คมนาคมจ่อชง ครม.บังคับภาครัฐทั้งหมด ประมูลงานทางราง ต้องใช้ตู้รถไฟผลิตในประเทศ

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมแนวทางการพัฒนาผลศึกษาอุตสาหกรรมระบบรางที่กระทรวงคมนาคมว่า จากกรณีคณะกรรมการจัดระบบการจรจรทางบก(คจร.)ได้มอบหมายให้กระทรวงคมนาคม กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงการคลัง ร่วมกันส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมระบบรางและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องให้เป็นรูปธรรม ทางกระทรวงอุตสาหกรรมจึงได้เสนอแนวทางที่สามารถดำเนินการได้ คือ 1.ภายในปี 2563 การจัดซื้อจัดจ้างขนส่งทางรางของภาครัฐทั้งหมดจะต้องกำหนดให้ซื้อตู้รถไฟหรือตู้รถไฟฟ้า จากผู้ผลิตในประเทศหรือผู้ผลิตที่มีแผนจะลงทุนผลิตในประเทศเท่านั้น เช่น กรณีการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) จะดำเนินโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าก็จะต้องนำเรื่องดังกล่าวเข้าไปกำหนดไว้ในเงื่อนไขการประกวดราคา(ทีโออาร์)ด้วย

นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า 2.ภายในปี 2565 การจัดซื้อตู้รถไฟของภาครัฐทั้งหมด จะต้องกำหนดให้จัดซื้อจัดจ้างจากผู้ผลิตที่ประกอบขั้นสุดท้ายภายในประเทศเท่านั้น 3.ภายในปี 2567 การจัดซื้อตู้รถไฟ จะต้องใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 ของราคาตู้รถไฟที่ทำการจัดซื้อ และ 4.ตั้งแต่ปี 2568 เป็นต้นไป กำหนดให้ตู้รถไฟ ระบบอาณัติสัญญาณต้องผลิตในประเทศไทยทั้งหมด โดยขั้นตอนต่อไปจะมีการพิจารณารายละเอียดข้อเสนอดังกล่าวให้มีความชัดเจนก่อน จากนั้นจะนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)เพื่ออนุมัติภายในรัฐบาลชุดนี้

“ในปี 2568 จะต้องมีการผลิตในประเทศทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นตัวรถ ห้องควบคุม ระบบอาณัติสัญญาณ ระบบไฟฟ้า และอื่นๆ ซึ่งการทำแบบนี้เพื่อให้เกิดการลงทุนและการพัฒนาระบบรางในประเทศอย่างแท้จริง”นายชัยวัฒน์กล่าว

นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า ข้อเสนอดังกล่าว สืบเนื่องจากกระทรวงอุตสาหกรรมได้มีการศึกษาและประเมินแล้วพบว่า ในอีก 20 ปีข้างหน้า ความต้องการขบวนรถไฟฟ้าและรถไฟ จะมีมากกว่า 1,000 ตู้ จากปัจจุบันที่มีอยู่ 413 ตู้(รวมรถไฟฟ้าใต้ดิน ,บีทีเอส ,แอร์พอร์ตลิงก์ และรถไฟธรรมดา) ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่คุ้มค่าหากจะมีการลงทุนผลิตเพื่อใช้เองภายในประเทศ

Advertisement

“กระทรวงอุตสาหกรรมยังบอกด้วยว่า จากการผลการศึกษาขององค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น(ไจก้า) ได้ให้ข้อมูลด้วยว่า หากโรงงานสามารถผลิตขบวนรถไฟได้ 300 ตู้ต่อปีก็คุ้มค่าแล้ว ซึ่งประเทศไทยยังมีความต้องการตู้รถไฟอีกเป็นจำนวนมาก”นายชัยวัฒน์กล่าว

นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า ปัจจุบันไม่มีผู้ผลิตตู้รถไฟในประเทศไทย ส่วนใหญ่เป็นการผลิตชิ้นส่วนรถไฟและรถไฟฟ้าแต่ละชนิดเท่านั้น โดยเป็นการผลิตเพื่อส่งออกไปยังประเทศของตัวเองเพื่อประกอบเป็นตู้รถไฟ หากสามารถผลิตได้เองก็จะสามารถละต้นทุนทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของระบบราง การเดินรถ และซ่อมบำรุงรักษา โดยสามารถแบ่งออกเป็น การส่งเสริมให้เกิดการลงทุนประมาณ 500 ล้านบาทต่อจำนวนรถไฟ 1,000 ตู้ ลดการนำเข้าได้ 1.8 หมื่นล้านบาท และประหยัดค่าซ่อมบำรุงรักษา รวมทั้งบุคลากร ประมาณ 4,300 ล้านบาทต่อปี จึงถือว่าคุ้มค่ามาก

“สถานที่ที่จะใช้สร้างโรงงานผลิตตู้รถไฟไม่ได้กำหนดว่าจะเป็นพื้นที่ไหน จะต้องไปอยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษหรือไม่ หรือหากไปอยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษก็จะได้รับสิทธิประโยชน์ตามที่กำหนด และหากไปตั้งที่ขอนแก่นตามที่เคยมีการพูดถึงมาก่อนหน้านี้ก็จะได้รับสิทธิประโยชน์มากขึ้นไปอีก”นายชัยวัฒน์กล่าว

Advertisement

นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า สำหรับเรื่องดังกล่าวกระทรวงคมนาคมจะเป็นผู้นำเสนอ ครม.อนุมัติเอง แต่ทางกระทรวงอุตสาหกรรมจะเป็นผู้ที่จะต้องไปสนับสนุนภาคเอกชนเพื่อให้เกิดการลงทุนตั้งโรงงานอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image