จับตาหนี้ครัวเรือนกำเริบ สวนรายได้เพิ่มช้า โจทย์ใหญ่ที่รอรัฐบาลใหม่มาดูแล

หลังจากที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ไปอยู่ที่ 1.75% ในช่วงปลายปี 2561 ด้วยมติ 5:2 เสียง เป็นการเปลี่ยนทิศทางอัตราดอกเบี้ยไทยที่เป็นขาลง และคงอยู่ในระดับต่ำมาเป็นเวลานาน กว่า 3 ปี ไปเป็นทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น ดังนั้น ในนัดแรกของการประชุม กนง. ปี 2562 จึงเป็นที่จับตามองเพราะจะเป็นการส่งสัญญาณอัตราดอกเบี้ยในระยะต่อไป โดย กนง.มีมติคงอัตราดอกเบี้ยที่ 1.75% มติ 4:2 เสียง โดยมีกรรมการ 1 คนลาประชุม

หากพิจารณาผลการประชุม กนง. จะพบว่ามติที่ออกมาไม่ได้เป็นเอกฉันท์ กนง.ยังมีความคิดเห็นไม่ไปในทิศทางเดียวกัน เพราะมีทั้งฝั่งที่สนับสนุนให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพราะเศรษฐกิจยังขยายตัวต่อเนื่องในระดับที่ใกล้เคียงกับศักยภาพ แม้อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะปรับเพิ่มขึ้น แต่ภาวะการเงินโดยรวมจะยังอยู่ในระดับผ่อนคลายช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจ และเพื่อลดความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงิน รวมทั้งสะสมขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน (โพลิซี สเปซ) สำหรับอนาคต และฝั่งที่ต้องการให้คงอัตราดอกเบี้ยไว้ระดับเดิม เพราะนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายในระดับปัจจุบันมีส่วนช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจและสอดคล้องกับกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ

หนี้ครัวเรือนผงกหัวขึ้น

นอกจากปัจจัยต่างประเทศ ทั้งมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีน การขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐและจีน การเจรจาเบร็กซิท ค่าเงินบาทที่แนวโน้มแข็งค่า การประชุมรอบนี้ประเด็นสำคัญ คือ กนง.แต่ละท่านให้น้ำหนักปัจจัยเสี่ยงด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจมากที่สุด โดย ทิตนันทิ์ มัลลิกะมาสŽ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ระบุว่า กรรมการแต่ละท่านมีการให้น้ำหนักปัจจัยต่างๆ ไม่เท่ากัน จากการพิจารณาจากข้อมูล เพราะยังมีความไม่แน่นอนที่อาจจะเกิดขึ้น แต่ในการประชุมรอบนี้ยังให้น้ำหนักเรื่องเสถียรภาพเศรษฐกิจเป็นสำคัญ
ความเปราะบางของเศรษฐกิจไทยยังมีอยู่จากหนี้ครัวเรือนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี) ที่อยู่ในระดับสูง และเริ่มเห็นการปรับตัวสูงขึ้นจากเดิมที่หลายปีก่อนที่เพิ่มขึ้นไปสูงสุดและเริ่มลดลงบ้าง โดยข้อมูลล่าสุด ณ สิ้นไตรมาสที่ 3 ปี 2561 หนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีปรับสูงขึ้นเป็น 77.8% จาก 77.7% ในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2561 เป็นผลมาจากสินเชื่อรถยนต์เป็นหลัก รวมทั้งสินเชื่ออื่นๆขณะที่ในระยะต่อไปภาระหนี้ครัวเรือนอาจจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นหากพิจารณาจากสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ขยายตัวต่อเนื่อง ซึ่งต้องจับตาเพราะอาจจะมีผลต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจได้Ž นายทิตนันทิ์กล่าว

Advertisement

ห่วงหนี้สูงถ่วงบริโภค-ชำระคืน

ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานตัวเลขหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีว่า หนี้ครัวเรือนต่อจีดีพี ณ สิ้นไตรมาสที่ 3 ปี 2561 อยู่ที่ 12.55 ล้านล้านบาท หรือ 77.8% ต่อจีดีพี เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 2 ปี 2561 ที่อยู่ที่ 77.7% ต่อจีดีพี โดยก่อนหน้านี้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีทยอยลดลงต่อเนื่องแต่เป็นการปรับลดลงเชิงเทคนิค เนื่องจากจีดีพีขยายตัวเร็วกว่าการก่อหนี้ โดยการเพิ่มขึ้นของหนี้ครัวเรือน มีการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงปี 2555 หลังเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ และผลจากมาตรการรถยนต์คันแรก ทำให้หนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีสูงสุดช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2558 ที่ 81.1%

