พบปลูกข้าวนาปรังเกินกว่าแผน ชป.วอนเกษตรกรไม่ต่อหลังเก็บเกี่ยว สำรองน้ำไว้ใช้

กรมชลประทาน ขอความร่วมมือชาวเกษตรกรลุ่มน้ำเจ้าพระยา ไม่เพาะปลูกข้าวต่อเนื่องหลังการเก็บเกี่ยว พร้อมจัดรอบเวรสูบน้ำด้วยไฟฟ้า เพื่อช่วยให้การบริหารจัดการน้ำดำเนินไปตามแผนที่ได้วางไว้ และสำรองน้ำไว้ใช้ในอนาคตได้อย่างยั่งยืน

เมื่อวันที่ 24 มกราคม ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำใน 4 เขื่อนหลัก ลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) ปัจจุบันมีปริมาณน้ำรวมกัน 16,496 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 66 ของความจุอ่างฯรวมกัน มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน 9,800 ล้าน ลบ.ม.

สำหรับแผนการบริหารจัดการน้ำและการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งในเขตชลประทานปี 2561/62 กรมชลประทานได้ทำการผันน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลอง ในช่วงวันที่ 1 พ.ย. 61 – 30 เม.ย. 62 จัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ การเกษตรและอื่นๆรวม 8,000 ล้าน ลบ.ม. ส่วนภาคการเกษตร ได้ทำการส่งน้ำเพื่อการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง 6.91 ล้านไร่ ประกอบด้วย ข้าวนาปรัง 5.30 ล้านไร่ ข้าวโพด 0.70 ล้านไร่ พืชไร่พืชผัก 0.07 ล้านไร่ และพืชอื่นๆ 0.83 ล้านไร่

ในส่วนของผลการจัดสรรน้ำ ล่าสุดมีการใช้น้ำไปแล้ว(ตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน 2561 ถึงวันที่ 22 มกราคม 2562)ประมาณ 3,852 ล้านลูกบาศก์เมตร มากกว่าแผนฯตามช่วงดังกล่าว 412 ล้านลูกบาศก์เมตร เนื่องจากมีการเพาะปลูกข้าวนาปรังในพื้นที่ตอนบนเกินกว่าแผนฯ ที่ตั้งไว้ ทำให้ต้องเพิ่มการระบายน้ำมากกว่าแผนฯเป็นช่วงๆ เพื่อการรักษาระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาและระบบชลประทาน พร้อมควบคุมคุณภาพน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างให้อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด

Advertisement

และจากการติดตามผลการเพาะปลูกในเขตชลประทาน (ข้อมูล ณ วันที่ 23 ม.ค. 62) มีการเพาะปลูกข้าวแล้ว 5.54 ล้านไร่ ประกอบด้วย ข้าวนาปีต่อเนื่องรอเก็บเกี่ยว 0.05 ล้านไร่ และข้าวนาปรัง 5.49 ล้านไร่ ซึ่งเกษตรกรจะทยอยเก็บเกี่ยวอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปลายเดือนมกราคม 2562 ทั้งนี้ หากเกษตรกรเพาะปลูกข้าวต่อเนื่องทันทีจะส่งผลกระทบต่อการใช้น้ำของข้าวที่อยู่ระหว่างการเพาะปลูก รวมถึงเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำต้นทุนของลุ่มน้ำเจ้าพระยาให้เป็นไปตามแผนการจัดสรรน้ำ ตั้งแต่ต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2562 จะทยอยลดการระบายน้ำลงจาก 4 เขื่อนหลัก ตามลำดับ

ดังนั้น เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ กรมชลประทาน จึงขอความร่วมมือจากพี่น้องเกษตรกร ไม่ทำการเพาะปลูกข้าวต่อเนื่องหลังการเก็บเกี่ยว พร้อมรณรงค์ให้เพาะปลูกพืชใช้น้ำน้อยหลังการทำนา นอกจากนี้ ยังขอให้เกษตรกร และกลุ่มผู้ใช้น้ำ เข้าร่วมจัดรอบเวรการสูบน้ำของสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าและการใช้น้ำของอาคารเชื่อมต่อแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขาของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ตามข้อตกลงและความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ โดยเน้นการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำและการใช้น้ำเป็นไปตามแผนที่ได้วางไว้ตลอดช่วงฤดูแล้งปี 2561/62 อีกทั้งยังเป็นการสำรองน้ำไว้ใช้ในอนาคตได้อย่างยั่งยืน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image