‘ธีระชัย’ ชี้กม.ร่วมทุนที่จะเข้าวาระ 2,3 พรุ่งนี้ อันตรายต่อฐานะการคลัง ชี้ที่ผ่านมากรรมาธิการไม่เคยเรียกหารือ

เมื่อวันที่ 30 มกราคม นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว เกี่ยวกับเรื่องแนวทางการแก้ไขกฎหมายร่วมทุน พ.ศ.2561 โดยระบุว่า

“แนวทางที่คณะกรรมาธิการแก้ไขกฎหมายร่วมทุนฯ ก็ยังเป็นอันตรายต่อฐานะการคลัง!”

ที่ผ่านมาตนเคยมีหนังสือถึงประธาน สนช. เกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. …. ที่รัฐบาลเสนอต่อ สนช.

เนื่องจากเห็นว่า ข้อความตามร่างกฎหมายขาดความรับผิดชอบ และจะสร้างความหละหลวมให้แก่การบริหารที่ดินราชพัสดุอย่างหนักเกินกว่าที่จะสามารถแก้ไขเยียวยาได้ในอนาคต อันจะกระทบต่อความมั่นคงทางการคลังของประเทศ รวมทั้งจะเปิดช่องให้มีการฉ้อราษฎร์บังหลวงเกิดขึ้นได้ขนานใหญ่

Advertisement

และตนได้เสนอความเห็นว่า วิธีการแก้ไขมาตรา 7 เพื่อให้เป็นไปตามเหตุผลและวัตถุประสงค์ของรัฐบาล แต่ยังคงให้มีกระบวนการกำกับดูแลในโครงการที่จำเป็น นั้น …

ไม่ควรจะใช้มาตรา 7 ใหม่ตามที่ปรากฏในร่างพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. ….

แต่ควรจะใช้มาตรา 7 ตามพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2556 เดิม โดยแก้ไขเพิ่มเติมข้อยกเว้น เพื่อให้มีการบรรยายว่าโครงการที่รัฐบาลเห็นจำเป็นต้องจัดทำเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมและการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนที่รัฐประสงค์จะสนับสนุนให้เอกชนร่วมลงทุน แต่มีความจำเป็นต้องมิให้เข้ามาสู่กระบวนการตามกฎหมายดังกล่าวนั้น คือโครงการชนิดใด

Advertisement

การปรับปรุงร่างกฎหมายดังกล่าว จะป้องกันมิให้โครงการชนิดที่ยังสมควรกำกับดูแลให้ยังอยู่ในกระบวนการตามกฎหมายจะหลุดออกไป

ตนจึงได้ส่งข้อเสนอดังกล่าวให้แก่ประธานคณะกรรมาธิการ (นายพิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รมช.คลัง) อีกด้วย แต่คณะกรรมาธิการได้พิจารณาเรื่องจบไปโดยมิได้เชิญผมไปชี้แจงด้วยตนเอง

ในวันนี้ ตนได้รับข้อมูลว่าคณะกรรมาธิการได้แก้ไขร่างแล้ว และจะมีการประชุมวาระ 2 และ 3 ในวันพรุ่งนี้ (31 ม.ค.62) โดยแก้ไขมาตรา 7 วรรคท้าย ดังนี้

จากเดิม “กิจการตามวรรคหนึ่ง ให้รวมถึงกิจการเกี่ยวเนื่องที่จำเป็นเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการดำเนินกิจการดังกล่าวด้วย”

เสนอให้เปลี่ยนเป็น “กิจการตามวรรคหนึ่ง ให้รวมถึงกิจการเกี่ยวเนื่องที่จำเป็นเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการดำเนินกิจการดังกล่าวด้วย ทั้งนี้ ตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี”

ผมขอขอบคุณที่คณะกรรมาธิการมีการทบทวนประเด็นนี้ แต่เห็นว่าการแก้ไขดังกล่าวยังไม่เหมาะสม ด้วยเหตุผลต่อไปนี้

1.เนื่องจากเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับการบริหารที่ดินราชพัสดุทั่วประเทศ และอาจจะก่อความเสียหายต่อฐานะการคลังอย่างหนัก รวมทั้งเป็นช่องทางที่อาจเกิดฉ้อราษฎร์บังหลวงและการหาประโยชน์อันมิชอบได้กว้างขวาง เพราะที่ดินราชพัสดุเป็นทรัพย์สินที่มีมูลค่าสูงมาก ดังนั้น การกำหนดหลักเกณฑ์หรือข้อยกเว้น จำเป็นต้องกระทำให้ปรากฏชัดเจนในชั้นของพระราชบัญญัติ เพื่อให้มีการพิจารณาอย่างถ่องแท้รอบคอบทุกแง่ทุกมุมโดยรัฐสภา มิใช่ยกอำนาจไปให้เป็นดุลพินิจของคณะรัฐมนตรีโดยลดชั้นลงไปเป็นประกาศคณะกรรมการ

2.เนื่องจากการมีรัฐบาลในประเทศไทยนั้น เกิดขึ้นได้ทั้งจากการเลือกตั้งและจากการปฏิวัติรัฐประหาร ดังนั้น การยกอำนาจแบบปลายเปิดไปให้เป็นดุลพินิจของคณะรัฐมนตรีในห้วงเวลาที่รัฐสภาไม่มีพรรคฝ่ายค้าน ย่อมเป็นการเสี่ยงต่อการทุจริตเชิงนโยบายได้อย่างหนัก

3.การแก้ไขดังกล่าวจะมีผลต่อเมื่อมีกฎหมายลูก แต่ในระหว่างที่คณะกรรมการยังไม่ประกาศกำหนด หรือถ้าหากคณะกรรมการมีการประกาศแล้ว แต่ภายหลังยกเลิก ก็จะทำให้กระบวนการควบคุมเสียไปโดยอัตโนมัติ

ตนจึงขอให้เป็นข้อมูลแก่สมาชิก สนช. เพราะทุกท่านมีหน้าที่จะต้องทำให้ร่างกฎหมายเกิดประสิทธิผลในการป้องปรามการทุจริต และท่านจะต้องไม่ยินยอมให้มีการตรากฎหมายที่มีลักษณะเอื้อประโยชน์แก่นายทุนแต่เป็นโทษแก่ประชาชน

วันที่ 30 มกราคม 2562
ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image