อินฟราฟัน : ลุยทางคู่‘เด่นชัย-บ้านไผ่’ : นายขันตี

นอกจากโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ที่ถูกจับตามองอย่างใกล้ชิดแล้ว

รถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ก็มีผู้ให้ความสนใจอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะเส้นทางที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติแล้ว คือ สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 323 กิโลเมตร (กม.) วงเงินลงทุน 85,345 ล้านบาท และ สายบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม ระยะทาง 355 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 65,738 ล้านบาท

ความคืบหน้าล่าสุด สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้อนุมัติโครงการแล้วขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำ พ.ร.ฎ.เวนคืน ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 1 ปี เนื่องจากรถไฟทางคู่ทั้ง 2 สาย เป็นการตัดเส้นทางใหม่ทั้งหมด จึงต้องใช้ระยะเวลาในลงพื้นที่เพื่อสำรวจเส้นทางนานกว่าเส้นทางอื่นที่เป็นการก่อสร้างตามแนวเขตทางรถไฟเดิมที่มีอยู่แล้ว

ขณะเดียวกัน รฟท.ก็เตรียมจัดทำร่างเงื่อนไขการประกวดราคา (ทีโออาร์) ไปพร้อมกัน คาดว่าจะเปิดประกวดราคาได้ช่วงปลายปี 2562 นี้ เพื่อให้เปิดบริการได้ทันเป้าหมายในปี 2566

Advertisement

สำหรับสายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ เบื้องต้นกำหนดการก่อสร้างออกเป็น 3 สัญญา คือ สัญญาที่ 1 ช่วงเด่นชัย-งาว ระยะทาง 104 กม. วงเงิน 26,704 ล้านบาท สัญญาที่ 2 ช่วงงาว-เชียงราย ระยะทาง 135 กม. วงเงิน 28,735 ล้านบาท และ สัญญาที่ 3 ช่วงเชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 84 กม. วงเงิน 17,482 ล้านบาท มีค่าเวนคืนที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ 10,660 ล้านบาท และค่าจ้างที่ปรึกษา 1,764 ล้านบาท

จุดเริ่มต้นก่อสร้างที่สถานีเด่นชัย จ.แพร่ มุ่งไปทางทิศเหนือผ่าน จ.ลำปาง พะเยา และเชียงราย สิ้นสุดที่บริเวณด่านพรมแดนเชียงของ จ.เชียงราย มีทั้งหมด 26 สถานี ลานขนถ่ายสินค้า 4 แห่ง ลานกองเก็บตู้สินค้า 1 แห่ง อุโมงค์รถไฟ 4 อุโมงค์ ถนนยกข้ามทางรถไฟ 40 แห่ง และถนนลอดใต้ทางรถไฟ 102 แห่ง

ส่วนสายบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม แบ่งวงเงินเป็น ค่าจ้างที่ปรึกษาสำรวจอสังหาริมทรัพย์เพื่อเวนคืน 160 ล้านบาท ค่าเวนคืนที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ 7,853 ล้านบาท ค่าจ้างที่ปรึกษาจัดการประกวดราคา 15 ล้านบาท ค่าก่อสร้าง 56,579 ล้านบาท และค่าจ้างที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้าง 1,131 ล้านบาท

Advertisement

จะก่อสร้างเป็นคันทางระดับดินและบางส่วนเป็นทางรถไฟยกระดับ ต้องเวนคืนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตลอดเส้นทาง รวม 17,449 ไร่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ทางการเกษตร มีทั้งหมด 32 สถานี มีลานบรรทุกตู้สินค้า 3 แห่ง มีย่านกองเก็บสินค้า 3 แห่ง มีถนนยกข้ามทางรถไฟ 81 แห่ง และถนนลอดใต้ทางรถไฟ 255 แห่ง พร้อมก่อสร้างรั้วสองข้างทางตลอดแนวเส้นทางรถไฟ

จะเดินหน้าได้ตามเป้าหมายจริงหรือไม่ ยังต้องลุ้นกันอีกยาว!!

นายขันตี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image