“อดีตขุนคลัง”เรียกร้องรัฐบาลใหม่ตรวจสอบสัญญาแหล่งเอราวัณ ประเทศได้ประโยชน์สูงสุดหรือไม่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อวันที่ 25 ก.พ.2562 นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวกรณีที่กระทรวงพลังงานได้ลงนามการประมูลแหล่งปิโตรเลียมในทะเล 2 แหล่งคือแหล่งบงกชและเอราวัณ โดยระบุว่า “ประวัติมูบาดาลาบอกอะไรระหว่างนักการเมืองไทยกับรัฐบาลทหาร?”

ในวันนี้ กระทรวงพลังงานได้ลงนามสัญญาแบ่งปันผลผลิตกับบริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ร่วมกับบริษัท เอ็มพี จี2 (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ได้รับสัมปทานสำหรับแปลงสำรวจปิโตรเลียมในอ่าวไทยหมายเลข G1/61 (แหล่งเอราวัณ) บริษัท เอ็มพี จี2 (ประเทศไทย) จำกัด เป็นบริษัทในกลุ่มมูบาดาลา ซึ่งเป็นกิจการของรัฐอาบูดาบี

ประวัติของรัฐอาบูดาบีที่เข้ามาทำธุรกิจพลังงานในไทย เริ่มต้นย้อนกลับไปที่นายอัลฟาเยด ซึ่งเป็นเจ้าของห้างหรูแฮร์รอดส์ที่กรุงลอนดอนข่าวว่ามีอดีตนายกฯเป็นผู้ชักชวนเข้ามา และมีความใกล้ชิดกัน

นายอัลฟาเยดเป็นเจ้าของสโมสรฟุตบอลฟุลแฮม และข่าวระบุว่า เป็นผู้ที่ช่วยในการติดต่อซื้อสโมสรฟุตบอลให้แก่อดีตนายกฯ

Advertisement

นายอัลฟาเยดจัดตั้งบริษัทแฮร์รอดส์เอ็นเนอร์ยี และซื้อต่อสัมปทานจากบริษัทเท็กซาโก้ของสหรัฐและจาก ปตท.สผ. แต่ภายหลังนายอัลฟาเยดมีปัญหามางการเงิน จึงขายบริษัทแฮร์รอดส์เอ็นเนอยีไปให้แก่กลุ่มมืออาชีพชาวอังกฤษ เปลี่ยนชื่อเป็นเพิร์ลออย

มีการประกาศสัมปทานรอบที่ 19 เมื่อวันที่ 1 ก.ค. 2548

ก่อนหน้าประกาศหกเดือน ก็มีบุคคลใกล้ชิดกับอดีตนายกฯ ไปจัดตั้งบริษัท ด้วยทุนเพียง 2.4 ล้านบาท ใช้ชื่อหรูหรา ฟังคล้ายจะเป็นเครือของบริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่ในสหรัฐ แต่แท้จริงไม่เกี่ยวกัน และไม่เคยทำธุรกิจสำรวจและผลิตผิโตรเลียมมาก่อน เนื่องจากเพิ่งตั้งสดๆร้อนๆ

Advertisement

ภายหลังประกาศหกเดือน บุคคลที่ใกล้ชิดกับอดีตนายกฯ ก็จัดตั้งอีกบริษัทหนึ่ง ด้วยทุนชำระแล้วเพียง 25 ล้านบาท ใช้ชื่อหรูหรา ฟังคล้ายจะเป็นเครือของบริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่ในสหรัฐอีกเช่นกัน แต่แท้จริงไม่เกี่ยวกัน และไม่เคยทำธุรกิจสำรวจและผลิตผิโตรเลียมมาก่อน เนื่องจากในวันที่ประกาศสัมปทานรอบที่ 19 บริษัทยังเป็นวุ้นอยู่เลย

