ส.อ.ท.วอน”สนช.”คว่ำร่างกม.”สภาดิจิทัล” หวั่นกลุ่มทุนยักษ์ครอบงำนโยบายรัฐ

เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ แหล่งข่าวจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) เตรียมพิจารณาร่างพ.ร.บ.สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในวาระ 2 และ 3 ให้แล้วเสร็จภายใน 1-2 สัปดาห์นี้ เพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไป โดยอ้างว่าเพื่อให้มีสภาดิจิทัลฯ เป็นกลไกความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ในการพัฒนาอุตสาหกรรมดิจิทัลของประเทศ ซึ่งทางส.อ.ท.ไม่เห็นด้วยกับร่างกฏหมายดังกล่าว เนื่องจากที่ผ่านมารัฐบาลให้การสนับสนุนนโยบายการพัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรมไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม ตลอดจนอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง ผ่านส.อ.ท.อยู่แล้ว

แหล่งข่าวกล่าวว่า รายละเอียดของร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว จะให้มีสมาชิกร่วมจัดตั้ง 22สมาคมและจัดกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ เข้าเป็นกรรมการสมาคม แต่พบว่าการจัดกลุ่มอุตสาหกรรมที่จะส่งตัวแทนเข้าร่วมเป็นกรรมการนั้น มีการกำหนดกลุ่มหรือแยกย่อยประเภทธุรกิจขึ้นมาอีก 6-7 กลุ่มย่อย โดยการกำหนดกลุ่มย่อยดังกล่าวไม่มีมาตรฐานระดับสากลรองรับ อีกทั้งบางกลุ่มธุรกิจมีสมาชิกแค่ 5-7 คนเท่านั้น ผิดจากคลัสเตอร์อุตสาหกรรมไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และโทรคมนาคม ในส.อ.ท.โดยสิ้นเชิง

“ที่สำคัญ ในคณะกรรมาธิการที่พิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้ มีผู้แทนจากสมาพันธ์ดิจิทัล และสมาคมที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นคนของกลุ่มทุนด้านการสื่อสารแทบทั้งสิ้น อีกทั้งในบทเฉพาะกาลของร่างกฏหมายดังกล่าว ยังให้ยกเลิกสมาคมสมาพันธ์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารแห่งประเทศไทย(TFIT) โดยให้โอนกิจการ ทรัพย์สิน สิทธิและหนี้ของสมาคม ตลอดจนพนักงาน ลูกจ้าง รวมทั้งสมาชิกสมาคมสมาพันธ์ทั้งหมดไปเป็นของสภาดิจิทัลแทน โดยให้ถือว่าเป็นการทำงานต่อเนื่อง ถือเป็นกรณีแรกในประวัติศาสตร์ที่การขับเคลื่อนนโยบายด้านดิจิทัลของประเทศคู่ขนานไปกับรัฐบาลเปิดให้บริษัทสื่อสารที่ทำธุรกิจครบวงจรเข้าไปมีส่วนร่วมกำหนดนโยบายด้านไอทีของประเทศโดยตรง” แหล่งข่าวกล่าว

แหล่งข่าวกล่าวว่า การจัดตั้งสภาดิจิทัลแห่งชาติที่มีกลุ่มทุนใหญ่เข้าไปมีบทบาทเพื่อหวังจะขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไอทีไทยให้เทียบชั้นมาตรฐานสากลนั้นคงเป็นไปได้ยาก เห็นได้จากที่ผ่านมามีการตั้งสภาเกษตรแห่งชาติ และสมาคมด้านปศุสัตว์ต่างๆ ที่มีคนของกลุ่มทุนขนาดใหญ่เข้าไปมีบทบาทและขับเคลื่อนแนวนโยบายต่างๆ จะเห็นว่าไม่สามารถจะพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรให้ดีขึ้นแต่อย่างใด

Advertisement

“เชื่อว่าเป้าหมายหลักในการจัดตั้งสภาดิจิทัลแห่งชาติ เพื่อคานอำนาจคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) และเพื่อผลักดันนโยบายการใช้โครงข่ายพื้นฐานด้านโทรคมนาคมตอบสนองความต้องการของกลุ่มทุนใหญ่ที่ต้องการใช้ประโยชน์โครงข่ายโทรคมนาคมของภาครัฐผ่านสภาดิจิทัลฯนี้ จึงขอให้ สนช.พิจารณาให้รอบคอบและไม่ควรผ่านร่างกฎหมายฉบับนี้”แหล่งข่าวกล่าว
——————-

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image