เฉลียงไอเดีย : ศศิมา อาจสงคราม…ขอเป็นแจ็คสู้ยักษ์ ใช้นวัตกรรมปั้น‘กาแฟพริก’ สร้างความต่างแข่งขันกับรายใหญ่

ฟังไม่ผิดค่ะ “กาแฟพริก” ผลิตโดย เภสัชกรหญิง ศศิมา อาจสงคราม กรรมการผู้จัดการ บริษัท สตาร์ เฮิร์บ ฟาร์ม่า จำกัด ภายใต้แบรนด์สินค้า “Prikka Spicy Coffee” ที่คว้าสิทธิบัตรมา 2 ใบ เมื่อปี 2561 จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา

ใบแรกคือ กาแฟที่มีส่วนผสมของพริกและ Alkaneine และใบที่สองคือ กาแฟที่มีส่วนผสมของพริกอย่างเดียว ซึ่งครอบคลุมทุกอย่างตั้งแต่เมล็ดกาแฟจนถึงโปรดักส์ ได้รับความคุ้มครองจาก Wipo แล้วอย่างไม่เป็นทางการ หลังจากยื่นขอจดสิทธิบัตรไปเมื่อ 4 ปีก่อน

คุณศศิมา หรือ ดาว แนะนำตัวเองว่า ก่อนหน้าจะทำกาแฟพริก เป็นดีเจพาร์ทไทม์ของคลื่นวิทยุ สวพ.91 รายงานข่าวจราจรช่วงเย็น-ค่ำ ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ ซึ่งเป็นอาชีพดั้งเดิมที่เคยช่วยคุณพ่อจัดรายการข่าววิทยุ ในชื่อว่า “น้องดาว ลูกสาวทวน ทักษิณ”

Advertisement

ทวน ทักษิณ คือนักจัดรายการข่าววิทยุท้องถิ่นของภาคใต้ คนใต้สมัยก่อนจะรู้จักเป็นอย่างดี เทียบกับปัจจุบันคือคนเล่าข่าว เหมือน “สรยุทธ สุทัศนะจินดา” หรือถ้าเทียบรุ่นที่ไม่ห่างกันมากก็จะคล้ายกับ “ดุ่ย ณ บางน้อย”, “สมหญิง ยิ่งยศ”

“คุณพ่อเห็นแววตั้งแต่เด็ก เพราะพูดเก่ง พูดโดยไม่ต้องหายใจ ห้ามมี Dead Air เรียกว่าหายใจทางผิวหนัง เลยจับไปสอบผู้ประกาศ ก็ช่วยคุณพ่อจัดรายการข่าววิทยุมา 10 ปี ทำสุดหัวใจ แต่สุดท้ายต้องหยุด เพราะเกิดอุบัติเหตุขับรถชนมอเตอร์ไซค์ เหตุเพราะหลับในจากที่ทำงานทั้งวัน ประกอบกับแต่งงานแล้วมีลูกเล็กๆ จึงมานั่งคิดว่าคุ้มมั้ย”

คุณดาวเล่าอย่างแคล่วคล่อง ไม่มี Dead Air อย่างที่ว่าจริงๆ ต้องรอจังหวะแทรกเพื่อถามว่าแล้วธุรกิจกาแฟพริกเกิดขึ้นได้อย่างไร

Advertisement

ธุรกิจกาแฟพริกก็เกิดจากอาชีพเดิม นักจัดรายการวิทยุนั่นเอง!

การจัดรายการวิทยุในอดีต สปอนเซอร์หลักๆ จะเป็นสินค้าเกี่ยวกับยาสามัญประจำบ้าน จนในที่สุดคุณพ่อของคุณดาวมีแนวคิดผลิตยาขายเองในรายการ จึงส่งคุณดาวเรียนคณะเภสัชศาสตร์ ซึ่งคุณดาวสอบติดคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล สมใจคุณพ่อทวน

ปัจจุบันธุรกิจยาของคุณทวนยังดำเนินกิจการอยู่โดยมีน้องชายของคุณดาวเป็นผู้รับช่วงกิจการ ส่วนคุณดาวแยกตัวออกมาทำธุรกิจของตัวเอง หลังเรียนจบปริญญาโท บริหารธุรกิจมหาบัณฑิต หรือเอ็มบีเอ เอกการตลาดและการบริหารธุรกิจระหว่างประเทศ คณะพาณิชยศาสตร์และบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งคุณดาวคิดจริงจังกับการทำธุรกิจ และคำตอบสุดท้ายมาจบที่เครื่องดื่มกาแฟ

