คิด เห็น แชร์ : 10YearChallange ค่าเงิน ตลาดทุน และความผันผวน

เมื่อความไม่แน่นอนในตลาดทุนอยู่ระดับสูง สินทรัพย์ทางการเงินก็มักเคลื่อนไหวแบบไร้เข็มทิศ และไม่ว่าจะลงทุนที่ไหน อย่างไร ก็มีโอกาสพลิกผันได้ตลอด

ในเวลาเช่นนี้ นักกลยุทธ์ตลาดเงินมักใช้การเคลื่อนไหวของราคาสินทรัพย์ต่างๆ มาเปรียบเทียบ และหาความสัมพันธ์กับสินทรัพย์หลัก เพื่อประเมินตลาด หรือที่เรียกกันว่า Global Macro Strategy

ส่วนตัวผมมองว่า “สกุลเงินทั่วโลก” ควรเป็นสิ่งที่ต้องจับตาให้ดีในภาวะที่ตลาดเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน

ค่าเงินสำคัญกับตลาดทุนแค่ไหน? ในประเทศไทยมักไม่มีใครกล้าตอบ เพราะนักเศรษฐศาสตร์มักมองค่าเงินเป็นเพียงองค์ประกอบของการค้า ขณะที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มีหน้าที่แนะนำการลงทุน ส่วนนักลงทุนมักมองว่าเป็นเรื่องซับซ้อนและไม่คุ้นชิน แต่ Global Macro Strategy ใช้กันอย่างแพร่หลายในกลุ่มนักลงทุนทั่วโลก

Advertisement

เราจึงควรรู้ไว้บ้างว่าการแข็งค่าหรืออ่อนค่าของสกุลเงินต่างๆ เป็นเรื่องบวกหรือเรื่องลบของตลาดทุนนั้นๆ กันแน่

ความน่าสนใจอยู่ที่การตีความที่จะแตกต่างไปตามภูมิภาคและระดับความเสี่ยง

ในทางทฤษฎี การเคลื่อนที่ของเงินเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในระยะสั้น ช่วงที่เศรษฐกิจปกติ เงินลงทุนจะเคลื่อนตัวจากผลตอบแทนต่ำไปหาผลตอบแทนสูง ประเทศที่เศรษฐกิจเติบโตดี หรือมีดอกเบี้ยสูงก็จะมีเงินไหลเข้า

Advertisement

แต่เมื่อไรที่ความผันผวนเร่งตัวขึ้นหรือภาครัฐเริ่มไม่มั่นคง ทั้งการเติบโตและดอกเบี้ยก็จะไร้ความหมาย เมื่อค่าเงินอ่อนก็จะยิ่งเป็นสัญญาณว่าเงินทุนกำลังไหลออก

หรือก็คือ ค่าเงินและตลาดทุนควร “เคลื่อนที่ตามกัน” แต่จะมั่นใจได้เราก็ต้องวิเคราะห์กันต่อ

ผมนำข้อมูลในอดีต 20 ปีล่าสุดของตลาดการเงิน มาวิเคราะห์แยกเป็นช่วงความผันผวนระดับสูง-ต่ำ พร้อมกับควบคุมตัวแปรอย่างรายได้บริษัท บอนด์ยิลด์ และราคาน้ำมัน ในตลาดหลักที่คนไทยมักลงทุนอย่างสหรัฐ ยุโรป ญี่ปุ่น จีน และไทย ได้ข้อสรุปที่น่าสนใจ

ที่มั่นใจได้คือ ค่าเงินและตลาดทุนในแต่ละประเทศมักขึ้นหรือลง “ไปด้วยกัน” ในช่วงความผันผวนต่ำ

แม้ช่วงหลังวิกฤตการเงินสหรัฐ นักลงทุนอาจติดภาพความเชื่อที่ว่า การอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบของธนาคารกลางจะส่งผลบวกกับตลาดทุน และการอ่อนค่าของเงินจะช่วยส่งออก แต่ในระยะยาวความเชื่อนี้ไม่ตรงกับความจริงในอดีต

