“เอ็ตด้า” เผยมูลค่าอีคอมเมิร์ซไทยโตต่อเนื่อง ปี61 พุ่ง 3.2 ล้านล้านบาท

นางสุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สพธอ.) หรือเอ็ตด้า กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยในงาน ไทยแลนด์ อีคอมเมิร์ซ วีค 2019 ว่า ผลการสำรวจมูลค่าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของประเทศเติบโตอย่างต่อเนื่อง ระหว่าง 8-10% ต่อปี โดย เอ็ตด้า ได้จัดเก็บสถิติมาตั้งแต่ปี 2557 และเมื่อเปรียบเทียบจำนวนผู้ใช้อินเตอร์เน็ตในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา พบว่าจากจำนวนเพียง 9.3 ล้านคน ในปี 2551 ปัจจุบันมีคนใช้มากถึง 45 ล้านคน สะท้อนให้เห็นถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย การพัฒนาของเครื่องมือสื่อสาร และราคาที่ถูกลง ทำให้คนเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้มากขึ้น ส่งผลให้ตลาดอีคอมเมิร์ซของประเทศไทยเติบโตไปด้วย ทั้งจำนวนผู้ซื้อ ผู้ขายทางออนไลน์เพิ่มมากขึ้น สอดรับกับจำนวนแพลตฟอร์มโดยผู้ประกอบการในไทยและต่างประเทศเกิดขึ้นเป็นจำนวนมากเช่นกัน

ประเทศไทยถือว่าเป็นประเทศที่มีอัตราการเติบโตของการค้าระหว่างผู้ค้าโดยตรงถึงลูกค้า (บีทูซี) สูงเป็นอันดับที่ 1 ของอาเซียน เมื่อเทียบมูลค่าระหว่างปี 2559 กับปี 2560 พบว่า มีมูลค่าเพิ่มถึงกว่า 160,000 ล้านบาท ส่วนหนึ่งมาจากความเชื่อมั่นในเทคโนโลยี ระบบอีเพย์เม้นท์ ที่สะดวกมากขึ้น การขนส่งที่รวดเร็วทำให้ผู้บริโภคหันมาให้ความนิยมซื้อของออนไลน์อย่างต่อเนื่อง เมื่อมองมาถึงโอกาสของสินค้าและบริการ จะเห็นได้ว่าธุรกิจห้างสรรพสินค้าออนไลน์เติบโต เนื่องจากโปรโมชั่น ที่ดึงดูดใจลูกค้า ความน่าเชื่อถือ และความเชื่อมั่นในแหล่งขายที่มีตัวตน นอกจากนี้ ในส่วนของอาหาร เครื่องดื่ม เครื่องสำอาง และอาหารเสริม ก็กำลังเติบโตมาติดๆ ด้วยพฤติกรรมของผู้บริโภคที่นิยมอาหารและรักสุขภาพมากขึ้น มีการกระตุ้นความต้องการซื้อผ่านทางกลุ่มเป้าหมาย ตลอดจน สร้างคลิปวิดีโอเพื่อเผยแพร่บนยูทูป ซึ่งเติบโตมาตลอดช่วงปีที่ผ่านมา

Advertisement

การทำการตลาดทางออนไลน์ในปี 2560 สูงถึง 69.92% โดยอันดับแรกที่นิยมมากที่สุดคือ เฟซบุ๊ก ทั้งในรูปแบบของการโปรโมทโพสต์ และการเพิ่มโฆษณา เพื่อเข้าถึงลูกค้าและตรงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น ด้านผู้ใช้บริการนั้นได้มีการนำข้อมูล หรือบิ๊กดาต้า มาพัฒนาธุรกิจอีคอมเมิร์ซ โดยการนำมาวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภค เพื่อนำเสนอสินค้าใหม่ๆ ถึง 100% เพื่อให้ตรงกับความต้องการ ตลอดจนเพื่อการวางแผนด้านการตลาดมากถึง 92.85% และใช้วิเคราะห์ปัจจัยแวดล้อม เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์การจำหน่ายสินค้าที่ 85.71%

Advertisement

ส่วนปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) มีการนำมาใช้เพื่อการพัฒนาคุณภาพสินค้าและบริการ อันดับที่ 1 จะใช้ในการให้บริการ เช่น แชทบอท เพื่อให้ข้อมูลกับลูกค้าได้รวดเร็ว และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้า (69.23%) อันดับที่ 2 ใช้ในด้านอื่นๆ อาทิ การคัดกรอง และเก็บข้อมูล (23.07%) และใช้ในการวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภค รวมทั้งใช้เพื่อการตัดสินใจในเชิงการบริหาร ด้วยสัดส่วนที่เท่ากัน (15.38%)

ขณะเดียวกันประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ยุค 5G จำส่งผลทำให้เกิดนวัตกรรมใหม่ที่ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็น การใช้โดรนขนส่งและตรวจตราความปลอดภัย วิดีโอสตรีมมิ่งและถ่ายทอดสดแบบ 360 องศา โลกเสมือนจริงแบบสามมิติเพื่อการเรียนรู้

สิ่งเหล่านี้จะขับเคลื่อนอีคอมเมิร์ซไทยให้ไปต่อ เพราะสถิติที่ประเทศไทยมีผู้ใช้อินเตอร์เน็ตมากกว่า 45 ล้านคน (2560) มีจำนวนผู้ใช้งานโทรศัพท์มือถือ กว่า 124.8 ล้านราย (2561) ผู้ใช้ไลน์ กว่า 44 ล้านคน (2561) ผู้ใช้เฟซบุ๊ก กว่า 52 ล้านราย (2561) และมีแนวโน้มว่า มูลค่าอีคอมเมิร์ซของประเทศไทยปีล่าสุดจะสูงถึง 3.2 ล้านล้านบาท (2561) โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลต่างๆ เช่น 11.11, 12.12, แบล็คฟรายเดย์ ที่ผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซต่างจัดโปรโมชันส่งเสริมทางการตลาด ในปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบการบางรายมียอดขายสูงถึง 1.44 พันล้านบาท ด้วยปริมาณการสั่งชื่อสินค้ากว่า 1.7 ล้านชิ้น ในระยะ 3 วัน  โดยกลุ่มสินค้าที่เป็นที่นิยมอันดับต้นๆ คือ สินค้าอุปโภคบริโภคของเด็ก เครื่องใช้ไฟฟ้า สมาร์ทโฟน เครื่องสำอาง สกินแคร์

ขณะที่ โซเชียล คอมเมิร์ซ ก็มาแรงไม่แพ้กัน คนไทยเลือกซื้อสินค้าผ่าน โซเชียล คอมเมิร์ซ มากเป็นอันดับสองรองจาก อี มาร์เก็ตเพลส เพราะเป็นแพลตฟอร์มที่ซื้อง่ายขายคล่อง ลดช่องว่าง ระหว่างผู้ซื้อผู้ขาย และเพิ่มอำนาจการต่อรองของลูกค้า ทำให้ลูกค้ามีตัวเลือกมากขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีอีกปัจจัยที่ลูกค้ามักให้ความสำคัญ คือ ด้านโลจิสติกส์ ซึ่งพัฒนาไปตามความต้องการของลูกค้า มีระบบการติดตาม ตรวจสอบสถานะการส่งที่แม่นยำ ทำให้เกิดความมั่นใจในการสั่งซื้อ ด้านผู้ให้บริการโลจิสติกส์ภาคเอกชนก็มีตัวเลือกหลากหลาย ระบบบริการที่มีการแข่งขันสูงทำให้ผู้รับบริการมีความพึงพอใจ เพราะครอบคลุมพื้นที่ให้บริการมากขึ้น ไม่ได้กระจุกตัวในเมืองใหญ่เท่านั้น

ดังนั้น หากต้องการจะผลักให้อีคอมเมิร์ซไทยบุกตลาดต่างประเทศก็สามารถทำได้ เพราะเมื่อวิเคราะห์จากจุดแข็งของประเทศไทยที่เป็นเมืองน่าเที่ยวติดอันดับ 4 ของโลก และสินค้าไทยก็เป็นที่ชื่นชอบของหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็น

เวียดนาม  ชอบสินค้าอุปโภคบริโภคของไทย เครื่องสำอาง และสินค้าเกี่ยวกับเด็ก
อินโดนีเซีย ชอบอาหารทานเล่น ของไทยมาก
อินเดีย ชอบสินค้าเครื่องปรุงรสอาหารไทย เครื่องสำอาง
จีน ชอบเครื่องสำอาง สมุนไพร เสื้อผ้าและกระเป๋า

จุดแข็งของสินค้าไทยสามารถสร้างโอกาสให้กับผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซ ด้วยเอกลักษณ์และจุดเด่นที่ไม่มีใครเหมือน และเพื่อต่อยอดมูลค่าตลาดให้โตยิ่งขึ้น เอ็ตด้า จึงร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษา ร่วมสนับสนุนการพัฒนาให้เป็น ซิลิคอนวัลเลย์ ด้านอีคอมเมิร์ซของไทย ผ่าน ยังทะเล้น แพลตฟอร์ม เพื่อสร้างกำลังแรงงาน ขึ้นมาสนับสนุนผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซของไทยในด้านต่างๆ ที่จะร่วมเป็นหนึ่งในการพัฒนาผู้ประกอบการไทยสู่ตลาดโลกต่อไป

เกาะกระแสเศรษฐกิจ กับ Line@มติชนเศรษฐกิจใกล้ตัว

เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image