เริ่มต้นจากการจับพฤติกรรมคนรอบตัวที่คุณดาวได้สัมผัสในช่วงที่ยังเป็นพนักงานบริษัท สังเกตว่าในการประชุมแต่ละบริษัท แต่ละองค์กรจะต้องเสิร์ฟกาแฟผู้เข้าร่วมประชุม และจากการเก็บข้อมูลตลาด Beverages (เครื่องดื่ม) พบว่ากาแฟเป็นตลาดที่คนทั่วโลกนิยมดื่มเป็นอันดับสองรองจากน้ำดื่มธรรมดา และเป็น Commodities (สินค้าโภคภัณฑ์) ที่มากที่สุดรองจากน้ำมัน

กลับมาดูตลาดกาแฟเมืองไทย แต่ละปีมีมูลค่ากว่า 3 หมื่นล้านบาท โดยกาแฟ 3 in 1 มีแชร์ (สัดส่วน) ของตลาดมากที่สุด “แต่เป็นตลาด Red Ocean เพราะมีเจ้าใหญ่ๆ จับตลาดแล้ว ถ้าลงไปร่วมวงด้วย เลือดสาดแน่นอน”

คุณดาวบอกว่า การทำให้สินค้าดังต้องใช้เงินทุนมหาศาล แต่ในเมื่อเป็นเพียงผู้ประกอบการเจ้าเล็กๆ กำลังคน กำลังเงินสู้รายใหญ่ๆ ไม่ได้ ก็ต้องหาวิธีอื่นคือใช้ระบบ No Cost Marketing นั่นคือการใช้นวัตกรรม!

อันดับแรกต้องหาจุดต่างให้ตัวเอง กลับมาดู Pain Point คือปัญหาตลาด 3 in 1 มีอะไรบ้าง ก็พบว่าส่วนผสมของกาแฟ 3 in 1 ทั้งน้ำตาลและครีมเทียมเยอะมาก จึงเห็นช่องโหว่ที่จะเข้าไปทำตลาดได้ อย่างแรก คือ Health Concern ของผู้บริโภค จึงมานั่งคิดถึงกาแฟที่อร่อยและดีต่อสุขภาพและต้องแตกต่าง

สิ่งที่นึกถึงคือทำกาแฟที่โลกนี้ไม่มีใครรู้จัก เลยคิดถึง Test Innovation มองว่าเป็น limited Choice ทำ Test ใหม่ที่มาพร้อมกับประโยชน์ และถ้าเป็นกาแฟที่ดื่มแล้วรู้สึกได้เลย เหมือนถั่งเช่า กระชายดำ จะเป็นการตอบโจทย์ เป็นมาร์เก็ตติ้งแนวใหม่ที่ดีกว่าการโฆษณาเพราะผู้ดื่มรู้สึกได้ด้วยตัวเอง และสุดท้ายคือมี Identity มีอัตลักษณ์ความเป็นไทย เพราะอยากทำสินค้าไทยเป็น Global

“ทำ Research อยู่นานมาก ไปดูกาแฟมาเกือบทั่วโลก เห็นว่ามีกาแฟใส่ซินนามอน กาแฟใส่ขิง ใส่โสม แม้แต่ทุเรียนก็มี เลยคิดถึงกาแฟรสเผ็ด เพราะมีบราวนี่พริกที่ฝรั่งเศส มีชาพริกที่อินเดีย แต่กาแฟพริกยังไม่มีคนทำ”

เมื่อค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับพริก พบว่ามีโครงสร้างของสารสำคัญหลายชนิด หนึ่งในนั้นคือ Capsaicin ที่คนทั่วโลกรู้จักดีในอาหารเสริมคื จึงนึกถึง Functional Coffee

“ตอนนั้นคิดแบบโง่ๆ เอาพริกป่นเทคนเข้ากับกาแฟ ผลคือดื่มไม่ได้เลย จึงเอาความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่เรียนเภสัชมา คือแยกสารในพริกที่ต้องการแค่ความเผ็ดและความหอมของพริกเท่านั้น ทำวิจัยอยู่หลายปี นำพริกทุกสายพันธุ์ประมาณ 15-20 สายพันธุ์มาลองทำ สุดท้ายได้พริกขี้หนู มีความหอมและเผ็ดกำลังดีเข้ากับกาแฟ จากนั้นก็ปรับสูตรปรับรสชาติ เติมส่วนผสมอื่นๆ ที่ว่าดี มีทั้งกระบองเพชร ส้มแขก ถั่วขาว ฯลฯ”

