จอดป้ายประชาชื่น : อนาคต5G

หลังจากยื่นเรื่องขอขยายระยะเวลาการชำระค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ ในงวดสุดท้าย รายละประมาณ 60,000 ล้านบาท ตั้งแต่ปลายปี 2560 โดยขณะนั้น รัฐบาลได้ส่งต่อให้สำนักงาน กสทช.พิจารณาพ่วงไปกับมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบกิจการทีวีดิจิทัล แต่ถูก นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานทีดีอาร์ไอ สั่งเบรกหัวทิ่ม โดยมองว่าทั้งเอไอเอสและทรูมีผลประกอบการที่ดี และมีกำไรเติบโตแบบก้าวกระโดด ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ใช้ ม.44 อุ้มทีวีดิจิทัล และปล่อยให้เรื่อง      ดังกล่าวค้างอยู่ในกระบวนการของ กสทช.แบบไม่ดูดำดูดี

และแล้ววันที่ “โอเปอเรเตอร์” ทั้ง 2 ราย อย่างเอไอเอสและทรูรอคอยก็มาถึง เพราะเรื่องดังกล่าวเริ่มขยับ

ขยับเพราะศักยภาพของ “5G” ที่ไม่ใช่เพียงเครือข่ายโทรศัพท์มือถือแบบไร้สาย แต่คือเทคโนโลยีแห่งความหวัง ที่มีผลเกี่ยวเนื่องกับการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ โดยสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ไอทียู) ระบุว่า การจะก้าวไปสู่ 5G โอเปอเรเตอร์ ต้องมีคลื่นความถี่สำหรับให้บริการ รายละไม่ต่ำกว่า 100 เมกะเฮิรตซ์ ขณะที่ปัจจุบันโอเปอเรเตอร์มีคลื่นความถี่สูงสุดอยู่ที่ 60 เมกะเฮิรตซ์ ฉะนั้น การประมูลคลื่นความถี่โดยเร็วจึงเป็นหนทางเดียวที่จะทำให้ไทยไม่เสียโอกาสด้านการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจนับแสนล้านบาท หาก 5G      ไม่เกิดขึ้นในปี 2563

ทันทีที่ “กสทช.” ตีฆ้องร้องป่าวว่าจะจัดการประมูลคลื่นความถี่ “ทรู” ผู้รอจังหวะนี้มานาน หงายการ์ดไม่เข้าร่วมการประมูลจนกว่าจะมีความชัดเจนเรื่องการขยายระยะเวลาการชำระค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ ขณะที่ “เอไอเอส” สถานการณ์จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะส่งหนังสือขอขยายระยะเวลาการชำระค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ มาที่รัฐบาล

Advertisement

การแข่งขันที่ผูกขาดโดยโอเปอเรเตอร์ 3 ราย หาก 2 รายนี้ หรือเพียงรายใดรายหนึ่งไม่เข้าร่วมการประมูล การเกิด 5G ตามกรอบเวลาจึงยากที่จะเป็นไปได้ เพราะ “อนาคตผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจของประเทศ”  โอเปอเรเตอร์คือผู้กำหนด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image