ในช่วงที่ดัชนีความผันผวน (VIX Index) อยู่ในระดับต่ำกว่า 20% ความสัมพันธ์ (Coefficient) ระหว่างดัชนีหุ้นหลักกับสกุลเงินในทุกประเทศล้วนแต่เป็นบวกราว 3-10 bps ยืนยันว่า เงินทุนไหลเข้า ค่าเงินแข็ง ตลาดมั่นใจ และสุดท้ายจะดันให้หุ้นปรับตัวขึ้นตาม

จุดเปลี่ยนของเรื่องเกิดขึ้นเมื่อความผันผวนสูง ระดับความสามารถในการอธิบายตลาดทุนด้วยค่าเงินในฝั่งตะวันตกจะ “ลดลง” แต่จะกลับ “สูงขึ้น” ในฝั่งเอเชีย

ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา เมื่อไรก็ตามที่ดัชนี S&P500 หรือดัชนี DAX เข้าสู่ช่วงผันผวนสูง การซื้อขายจะปรับเปลี่ยนตามเหตุการณ์หรือข่าวระยะสั้น เช่นในอดีต สิ่งสำคัญมากสำหรับสหรัฐมักเป็นราคาน้ำมันและรายได้บริษัท ขณะที่ยุโรปคือเรื่องนโยบายการเงินเป็นหลัก กรณีเช่นนี้ ค่าเงินดอลลาร์หรือยูโรจะไม่ได้เป็นตัวนำตลาด แต่จะเป็นเพียง “ตัวแปรตาม” ของตลาดทุน

ต่างจากฝั่งเอเชีย สกุลเงินที่เห็นได้ชัดที่สุดคือเงินหยวนของจีน Coefficient ระหว่างดัชนีฮั่งเส็งกับค่าเงินหยวน จะปรับตัวขึ้นจาก 7 เป็น 33 bps ทันทีที่ VIX ทะลุระดับ 20% (ญี่ปุ่นและไทยก็เป็นไปในทิศทางเดียว) แปลได้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างค่าเงินและดัชนีหุ้นหลักของภูมิประเทศนั้นจะ “ไปตามกัน” มากขึ้นเมื่อความผันผวนสูง

เหตุการณ์ลักษณะนี้ในอดีต มักเป็นช่วงที่นักลงทุนพยายามลดความเสี่ยง (Risk-Off) กลับไปถือดอลลาร์ ส่งผลเงินทุนไหลออก เงินจึงยิ่งอ่อน สุดท้ายส่งผลย้อนกลับมาที่ความเชื่อมั่นของนักลงทุน

รู้อย่างนี้ ยิ่งตลาดผันผวนก็ยิ่งต้องมองตลาดเงิน จะทำให้เข้าใจทิศทางของตลาดทุนดีขึ้น

ผมเชื่อว่าค่าเงินเอเชียที่แข็งในปีนี้ เป็นมากกว่าการรีบาวด์ระยะสั้น หรืออย่างน้อยค่าเงินกำลังบอกว่าเงินทุนไม่ได้ไหลออกจนน่ากังวล ยิ่งถ้าความผันผวนลดต่ำลง ตลาดเอเชียก็มีโอกาสกลับตัวขึ้นได้

อย่างไรก็ดี ไม่ควรนิ่งนอนใจเช่นกัน เพราะเมื่อไรที่ค่าเงินเอเชียอ่อน ก็ควรกลับมาทบทวนตลาดว่าเปลี่ยนแปลงไปแล้วหรือไม่

“ค่าเงิน” ได้พิสูจน์ตัวเองแล้วว่าเป็นปัจจัยที่เตือนเราได้ ผมจึงเชื่อว่าความเข้าใจในแนวโน้มนี้ จะช่วยให้รับมือกับช่วงความผันผวนสูงได้ดีขึ้นในอนาคตเช่นกัน

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image