อย่างไรก็ตาม ธปท.อธิบายในรายงานนโยบายการเงินเดือนธันวาคม 2561 ว่า หนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีแม้จะลดลงอย่างช้าๆ แต่ยังอยู่ในระดับค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่อื่นๆ และยังไม่มีสัญญาณปรับลดลง (deleverage) ชัดเจนในระยะต่อไป ส่วนความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนบางกลุ่มและธุรกิจขนาดเล็กด้อยลงต่อเนื่อง โดยเฉพาะสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ที่อาจมีการเร่งก่อหนี้ใหม่ในช่วงก่อนการปรับปรุงหลักเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยโดยกำหนดอัตราส่วนสินเชื่อต่อหลักประกัน (มาตรการแอลทีวี) เข้มงวดมากขึ้น จะมีผลบังคับใช้ วันที่ 1 เมษายน 2562 และสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ ที่มาตรฐานการให้สินเชื่อเริ่มผ่อนคลายตามการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น

Advertisement

แนวโน้มรายได้ครัวเรือนชะลอตัว

ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานานมีส่วนเอื้อให้ภาคครัวเรือนก่อหนี้ใหม่เพิ่มขึ้น อาจจะมีผลต่อความเสี่ยงการก่อหนี้สินเกินตัวและมีผลต่อความสามารถในการชำระหนี้ในอนาคต ส่งผลให้ความสามารถของครัวเรือนในการรองรับความผันผวนทางเศรษฐกิจมีจำกัด นอกจากนี้ การก่อหนี้ของภาคครัวเรือนอาจเป็นปัจจัยส่งเสริมให้เกิดภาวะฟองสบู่ในราคาหลักทรัพย์หรือราคาอสังหาริมทรัพย์ได้ หากเป็นการกู้ยืมเพื่อนำไปลงทุนหรือเก็งกำไร รวมถึงจะทำให้เป็นปัจจัยถ่วงต่อการบริโภค คาดการณ์ว่าการบริโภคมีแนวโน้มชะลอลงบ้างในระยะต่อไปจากผลของฐานที่สูงในปี 2561 เพราะหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูงส่งผลให้ครัวเรือนจำเป็นต้องนำรายได้บางส่วนไปชำระหนี้ ด้านรายได้เกษตรกรที่มีแนวโน้มชะลอลงตามทิศทางราคาสินค้าเกษตร และรายได้ของแรงงานบางส่วนที่มีแนวโน้มชะลอลงตามทิศทางการส่งออกสินค้าและบริการ ขณะที่แนวโน้มการใช้เครื่องจักรทดแทนแรงงานในกระบวนการผลิต (ออโตเมชั่น) และอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำทำให้ผู้ประกอบการไม่จำเป็นต้องเพิ่มค่าจ้างมากนัก ส่งผลให้รายได้เฉลี่ยของแรงงานไทยยังอยู่ในระดับต่ำและเป็นปัจจัยกระทบกับกำลังซื้อ

หนี้เสีย4แสนล้าน/บ้าน-รถนำโด่ง

สำหรับคุณภาพสินเชื่อโดยรวมมีทิศทางทรงตัว สะท้อนจากสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ของระบบธนาคารพาณิชย์ ณ ไตรมาส 3 ปี 2561 โดยรวมทรงตัวที่ 2.94% ใกล้เคียงกับไตรมาสก่อนที่ 2.93% โดยมียอดคงค้างเอ็นพีแอลกว่า 4.43 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน 1.25 พันล้านบาท จากสินเชื่อธุรกิจ เอสเอ็มอีเป็นสำคัญ เพราะบางส่วนมีฐานะทางการเงินที่อ่อนแอโดยเฉพาะกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง เช่น ธุรกิจโรงสีข้าว และธุรกิจค้าส่งค้าปลีก โดยความสามารถในการทำกำไร และความสามารถในการชำระดอกเบี้ยของธุรกิจขนาดเล็กบางรายยังติดลบต่อเนื่อง สอดคล้องกับสัดส่วนเอ็นพีแอลของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ซึ่งยังอยู่ในระดับสูงที่ 4.65% และพบว่าสัดส่วนเอ็นพีแอลหมวดสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยยังอยู่ในระดับสูงที่ 3.4% และสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์และบัตรเครดิตเริ่มมีสัดส่วนเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้น โดยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์อยู่ที่ 1.6% และบัตรเครดิตอยู่ที่ 2.5% ส่วนเอ็นพีแอลสินเชื่อบุคคลอยู่ที่ 2.5%

