‘ทรัพย์สินฯ’ ล้าง 13 คำขอสิทธิบัตรสารสกัดจากกัญชา

นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ได้สั่งการให้กรมทรัพย์สินทางปัญญา สืบค้นข้อมูลในอดีตที่หลายๆ หน่วยงานคิดค้นขึ้นมา เมื่อตรวจสอบพบว่าหลายงานวิจัยมีการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาไว้แล้วและสามารถนำกลับมาต่อยอดได้ แต่หากมีการนำไปใช้นอกเหนือจากงานวิจัยจะนำต้องอยู่ภายใต้กฎหมายเท่านั้น ส่วนในเรื่องของคำขอที่มีคำสั่งยกเลิกไปจะไม่สามารถมายื่นคำร้องใหม่ได้ เพราะตามหลักสิทธิบัตรถ้ามีการจดทะเบียนไปแล้วจะไม่สามารถจดใหม่อีกครั้งได้ ทั้งนี้ หากภาคประชาสังคมมีข้อสงสัยสามารถเข้ามาหารือร่วมกับกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้

“สำหรับบริษัทที่ต้องการนำกัญชามาวิจัย ต้องขึ้นอยู่กับกฎหมายว่ามีอะไรห้ามไว้หรือไม่ ซึ่งในส่วนของการดำเนินการของกรมทรัพย์สินทางปัญญาจะดูแลในเรื่องของการคุ้มครองเท่านั้น ส่วนในเรื่องของความกังวลว่าต่างชาติจะนำภูมิปัญญาของไทยไปจดทะเบียนก่อน อยากให้ทุกฝ่ายสบายใจได้เลย เพราะวันนี้ ทางกระทรวงพาณิชย์ ล้างคำขอขึ้นทะเบียนเป็นศูนย์แล้ว เพื่อสร้างความยุติธรรมให้กับทุกฝ่าย” นางสาวชุติมากล่าว

นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวว่า ตามที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้รับนโยบายเป็นกรณีเร่งด่วนให้ดำเนินมาตรการด้านสิทธิบัตรเป็นกรณีพิเศษตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 1/2562 สำหรับคำขอสิทธิบัตรสารสกัดจากกัญชาธรรมชาติที่นักวิชาการหรือนักวิจัยมีความห่วงกังวลว่าอาจจะส่งผลกระทบต่อการวิจัยด้านการแพทย์ กรมทรัพย์สินทางปัญญาแจ้งความคืบหน้าในการดำเนินการกับคำขอรับสิทธิบัตรที่เป็นข่าวทั้ง 13 คำขอก่อนมีคำสั่งจากคณะรักาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทางกรมทรัพย์สินทางปัญญาจึงได้จำหน่ายคำขอออกจากระบบเนื่องจากผู้ขอรับสิทธิบัตรไม่ดำเนินการตามกฎหมายจำนวน 3 คำขอ และแจ้งผลปฏิเสธคำขออีกจำนวน 3 คำขอ รวมทั้งหมด 6 คำขอ

นายทศพล กล่าวว่า เมื่อคำสั่ง คสช. มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2562 กรมทรัพย์สินทางปัญญาจึงได้ดำเนินการเป็นกรณีเร่งด่วน โดยได้สั่งยกคำขอรับสิทธิบัตรที่มีสารสกัดกัญชาธรรมชาติไปแล้ว 10 คำขอ ซึ่งได้รวมคำขอที่แจ้งผลปฏิเสธก่อนหน้านี้ด้วย รวมเป็น 13 คำขอถูกจำหน่าย และสั่งยกคำขอแล้ว ทั้งนี้ ถ้าผู้ขอรับสิทธิบัตร ไม่อุทธรณ์คำสั่งยกคำขอดังกล่าวต่อคณะกรรมการสิทธิบัตรภายในกำหนดเวลา 60 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง จะถือว่าคำสั่งของอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาเป็นที่สุดตามกฎหมาย

Advertisement

“โดยคำขอรับสิทธิบัตรที่ประกาศโฆษณาแล้ว และถูกสั่งยกคำขอไปแล้ว ผู้ขอรับสิทธิบัตรจะนำการประดิษฐ์นั้นมายื่นขอรับสิทธิบัตรใหม่อีกไม่ได้ เพราะได้มีการเปิดเผยสาระสำคัญหรือรายละเอียดไว้แล้ว ตามข้อกำหนดในกฎหมายสิทธิบัตร จึงทำให้การประดิษฐ์ตามคำขอรับสิทธิบัตรนั้นขาดความใหม่ ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์การขอรับความคุ้มครองสิทธิบัตร แม้ภายหลังจะมีกฎหมายยาเสพติดให้โทษ ที่ปลดล็อคให้สามารถนำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์มีผลใช้บังคับ และทำให้บางส่วนของคำสั่ง คสช. สิ้นผลไป จะไม่กระทบต่อการดำเนินการที่ผ่านมาแล้ว เนื่องจากคำสั่ง คสช. ได้มีบทบัญญัติรองรับไว้แล้วว่า ให้ดำเนินการต่อคำขอที่ได้ยื่นไว้แล้วต่อไปได้จนกว่าจะแล้วเสร็จ และแม้ว่าผู้ขอรับสิทธิบัตรจะใช้สิทธิอุทธรณ์คำสั่งยกคำขอดังกล่าวภายหลังจากกฎหมายปลดล็อคมีผลใช้บังคับแล้ว คณะกรรมการสิทธิบัตรจะต้องนำคำสั่ง คสช. มาพิจารณาด้วย เนื่องจากเป็นการพิจารณาทบทวนคำสั่งของอธิบดีตามข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่มีคำสั่งกรมทรัพย์สินทางปัญญาให้ความมั่นใจว่า จะดำเนินการตามคำสั่ง คสช.ตามกระบวนการต่อไปเพื่อคลายความห่วงกังวลของทุกภาคส่วน” นายทศพลกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image