอย่างดี เป็นที่รักใคร่ของใครต่อใคร แม้ส่วนหนึ่งจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าทำธุรกิจน้ำเมาก็ตาม

ฉะนั้น การได้รับแต่งตั้งเป็นประธานคณะทำงานการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ ตามนโยบายการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานรากของรัฐบาลชุดนี้ จึงถือว่าเหมาะสมยิ่งนัก

เพราะไม่ว่าจะลงไปในพื้นที่ไหนๆ ทายาทมหาเศรษฐีติดอันดับโลกคนนี้ก็ยกมือไหว้ชาวบ้านชาวช่องโดยไม่ถือตัวใดๆ

แถมยังให้ความสนใจสอบถามเรื่องราวต่างๆ มากมาย เรียกว่าได้คะแนนนิยมเพียบ

ADVERTISMENT

หลายคนไม่นึกว่าทายาทมหาเศรษฐีจะติดดินขนาดนี้

ที่สำคัญ ทำงานรวดเร็ว กระทั่งวันหยุดก็ยังไปลงพื้นที่ไม่ว่าจะเป็นภูเก็ต อุดรธานี เพชรบุรี เชียงใหม่ และบุรีรัมย์ อันเป็นจังหวัดนำร่องในเฟสแรก กระทั่งเห็นผลเป็นรูปธรรม

โดยที่ภูเก็ต มีการจัดตั้ง บริษัท ประชารัฐรักสามัคคีภูเก็ต จำกัด เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ใช่แต่เท่านั้น คุณหนุ่มยังควักเงินซื้อสินค้าของชาวบ้านแบบไม่กลัวเงินหมดกระเป๋า อย่างกรณีไปศึกษาดูงานในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี ดูการทำน้ำตาลโตนด เขาก็ควักเงินให้ 1,000 บาท ทั้งที่ราคาน้ำตาลโตนดที่ซื้อแค่ 500 กว่าบาทเท่านั้น

และเมื่อไปเยี่ยมชมสินค้าเกษตรปลอดสารพิษ เขาก็ซื้อผักผลไม้อีกเยอะแยะ โดยให้เงินมากกว่าราคาขายทุกครั้งไป

เรียกว่าเป็นมหาเศรษฐีที่มีน้ำใจจริงๆ ขณะที่บางอย่างเจ้าตัวซื้อไปเพื่อไปเป็นตัวอย่างในการส่งเสริมการผลิตสินค้านั้นๆ ให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น

นอกจากจะสนใจสอบถามความเป็นมาเกี่ยวกับการทำมาหากินแล้ว เจ้าตัวยังพกกล้องถ่ายรูป กดชัตเตอร์ตลอดในช่วงลงพื้นที่ และแม้อากาศจะร้อนจนเหงื่อตก แต่ทายาทเจ้าของเบียร์ช้างยังยิ้มแย้มแจ่มใส ทำเอาผู้พบเห็นกล่าวชื่นชมบุรุษผู้นี้

ประธานกลุ่มการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ บอกว่า เป้าหมายสำคัญของคณะทำงานชุดนี้อยู่ที่การสร้างชุมชนให้เข้มแข็ง และมีความสุขอย่างยั่งยืน โดยเน้นส่งเสริมใน 3 ในเรื่องด้วยกัน คือ การเกษตร การแปรรูปผลิตภัณฑ์ชุมชน และการท่องเที่ยวชุมชน แนวทางการดำเนินงานเป็นการช่วยให้ชุมชนเข้าถึงปัจจัยการผลิต ไม่ว่าจะเป็นเงินทุน เมล็ดพันธุ์ พัฒนาการบริหารจัดการ ส่งเสริมการสร้างมูลค่าจากองค์ความรู้ในชุมชน พร้อมทั้งช่วยหาช่องทางการตลาด

ทั้งนี้ ในการดำเนินการระยะที่ 1 เริ่มจาก 5 จังหวัดใน 4 ภาค ที่มีศักยภาพ คือ ภูเก็ต อุดรธานี เพชรบุรี เชียงใหม่ และบุรีรัมย์

ส่วนระยะที่ 2 มีอีก 13 จังหวัด ได้แก่ น่าน อุบลราชธานี ชุมพร พิษณุโลก ร้อยเอ็ด สระแก้ว สงขลา สกลนคร กาญจนบุรี ตราด อุทัยธานี สระบุรี และชัยนาท

โดยโครงการระยะที่ 2 นี้เป็นพื้นที่กลุ่มจังหวัดที่ต้องใช้ระยะเวลาการดำเนินการ 12-18 เดือน ขณะที่การพัฒนาชุมชนกลุ่มจังหวัดดังกล่าว ส่วนใหญ่เป็นเรื่องเกษตรอินทรีย์ กาแฟ ผักออแกนิก และท่องเที่ยวชุมชน