คงดอกเบี้ยไม่เพิ่มภาระหนี้

แม้ว่า กนง.จะปรับดอกเบี้ยขึ้นไปแล้ว แต่ขณะนี้ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ยังไม่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ทั้งดอกเบี้ยเงินกู้รายใหญ่ชั้นดี (เอ็มแอลอาร์) ดอกเบี้ยเงินกู้รายย่อยชั้นดี (เอ็มอาร์อาร์) และดอกเบี้ยวงเงินเบิกเกินบัญชี (เอ็มโออาร์) ขึ้น แม้ว่าจะมีธนาคารขนาดเล็กเริ่มปรับดอกเบี้ยเงินกู้เงินแล้วก็ตามจากต้นทุนการเงินที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้ผู้กู้แม้การผ่อนชำระรายเดือนจะไม่กระทบยอดผ่อนให้สูงขึ้นมากนัก แต่จะทำให้ระยะเวลาการผ่อนชำระนานขึ้น เป็นหนี้นานขึ้น

อย่างไรก็ดี การประชุมนัดแรกของปี 2562 กนง.ยังคงดอกเบี้ยที่ระดับเดิม 1.75% ทำให้ไม่มีแรงกดดันให้ธนาคารพาณิชย์ต้องขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ ดังนั้น ผู้ที่มีหนี้สินอยู่แล้วไม่มีภาระผ่อนชำระที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ผู้ที่ต้องการจะกู้ใหม่ยังได้ต้นทุนการเงินที่ต้นทุนเดิม ซึ่ง นายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการศูนย์วิจัยกสิกรไทย ให้ความเห็นว่า กนง.คงอัตราดอกเบี้ยในระดับ 1.75% มองว่าเป็นผลจากภาพรวมเศรษฐกิจปีนี้ที่ยังมีความไม่แน่นอนจากปัจจัยเสี่ยงที่จะเข้ามากระทบ ทั้งการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น สงครามการค้าสหรัฐและจีน การเจรจาเบร็กซิท อัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำ ทิศทางการส่งออกที่ชะลอตัวในช่วงปลายปีที่ผ่านมา และ กนง.ยังเป็นห่วงเสถียรภาพเศรษฐกิจ แม้จะไม่ใช้อัตราดอกเบี้ยนโยบายในการดูแลภาพรวมแต่ก็มีมาตรการอื่นดูแล อาทิ มาตรการแอลทีวีดูแลสินเชื่อที่อยู่อาศัย ขณะที่การแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น หากยังเห็นสถานการณ์ที่เพิ่มขึ้นอาจจะมีการออกมาปรามบ้าง

“ความกังวลเรื่องหนี้ครัวเรือนของ กนง.นั้น เพราะแม้ที่ผ่านมาระดับหนี้ครัวเรือนที่ลดลงมาบ้าง แต่หากมองโดยรวมระดับหนี้ยังถือว่าอยู่ในระดับสูงที่ 77-78% เทียบกับจีดีพี อาจจะมีแรงกดดันต่อการบริโภคได้ และหากมีผลกระทบกับเศรษฐกิจอาจจะมีผลกระทบต่อการชำระหนี้และกลายเป็นหนี้เสีย อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ปรับคาดการณ์การขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของ กนง. จากเดิมที่คาดว่าจะปรับขึ้น 1 ครั้ง เป็นอาจจะคงดอกเบี้ยที่ระดับ 1.75% ตลอดทั้งปี 2562 ซึ่งจะเป็นผลดีต่อธุรกิจและประชาชนที่จะยังมีต้นทุนการกู้ยืมเท่าเดิม เพราะหาก กนง.ไม่ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ธนาคารพาณิชย์ก็ไม่มีแรงกดดันจะต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้”Ž นายเชาว์ กล่าว

