“กรมฝนหลวงฯ” เดินหน้าเลี้ยงเมฆทำฝนต่อเนื่อง ประกาศรับจิตอาสาจำนวนมากร่วมอบรม 2 หลักสูตร

เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2562 นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวว่า จากการวางแผนปฏิบัติการฝนหลวงเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ โดยใช้หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงเคลื่อนที่เร็วภาคตะวันออก จ.ระยอง ขึ้นบินจำนวน 2 เที่ยวบิน กำหนดเป้าหมายในการสร้างเมฆให้มากที่สุดในเขตกรุงเทพและปริมณฑลฝั่งตะวันออกเพื่อให้ไหลไปรวมกันช่วยดูดซับฝุ่นละอองในอากาศ ขณะเดียวกัน ได้กำหนดให้หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงเคลื่อนที่เร็วภาคกลาง จ.นครสวรรค์ ขึ้นบินจำนวน 2 เที่ยวบิน ในพื้นที่เป้าหมายจ.ราชบุรี นครปฐมและสมุทรสาคร และตั้งหน่วยเติมสารฝนหลวงที่อำเภอโพธาราม จ.ราชบุรี ผลจากการปฏิบัติการฝนหลวงพบว่าทำให้มีฝนตกเล็กน้อยเป็นแห่งๆ อาทิ บริเวณอ.เมืองนครปฐม จ.นครปฐม และอ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี เป็นต้น ส่งผลให้สถานการณ์มลพิษฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ในเขตพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง

“ในวันนี้ กรมฝนหลวงฯ ได้วางแผนปฏิบัติการฝนหลวง โดยกำหนดให้หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงเคลื่อนที่เร็วภาคตะวันออก จ.ระยอง ขึ้นบินภารกิจที่ 1 เมื่อเวลา 10.00 น. ด้วยเกลือแป้ง จำนวน 2,000 กก. ความสูง 7,000 ฟุต บริเวณทิศใต้ อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ ถึง ทิศใต้ อ.บางน้ำเปรี้ยว จ.ฉะเชิงเทรา และหน่วยหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงเคลื่อนที่เร็วภาคกลาง จ.นครสวรรค์ ขึ้นบินภารกิจที่ 1 เมื่อเวลา 09.30 น. โดยใช้เกลือแป้ง จำนวน 1,800 กก. ความสูง 7,000 ฟุต บริเวณ อ.บางเลน จ.นครปฐม ถึงทิศใต้ อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร โดยได้รับความอนุเคราะห์จากสนามบินราชบุรีของวิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม วิทยาเขตราชบุรี ที่ให้การสนับสนุนพื้นที่สำหรับลำเลียงสารฝนหลวงขึ้นอากาศยาน” นายสุรสีห์กล่าว

นายสุรสีห์ กล่าวว่า สำหรับการปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อสลายค่าฝุ่นละอองเกินมาตรฐานในขณะนี้ต้องขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่ช่วยสนับสนุนภารกิจของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร โดยเฉพาะ จิตอาสา ในส่วนของอาสาสมัครฝนหลวงเองและจิตอาสาด้านอื่นๆ โดยช่วยแบ่งหน้าที่กันในการช่วยเหลือตั้งแต่การลำเลียงสารที่ใช้ในการปฏิบัติการฝนหลวง จากหน่วยปฏิบัติการ ฝนหลวง อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ มายังหน่วยเติมสารฝนหลวง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี และยังช่วยลำเลียงขึ้นอากาศยานแต่ละลำด้วย ซึ่งขณะนี้กรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้มีการพัฒนาอาสาสมัครฝนหลวง จำนวนกว่า 2,000 คน ทั่วประเทศ และยังคงมีความต้องการจิตอาสาที่จะร่วมงานกับทางกรมอีกเป็นจำนวนมาก โดยแบ่งเป็น 2 หลักสูตร ได้แก่ อาสาสมัครฝนหลวงภาคการเกษตรและอาสาสมัครฝนหลวงภาคสมทบ ทั้งที่เป็นเกษตรกรโดยตรงและผู้สนใจในสาขาอาชีพอื่นๆ ที่สามารถให้ข้อมูลเพื่อการปฏิบัติการฝนหลวงให้ตรงตามความต้องการของประชาชนให้มากที่สุด

นายสุรสีห์กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม กรมฝนหลวงฯ จะยังคงติดตามสภาพอากาศ และวางแผนการปฏิบัติการอย่างต่อเนื่อง จึงขอให้ประชาชนมั่นใจในความพร้อมของกรมฝนหลวงฯ ที่จะช่วยบรรเทาปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติต่างๆ โดยสามารถติดตามสถานการณ์และข้อมูลข่าวสารได้ทางเว็บไซต์ และเพจเฟสบุ๊ค กรมฝนหลวงและการบินเกษตร

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image