“ทุกจังหวัดจะมีการจัดตั้ง Area Based Social Enterprise (SE) หรือวิสาหกิจชุมชนพื้นที่ ซึ่งยึดแนวทางบริหารจัดการด้วยความโปร่งใสมีธรรมาภิบาล สร้างประโยชน์กลับสู่ชุมชนใน 76 จังหวัด และ 18 กลุ่มจังหวัด โดยมีบริษัท Holding เป็นตัวกลาง มีเป้าหมายเพื่อสังคมไม่ใช่เพื่อกำไรสูงสุด เป็นรูปแบบธุรกิจที่รับรายได้หลักมาจากการขายสินค้าและบริการ และกำไรต้องนำไปขยายผลไม่ใช่เพื่อปันผลเพื่อประโยชน์คนใดคนหนึ่ง และการจดทะเบียนรูปแบบบริษัทให้ถูกต้อง”

คุณหนุ่มพูดถึงการลงพื้นที่ในหลายจังหวัด ว่า การพัฒนาและด้านชุมชนเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา และจากจุดประสงค์และความคาดหวังที่อยากจะเห็นด้านชุมชนมีรายได้ที่มากขึ้น ฉะนั้น ทุกๆ รอบเดือน ทุกๆ ไตรมาส ทุกๆ รอบปี ทางคณะทำงานหวังว่าจะสามารถหยิบยื่นรูปแบบองค์ความรู้ การบริหารจัดการให้ชาวบ้านมีรายได้เป็นลำดับ จากเดิมที่ทำกันเอง หันซ้ายหันขวาแล้วไม่มีใครก็จะเริ่มมาเป็นการก่อร่างสร้างตัว รวมตัวกันมามากขึ้น ทำให้เกิดความแข็งแรงในชุมชน ซึ่งมองว่าจะทำให้เกิดโอกาสในการพัฒนา

แต่ไม่สามารถกำหนดได้ว่าเป็นระยะเวลาไหน แล้วจะสำเร็จมากน้อยแค่ไหน เป็นตัวเงิน หรือผลกำไรอย่างไร

ถือเป็นการริเริ่มจากความตั้งใจที่ดีของทุกภาคส่วน ได้มีโอกาสมาทำงานที่สร้างสรรค์และได้สร้างประโยชน์ร่วมกัน

ยามนี้ผู้คนคาดหวังว่าบริษัทไทยเบฟฯ จะเข้ามาช่วยได้เยอะ เพราะมีห้างใหญ่อย่างบิ๊กซีอยู่ด้วย ประเด็นนี้คุณหนุ่มตอบว่า ประการแรก ไม่ได้หยิบยกว่าเป็นเรื่องของไทยเบฟฯ หรือจะเป็นซีพีของ คุณศุภชัย เจียรวนนท์ ไม่ว่าจะเป็นบิ๊กซีหรือว่าเทสโก้ ท็อปซุปเปอร์มาร์เก็ต

“ผมว่าพวกเราทางภาคเอกชนในตอนนี้ลงมาร่วมด้วยช่วยกันที่จะทำให้เห็นว่าชุมชนมีความเข้มแข็งขึ้น โดยการนำเอาความรู้และการบริหารจัดการนำมาเชื่อมต่อกันให้เกิดประโยชน์ คงต้องรอดูผลงานกันต่อไป คงจะต้องทำแล้วเรียนรู้แล้วก็ปรับตัวไป ยังไม่สามารถบอกได้ว่าวันนี้เราเป็นสุดยอดในสิ่งที่เราทำอยู่ เพราะกำลังลงมาศึกษา เพื่อให้เห็นและได้ตามดู ภาคเอกชนอาจเห็นโอกาสอยู่บ้าง ภาคชุมชนเองจริงๆ แล้วก็ขอความร่วมมือ ซึ่งอยู่ในสถานะที่แตกต่างกัน”

ส่วนคำถามที่ว่า งานนี้เป็นการปูทางเข้าสู่การเมืองหรือไม่ คุณหนุ่มตอบทันทีว่า “คงไม่หรอกครับ เพราะว่าจริงๆ แล้วไม่มีความสนใจทางด้านการเมือง สิ่งสำคัญคือ ณ วันนี้ไม่ใช่ผมทำอยู่คนเดียว ภาคเอกชนรายใหญ่ทุกราย ผมว่าเป็นการขับเคลื่อนของทางรัฐบาล ภายใต้วิสัยทัศน์ของท่านนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และท่านรองนายกรัฐมนตรี ท่านสมคิด จาตุศรีพิทักษ์”