เล็งกำหนดมาตรฐานหนี้ต่อรายได้

ฟากสมาคมธนาคารไทยอยู่ระหว่างการหารือกับธนาคารสมาชิก และ ธปท. เพื่อหาแนวทางกำหนดมาตรฐานของภาระหนี้ต่อรายได้ (Debt Service Ratio) หรือดีเอสอาร์ (DSR) ให้มีนิยามหรือคำจำกัดความตรงกัน เพราะปัจจุบันแต่ละธนาคารมีคำจำกัดความไม่เหมือนกัน และใช้หลักเกณฑ์การพิจารณาไม่เหมือนกัน และที่ผ่านมาเห็นการแข่งขันการปล่อยสินเชื่ออาจจะมีการให้สินเชื่อกับกลุ่มที่เสี่ยงมากขึ้นหรือมีภาระหนี้ที่สูงอยู่แล้วไปด้วย คาดว่าจะมีความชัดเจนในช่วงกลางปี 2562 เพื่อให้มีมาตรฐานกลางและทำให้ธนาคารสามารถพิจารณาความเสี่ยงได้ดีขึ้น หรือหากผู้กู้มีดีเอสอาร์สูงเกินระดับใดอาจจะพิจารณาไม่ปล่อยกู้เพื่อไม่ให้ผู้กู้มีภาระหนี้มากเกินตัว ซึ่งอาจจะเข้ามาช่วยลดทอนการเพิ่มขึ้นของหนี้ครัวเรือนได้ในระยะต่อไป

ดึงหนี้นอกระบบเข้าในระบบ

ขณะที่นางอภิพันธ์ เจริญอนุสรณ์ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ ให้ความเห็นว่า หากสถานการณ์หนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นมาบ้างเป็นผลจากการที่มีประชาชนสามารถเข้าถึงบริการการเงินและสินเชื่อได้น่าจะเป็นเรื่องที่ดีต่อสังคมและเศรษฐกิจ เพราะหากประชาชนไปใช้บริการหนี้นอกระบบการคิดอัตราดอกเบี้ยจะสูงกว่าในระบบมาก สำหรับในระบบหากเป็นสินเชื่อบุคคลคิดดอกเบี้ยเพียง 28% ต่อปี และนาโนไฟแนนซ์ 36% ต่อปี โดยกลยุทธ์สินเชื่อที่ไม่มีหลักประกันของธนาคารจะมีการขยายสินเชื่อให้กับกลุ่มลูกค้าที่เคยใช้บริการธนาคารอื่นแต่ยังไม่เคยใช้บริการธนาคาร และกลุ่มลูกค้าที่ยังเข้าไม่ถึงธนาคารมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าในตลาดที่อาจจะไม่มีรายการเดินบัญชี มีการส่งเสริมให้รับชำระเงินด้วยคิวอาร์โค้ดผ่านแม่มณีเพื่อให้เห็นธุรกรรมการซื้อขาย หรือในกรณีตลาด ได้มีการศึกษาพฤติกรรมพ่อค้าแม่ค้าจากเจ้าของตลาด ทำให้ได้ข้อมูลพ่อค้าแม่ค้าที่ค้าขายจริงและต้องการสินเชื่อ นอกจากนี้ การขยายสินเชื่อผ่านช่องทางออนไลน์คาดว่าจะทำให้ลูกค้าเข้าถึงบริการของธนาคารได้มากขึ้น เพราะต่อไปคงไม่มีลูกค้าที่อยากไปสาขา หรือกรอกเอกสารจำนวนมาก

สำหรับกรณีที่จะมีการกำหนดมาตรฐานดีเอสอาร์นั้น ปัจจุบันธนาคารมีหลายผลิตภัณฑ์โดยการพิจารณาสินเชื่อแล้วแต่ผลิตภัณฑ์ บางผลิตภัณฑ์ให้ดีเอสอาร์ 60-70% แต่ถือว่าต่ำหากเทียบกับบางธนาคารที่มีการให้ถึง 100% ทั้งนี้ แม้ว่าธนาคารจะมีการให้ดีเอสอาร์สูง แต่ธนาคารมีการคิดค่าความเสี่ยงที่ยอมรับได้ (Risk Appetite) ที่เหมาะสม อย่างไรก็ตาม มองว่าระดับดีเอสอาร์ที่เหมาะสมน่าจะกำหนดกันที่ 50% แต่ต้องรอความชัดเจนทางการก่อน เชื่อว่าหากมีการกำหนดมาตรฐานออกมาให้เหมือนกันการพิจารณาสินเชื่อและการดูแลความเสี่ยงของสินเชื่อทำได้ดีขึ้น ด้านคุณภาพสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกันของธนาคารขณะนี้ยังไม่มีอะไรที่ส่งสัญญาณว่าคุณภาพจะแย่ลง เอ็นพีแอลยังต่ำและมีการตั้งสำรองค่าหนี้เผื่อสงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพไว้แล้ว

