“ค้าต่างประเทศ” ร่วมศุลกากรเกาหลีตรวจรง.คลายข้อสงสัยถิ่นกำเนิดสินค้า

นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า กรมฯ และศุลกากรสาธารณรัฐเกาหลี (KCS) ได้เดินทางไปตรวจสอบย้อนหลัง (Post Verification) การผลิตสินค้าของผู้ประกอบการที่จังหวัดระยอง เมื่อกลางเดือนมกราคม 2562 ที่ผ่านมา เนื่องจากศุลกากรสาธารณรัฐเกาหลี มีข้อสงสัยเกี่ยวกับถิ่นกำเนิดสินค้าที่ผู้ประกอบการไทยได้มีการชี้แจงข้อมูลวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตในหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า Form AK มีความคลาดเคลื่อนหลายครั้ง จึงทำให้เกิดความสงสัยและขอตรวจสอบ ซึ่งผลการตรวจสอบปรากฏว่าผู้ประกอบการสามารถแสดงข้อมูลการผลิตสินค้าได้ครบถ้วนตามที่ศุลกากรสาธารณรัฐเกาหลีร้องขอ และไม่ติดใจในกระบวนการผลิตของไทย ซึ่งต่อไปจะทำให้สินค้าไทยส่งออกไปยังเกาหลีได้สะดวกมากขึ้น

นายอดุลย์กล่าวว่า ทั้งนี้ กฎถิ่นกำเนิดสินค้าภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-เกาหลี กำหนดให้ผู้ประกอบการส่งออกสามารถใช้ได้ 2 เกณฑ์ คือ (1) เกณฑ์ %RVC ไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 คือ มีมูลค่าการผลิตและการใช้วัตถุดิบที่ได้ถิ่นกำเนิดในประเทศไทยหรือในภูมิภาคอาเซียนไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 และ (2) เกณฑ์ CTH คือ มีการใช้วัตถุดิบนำเข้าที่มีพิกัดศุลกากรแตกต่างจากสินค้าที่ส่งออกในระดับ 4 หลัก

นายอดุลย์กล่าวว่า สำหรับแนวทางการตรวจสอบย้อนหลังของศุลกากรสาธารณรัฐเกาหลีจะตรวจตามเกณฑ์ที่ระบุใน Form AK โดยกรณีที่ต้องมาตรวจสอบโรงงานดังกล่าว เพราะผู้ประกอบการไทยได้ระบุเกณฑ์ %RVC KCS ทำให้ต้องตรวจสอบหลักฐานเอกสารอย่างละเอียด เช่น รายการวัตถุดิบ (Bill of Materials: BOM) ใบเสร็จในการซื้อวัตถุดิบ รายการต้นทุนการผลิตทั้งวัตถุดิบในประเทศและนำเข้า ใบขนสินค้าขาออก Bill of Lading (B/L) รายชื่อลูกค้า สัญญาซื้อขายสินค้ากับลูกค้า เป็นต้น ทำให้ผู้ประกอบการต้องจัดเตรียมเอกสารมากและใช้ระยะเวลาในการตรวจสอบนาน

นายอดุลย์กล่าวว่า ผู้ประกอบการที่ต้องการใช้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรในการส่งออกสินค้าไปยังประเทศต่างๆ ที่ไทยได้ทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) เช่น อาเซียน จีน เกาหลี อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เป็นต้น กรมฯ มีระบบอำนวยความสะดวกในการตรวจสอบคุณสมบัติด้านถิ่นกำเนิดสินค้าหรือตรวจต้นทุนว่าได้ถิ่นกำเนิดไทยหรือไม่ ซึ่งเป็นเพียงการตรวจต้นทุนเบื้องต้น เพื่อให้ผู้ประกอบการมีความรู้ความเข้าใจในการพิจารณาเกณฑ์ถิ่นกำเนิดสินค้า ซึ่งมีความแตกต่างกันในแต่ละความตกลง อย่างไรก็ตาม เมื่อผู้ประกอบการส่งออกสินค้าโดยใช้หนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า จะต้องมีการตรวจต้นทุนด้วยตนเองในทุก Shipment และต้องเก็บหลักฐานเอกสารการได้มาของวัตถุดิบ รวมถึงเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้องไว้ เพื่อรองรับกรณีการขอตรวจสอบในภายหลังจากหน่วยงานของประเทศผู้นำเข้าหรือกรมการค้าต่างประเทศ

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image