มันนี่ทิป : ใช้เช็ค

ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2562 เป็นต้นไป ธนาคารมีสิทธิที่จะปฏิเสธไม่รับขึ้นเงินเช็คที่มีการแก้ไขได้ หากเช็คนั้นไม่ได้ออกจากธนาคารของตนเอง เพื่อป้องกันกรณีการปลอมแปลงหรือทุจริต มันนี่ทิปมีข้อมูลจากศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย มาฝากกันค่ะ

สำหรับ เช็ค คือ เอกสารในรูปแบบของตราสารที่ผู้สั่งจ่าย เป็นนิติบุคคลหรือบุคคลธรรมดาที่เปิดบัญชีกระแสรายวันกับธนาคาร และเซ็นสั่งจ่ายเช็คเพื่อชำระเงินแก่ผู้รับเงิน สั่ง ธนาคาร ซึ่งเป็นธนาคารที่ผู้สั่งจ่ายเช็คได้เปิดบัญชีไว้ ตรวจสอบลายเซ็น เงื่อนไขการสั่งจ่ายตามที่ผู้สั่งจ่ายได้ทำข้อตกลงไว้ และหักเงินจากบัญชีของผู้สั่งจ่ายเพื่อจ่ายเงินให้แก่ธนาคารของผู้รับเงิน ที่นำเช็คที่ได้ไปฝากเรียกเก็บเงินที่ธนาคาร เพื่อเบิกเป็นเงินสด หรือนำเข้าบัญชีธนาคารตนเอง

ข้อควรระวังในการใช้เช็ค คือ เช็คมีอายุไม่เกิน 6 เดือน นับแต่วันที่สั่งจ่ายบนหน้าเช็ค ต้องมีลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายบนหน้าเช็ค จำนวนเงินตัวหนังสือและตัวเลขถูกต้องตรงกัน ทั้งนี้ แม้ธนาคารมีสิทธิที่จะปฏิเสธไม่รับขึ้นเงินเช็คที่มีการแก้ไขได้ ผู้รับเงินสามารถขอให้ผู้สั่งจ่ายเงินออกเช็คใหม่ที่ไม่มีการแก้ไขเพื่อนำมาขึ้นเงิน หรือหากไม่ได้ออกใหม่สามารถนำไปขึ้นเงินที่ธนาคารที่ผู้ออกเช็ค เช่น เช็คธนาคาร A ไปขึ้นเงินที่ธนาคาร A เท่านั้น

ข้อแนะนำในการใช้เช็ค สำหรับผู้สั่งจ่ายเช็ค ให้ระมัดระวังในการเขียนเช็ค โดยไม่แก้ไขข้อความ และตัวเลขบนหน้าเช็ค เพื่อป้องกันการทุจริตจากการปลอมแปลงข้อมูล และเก็บรักษาเช็คให้อยู่ในที่ปลอดภัยและต้องแจ้งธนาคารทันทีเมื่อทราบว่าเช็คหาย ด้านผู้รับเงินจากเช็ค ควรตรวจสอบทุกครั้งที่มีการรับเช็ค โดยไม่รับเช็คที่มีการแก้ไขข้อความและตัวเลข หากได้รับเช็คที่มีการแก้ไขข้อความและตัวเลข ให้นำไปให้ผู้สั่งจ่ายเปลี่ยนเช็คใหม่ หรือให้นำไปขึ้นเงินที่ธนาคารเจ้าของเช็คเท่านั้น ไม่ควรพับเช็คหรือทำให้เช็คชำรุด เพราะอาจจะทำให้เช็คไม่สามารถเข้าสู่กระบวนการเรียกเก็บได้

Advertisement

นอกจากนี้ หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับเช็ค ควรติดต่อสาขาของธนาคารเจ้าของเช็ค ทั้งหมดนี้เพื่อความสะดวก รวดเร็วและปลอดภัยในการใช้เช็คค่ะ

กระปุกหมู

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image