แก้กม.เปิดทางจัดการหนี้นอนแบงก์

น.ส.ณญาณี เผือกขำ กรรมการผู้จัดการ กรุงศรีคอนซูเมอร์ ในเครือธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงมีการพูดถึงมาก่อนหน้านี้และ ธปท.ได้เข้ามากำกับดูแลสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน ทั้งสินเชื่อบุคคลและบัตรเครดิต เพราะเป็นสินเชื่อที่เข้าถึงได้ง่าย ซึ่งปัจจุบันคุณภาพสินเชื่อของกลุ่มนี้ปรับดีขึ้น ทั้งนี้ ที่ผ่านมามีโครงการคลินิกแก้หนี้ บริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด (บสส.) เป็นผู้ดำเนินโครงการ ซึ่งให้ลูกค้าที่เป็นหนี้เสียตั้งแต่ 2 ธนาคารขึ้นไปเข้ามาแก้ปัญหาหนี้สิน ล่าสุด ได้มีการแก้ไขกฎหมายให้ บสส.สามารถบริหารสินเชื่อจากสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร (นอนแบงก์) ได้แล้ว ซึ่งคาดว่าจะมีลูกหนี้ของนอนแบงก์ที่มีปัญหาหนี้เสียสามารถเข้ามาแก้ไขปัญหาหนี้เสียได้และทำให้ปลดภาระหนี้สินลงไปได้

ด้านผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ นายอุทัย อุทัยแสงสุข ประธานผู้บริหารสายงานปฏิบัติการ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง และภาระหนี้ต่อรายได้ของผู้กู้จะมีผลต่อการขอกู้สินเชื่อจากธนาคาร หากมีภาระหนี้สูงธนาคารอาจจะปฏิเสธการขอสินเชื่อได้ (รีเจค) อย่างไรก็ตาม ปีนี้ แสนสิริมีการหันมาพัฒนาโครงการจะเน้นตลาดราคาระดับกลางและระดับราคาที่เข้าถึงได้เพิ่มมากขึ้น หรือเฉลี่ย 60,000-100,000 บาทต่อตารางเมตร หรือราคาเริ่มต้น 1-5 ล้านบาทต่อยูนิต ซึ่งคอนโดมิเนียมจะมีระยะเวลาให้ลูกค้าเตรียมตัวในช่วงผ่อนดาวน์ ประมาณ 2 ปี ช่วงก่อนโอนกรรมสิทธิ์บริษัทจะมีการพรีแอพพรูพลูกค้าก่อนซื้อรวมทั้งมีสถาบันการเงินมาทำงานร่วมกันเพื่อให้คำปรึกษาและเตรียมความพร้อมให้กับลูกค้าให้สามารถโอนกรรมสิทธิ์ได้

ปัญหาหนี้ครัวเรือนถือว่าเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจไทยที่จะต้องใช้เวลาในการแก้ไขในระยะยาว ขณะนี้แม้ ธปท.จะมีมาตรการแมคโครพรูเด็นเชียลออกมากำกับดูแลสินเชื่อจะสามารถดูแลได้เฉพาะในกำกับของ ธปท.เท่านั้น ทั้งนี้ หนี้ครัวเรือนที่เห็นขณะนี้เป็นเฉพาะหนี้ในระบบที่มองเห็นในส่วนหนี้นอกระบบที่มองไม่เห็นคาดว่าจะมีขนาดใหญ่อีกเช่นกัน ถือเป็นความท้าทายในการแก้ไขปัญหาท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่มีความท้าทายและยังไม่ชัดเจนทั้งต่างประเทศและในประเทศที่กำลังจะมีการเลือกตั้ง ซึ่งการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนเป็นโจทย์ใหญ่ที่รอรัฐบาลใหม่อยู่

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image