“การที่เราคิดและสร้างรูปแบบในการทำงานร่วมกันอย่างที่ใช้คำว่าประชารัฐ เป็นเรื่องของทุกภาคส่วนจริงๆ ทั้งทางด้านรัฐบาล ด้านเอกชน ภาคประชาสังคม ด้านสถาบันความรู้ มหาวิทยาลัยในท้องถิ่นต่างๆ ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้ถือว่าเป็นการบูรณาการอย่างสมบูรณ์แบบ”

เรื่องความยากง่ายการทำงานตำแหน่งนี้กับการบริหารงานในไทยเบฟฯ นั้น ประธานคณะทำงานการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากฯ ชี้แจงว่าไม่ได้ต่างกัน เพราะว่าได้เห็นข้อเท็จจริงเสร็จแล้วนำเอาองค์ความรู้ และมุมมองทางด้านธุรกิจมาประกอบการพิจารณาและตัดสินใจ

“ผมว่าพวกเราแต่ละคนมีความถนัดไม่เหมือนกัน วันก่อนได้ไปเพชรบุรี ฟังคุณลุงถนอม ซึ่งท่านมีความรู้เกี่ยวกับทางด้านตาลโตนดเป็นอย่างดี ไม่มีใครทางภาคเอกชนหรือภาครัฐที่มีความเข้าใจเท่ากับทางคุณลุงถนอม นี่เป็นอีกหนึ่งตัวอย่าง เราเป็นส่วนหนึ่งในสังคม ฉะนั้นทุกฝ่ายต่างแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน และตราบใดที่ประโยชน์นำมาซึ่งความสุข โดยประโยชน์เป็นของส่วนรวม ผมว่าทุกคนก็ได้ใจ”

ในการทำงานตำแหน่งนี้ คุณพ่อได้แนะนำอะไรบ้างไหม

คุณหนุ่มบอกว่า “ท่านให้การสนับสนุนและเป็นกำลังใจให้โดยตลอด มีหลายสิ่งหลายอย่างผมอาจเรียนถามท่านบ้าง ท่านก็ได้ให้ข้อชี้แนะ เช่นเรื่องรูปแบบการค้า ถ้าอยากจะเห็นว่าชาวบ้านได้มีโอกาส หรือสนใจทางด้านซื้อมาขายไป การค่อยๆ เรียนรู้ จริงๆ การจะทำผลกำไรอย่างไร ต้องค่อยๆ เติบโตจากเล็กไปใหญ่”

อย่างที่เกริ่นไปแต่แรก การลงพื้นที่แต่ละครั้งทายาทเจ้าสัวเจริญสะพายกล้องถ่ายรูปอย่างสนใจ เจ้าตัวพูดถึงเรื่องนี้ว่า “ผมชอบถ่ายรูป ผมเคยทำงานให้สมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ จริงๆ แล้ว การได้มาลงพื้นที่ จะได้นำเอาเรื่องราวไปนำเสนอ รูปภาพเป็นการเก็บข้อมูลที่ดี เพราะว่าได้เห็นบรรยากาศ และได้เห็นสภาพความเป็นจริง ทำให้สามารถไปถ่ายทอดเรื่องราวได้”

แม้จะมีโอกาสได้สนทนากันในช่วงสั้นๆ แต่ก็ทำให้ได้รับรู้ว่าคุณฐาปนทุ่มเทและตั้งใจกับการทำงานในตำแหน่งนี้จริงๆ ต่อไปคงต้องติดตามกันว่าฝีไม้ลายมือ คอนเน็กชั่น และศักยภาพทางธุรกิจของทายาทเจ้าสัวเจริญ จะนำพาหรือส่งผลให้ชุมชนฐานรากของบ้านเราได้ประโยชน์มากน้อยแค่ไหน เพราะผู้คนต่างคาดหวังว่าเมื่อยักษ์ใหญ่ทางเศรษฐกิจระดับโลกเข้ามาสวมบทบาทในการขับเคลื่อนเช่นนี้ น่าจะมีอะไรดีๆ เกิดขึ้นกับสังคมไทยบ้าง

อย่างน้อยบรรดาผู้ผลิตสินค้าโอท็อปทั้งหลายต่างแอบคิดในใจไว้แล้วว่า ในอนาคตอันใกล้นี้คงทำให้ชุมชนระดับรากหญ้าหรือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั้งหลายสามารถส่งสินค้าไปขายในบิ๊กซีได้ง่ายและสะดวกขึ้น…