ทีโอที ประกาศพร้อมลงทุนเป็นผู้พัฒนาโครงข่าย 5G ของประเทศไทย 

ทีโอที ประกาศพร้อมลงทุนเป็นผู้พัฒนาโครงข่าย 5G ของประเทศไทย  ประเดิม Infrastructure Sharing ทดสอบ 5G Testbed ของกระทรวงดิจิทัลฯ เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมพัฒนาสร้างความสำเร็จให้กับประเทศ

เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศรีราชา ดร.มนต์ชัย หนูสง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทีโอที และนายกสมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทย เปิดเผยถึงโครงการทดสอบการใช้งาน 5G หรือ 5G Testbed ซึ่งทีโอที ได้รับความเชื่อมั่นจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเพื่อดำเนินการโครงการ 5G Testbed ในการขออนุญาตการทดสอบ5G ตลอดจนดำเนินการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและพัฒนาศูนย์ทดสอบ5G โดยมีความร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆ ทั้งสมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ มหาวิทยาลัย ผู้ผลิตอุปกรณ์ และผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมในการร่วมผลักดันทดสอบการนำเทคโนโลยี 5G เพื่อให้ประเทศไทยได้ใช้ประโยชน์จาก 5G ทัดเทียมกับประเทศในภูมิภาคเอเชีย

สำหรับการเปิดทดสอบการใช้งาน 5G Testbed ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศรีราชา ในครั้งนี้  ทีโอที เป็นผู้ให้บริการ Infrastructure Sharing ประกอบด้วย ท่อ เสาโทรคมนาคม สายอากาศ และสถานีฐาน รวมถึงการยื่นเอกสารขอใช้งานคลื่นความถี่เพื่อทดลองทดสอบในคลื่น 5G ใน 3 ย่าน คือ ย่านความถี่ mmWave 24.25 – 27.5 GHz (n258) และ 26.5 – 29.5 GHz (n257) ย่านความถี่ C–band 3.3 – 3.8 GHz (รวม Guard band) และย่านความถี่ 1800 MHz (ความถี่ 1845 – 1880 MHz และ 1750  –  1785 MHz) จำนวน 2×35 MHz ซึ่งยังไม่ได้จัดสรรในปัจจุบัน  ทั้งนี้ ระบบพื้นฐานโทรคมนาคมที่ ทีโอที ได้ดำเนินการติดตั้งที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศรีราชา ในครั้งนี้ ประกอบด้วย Optical fiber จำนวนเส้นทางละ 12 core ติดตั้งที่อาคารศูนย์ปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ อาคารศูนย์ปฏิบัติการวิศวกรรมศาสตร์ อาคารวิทยาศาสตร์ อาคารวิศวกรรมศาสตร์ และติดตั้งเสาโทรคมนาคมที่อาคารศูนย์ปฏิบัติการวิศวกรรมศาสตร์

ดร.มนต์ชัย หนูสง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทีโอที และนายกสมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า โครงการทดสอบการใช้งาน 5G Testbed  ได้นำระบบ Infrastructure Sharing มาทดสอบใช้ ซึ่งปัจจุบันมีการใช้ทั้งในตลาดที่พัฒนาแล้วและตลาดที่กำลังพัฒนา  โดยมีการใช้ Sharing ในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งInfrastructure Sharing จะเป็นประโยชน์ในภาพรวมของประเทศ ลดค่าใช้จ่ายและระยะเวลาในการติดตั้งสามารถขยายโครงข่ายได้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น ส่งเสริมผู้ให้บริการรายใหม่ทั้งเล็กและใหญ่สามารถเข้าสู่ตลาดได้อย่างเป็นธรรมและเท่าเทียมได้มากขึ้น ลดการติดตั้งซ้ำซ้อน ลดรายจ่ายให้กับประชาชนผู้ใช้บริการ สามารถเข้าถึงข้อมูลและเทคโนโลยีขั้นพื้นฐาน เพื่อใช้ในการดำรงชีวิตในสังคมและสร้างอาชีพได้  นอกจากนี้  บริการ 5G ใช้คลื่นความถี่ย่านสูง 26-28 GHz เป็นเหตุให้มีรัศมีให้บริการทางทฤษฎีที่แคบกว่าการให้บริการด้วยคลื่นที่ใช้ในปัจจุบันย่าน 2100 MHz ถึง 100 เท่า และจำเป็นต้องสร้างสถานีฐานเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 10 เท่าเมื่อเทียบกับเทคโนโลยี 3G ซึ่ง Infrastructure Sharing นอกจากจะลดการลงทุนลดการติดตั้งซ้ำซ้อนของประเทศแล้ว ยังส่งผลดีต่อสภาพแวดล้อม โดย ทีโอที มีศักยภาพความพร้อมที่จะเป็นผู้พัฒนาโครงข่าย 5G ของประเทศ ทั้ง

Advertisement

 

 

ด้านเงินทุนความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมที่ครอบคลุมทั่วประเทศ  ประสบการณ์ และบุคลากรที่พร้อมจะเป็นกลไกหลักของรัฐบาลในการขับเคลื่อนเทคโนโลยี 5G เพื่อให้ประเทศไทยได้ใช้ประโยชน์จาก 5G ในการพัฒนาให้ทัดเทียมกับประเทศในภูมิภาคนี้

Advertisement

ทั้งนี้ เทคโนโลยี 5G จุดเด่นคือสามารถรับส่งข้อมูลด้วยความเร็วสูง และมีอุปกรณ์ที่สามารถเชื่อมต่อพร้อมกันจำนวนมากทำให้เกิดบริการใหม่ๆ จำนวนมาก ซึ่ง ITU จัดออกเป็น 3 ประเภทบริการ คือ

1) Enhanced Mobile Broadband (eMBB) ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ชีวิตแบบดิจิตอลและมุ่งเน้นไปที่บริการที่มีความต้องการแบนด์วิดท์สูง เช่น วิดีโอคมชัดสูง (HD), VR และ AR

2) การสื่อสารที่เชื่อถือได้มากและมีความหน่วงต่ำ(uRLLC) ใช้สำหรับอุตสาหกรรมดิจิตอลที่มีความความอ่อนไหวต่อความล่าช้าในการรับส่งข้อมูล เช่น การขับขี่อัตโนมัติ และ การบังคับรถทางไกล

3) การสื่อสารจำนวนมาก (mMTC) อาทิ เมืองอัจฉริยะ (Smart City) และเกษตรอัจฉริยะ (Smart Agriculture)

 

 

 

 

 

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image