เมื่อผลิตภัณฑ์ลงตัว ก็มาเรื่องการทำตลาดซึ่งไม่สามารถอวดสรรพคุณได้ บอกได้แค่ส่วนผสม จึงคิดถึงสโลแกนที่อยากบอกถึงผลิตภัณฑ์ จนได้สโลแกนบนบรรจุภัณฑ์ “Pick a Prikka, Please Yourself” “พริกค่ะ พลีสคุณ”

“พริกค่ะ สไปซี่ คอฟฟี่” เริ่มทำตลาดในประเทศก่อน แต่ตอนนี้มีออเดอร์ตลาดในจีนแล้ว คุณดาวบอกว่ากว่าจะมาถึงวันนี้ ได้หลายหน่วยงานรัฐช่วยสนับสนุนทั้งจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.), สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.)

“ช่วงแรกที่ทำตลาดเรียกว่าเดินสายส่งสินค้าเข้าประกวดตามงานต่างๆ เพื่อสร้างการรับรู้ ได้รับความกรุณาจาก วช. ได้รับเลือกให้เป็นแม่เหล็กของงานวันนักประดิษฐ์ ได้อยู่บน Hall of Fame และยังสนับสนุนให้ส่งผลงานเข้าประกวด Invention Geneva ตอนนั้นคิดว่าไกลเกินเอื้อม เพราะเป็นงานใหญ่และสำคัญที่สุดในโลก เป็นที่รวมนวัตกรรมจากทั่วโลก ก็ได้รับรางวัลเหรียญทอง ประเภทอาหารติดมือมาเมื่อเดือนเมษายน 2561 เป็นสิ่งที่ภาคภูมิใจมาก”

คุณดาวบอกว่า ความโชคดีและการได้รับโอกาสจากภาครัฐยังไม่หมดเพียงเท่านี้ ได้เจอผู้ใหญ่ท่านหนึ่งจากกระทรวงอุตสาหกรรมที่มาเจอกันตามงานประกวด ชักชวนให้ไปเจอนักธุรกิจจากจีนที่มาไทยเพื่อมา Business Matching เป็นระดับประธานหอการค้าของจีน และยังมีเจ้าของบริษัทใหญ่ที่เป็น Importer ติดลำดับ 1 ใน 100 ของจีน ก็ปรากฏว่ากาแฟพริกได้รับเลือก ทำสัญญา 5 ปี และชวนให้ไปร่วมงาน ซิว ไชน่า 2018 ที่นครเซี่ยงไฮ้ ซึ่งถือเป็นงานนวัตกรรมอาหารใหญ่ที่สุดในเอเชีย โดยนักธุรกิจจีนคนนี้เป็นหนึ่งใน Wholesaler ของอาลีบาบา มีออเดอร์ทดลองตลาดล็อตแรกแล้ว 6 แสนซอง เพราะหลังทดสอบตลาดจีนพบว่าเป็นที่นิยม

“แต่ต้องปรับสูตรเป็นกาแฟพริกเพียวๆ ไม่ผสมสมุนไพรต่างๆ และต้องเพิ่มความเผ็ดมากขึ้น มากกว่าหม่าล่า แต่จะเป็นไทยล่า” คุณดาวกล่าวติดตลก และว่า ไต้หวันเป็นอีกตลาดที่มีออเดอร์มาแล้ว 2 แสนซอง แต่จะเป็นกลุ่มเครื่องดื่ม Functional ซึ่งต้องปรับแพคเกจจิ้งซองเป็นแบบญี่ปุ่นที่ชาวไต้หวันนิยม

ถามทิ้งท้ายหลายภาคส่วนสนับสนุน เพราะคุณดาวมีดี

“ภาครัฐช่วยส่งเสริม ส่วนหนึ่งเพราะเห็นความตั้งใจ ถ้าเราไม่ลงมือทำก่อน แล้วใครจะช่วย” เป็นคำตอบสั้นๆ แต่ได้ใจความ

เกษมณี นันทรัตนพงศ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image