ทั้งสองบริษัทยื่นขอสัมปทานก่อนการปฏิวัติ แต่ยังไม่ทันอนุมัติ ก็เกิดปฏิวัติเสียก่อน

หลังการปฏิวัติ รัฐบาลทหารอนุมัติสัมปทานให้แก่สองบริษัทนี้(ร่วมกับบริษัทเล็กจากมาเลเซียอีกหนึ่งราย) เป็นเนื้อที่กว้างขวางถึง 6% ของพื้นที่ประเทศไทย

ทั้งนี้ สำหรับทุนที่ต้องใช้เจาะหลุมสำรวจจริงๆนั้น ตกประมาณ 1.5-2 ล้านดอลลาร์ต่อหนึ่งหลุม เมื่อเทียบกับพื้นที่ 6% ดังกล่าว ทุนที่มีอยู่จึงใช้ได้แค่เพียงตกแต่งใบหน้าเท่านั้น

อีกด้านหนึ่ง รัฐอาบูดาบีก็สนใจเข้ามาทำธุรกิจพลังงานในไทยเช่นกัน ข่าวว่า มีอดีตนายกฯเป็นผู้ชักชวน

รัฐอาบูดาบีเริ่มทำธุรกิจในไทย โดยจัดตั้งบริษัทมูบาดาลา และซื้อต่อสัมปทานจากเพิร์ลออย ต่อมาเปลี่ยนใจ แทนที่จะซื้อทีละสัมปทาน เปลี่ยนเป็นซื้อเหมาทั้งบริษัทไปเลย ตามแนวทางของรัฐผู้มีเงินทุนหนัก โดยทำการ takeover ในตลาดหุ้นสิงค์โปร(ก่อนหน้าการประกาศรอบที่ 19 เพียงหกเดือน)

ย้อนกลับไปที่สองบริษัทขนาดเศษจิ๋ว ที่รัฐบาลปฏิวัติใจดี มอบพื้นที่ให้สัมปทานปิโตรเลียมแบบขนาดอภิมหายักษ์ หกเดือนภายหลังได้สัมปทาน ก็ขอขายสัมปทาน 60% ให้แก่เพิร์ลออย ซึ่งรัฐบาลปฏิวัติก็อนุมัติการโอน ทั้งที่บางคนจะวิจารณ์ว่า ดูยังไงๆ ก็มีทีท่าเหมือนเป็นการจับเสือมือเปล่า

ประธานบริษัทแม่ของเพิร์ลออย คือลูกชายคนที่สองของเจ้าผู้ปกครองรัฐอาบูดาบี เป็นผู้ซื้อสโมสรฟุตบอลไปในราคาหนึ่งหมื่นล้านบาท ทั้งที่นิตยสาร Forbes ซึ่งตีราคาสโมสรชั้นนำทุกปี เพิ่งจะตีราคาไว้เพียงห้าพันล้านบาท

ในข่าว ispace นายสรรเสริญ สมะลาภา เขียนลงเฟซบุ๊กส่วนตัวไว้อย่างน่าสนใจว่า

‘การซื้อสโมสรฟุตบอลนั้นไม่ใช่ซื้อแบบธรรมดา เพราะทักษิณซื้อมา 5,000 ล้าน แต่ขายให้ชีค มานซูร์ 10,000 ล้าน ทั้งๆ ที่บริหารมาประมาณ 1 ปี ขาดทุนเพิ่ม 1,700 ล้าน และมีหนี้เพิ่ม 3,900 ล้าน – อย่างนี้ไม่เรียกว่าต่างตอบแทนแล้ว จะเรียกว่าอะไร’

ถามว่า บทเรียนในอดีตสอนอะไรแก่เหตุการณ์ปัจจุบัน?

ประชาชนคนไทยจะประมาทความสามารถในการเจรจาหลังฉากของรัฐบาลปฏิวัติไม่ได้เด็ดขาด

ถามว่า การที่รัฐสละสิทธิที่จะเข้าไปร่วมถือหุ้น 25% นั้น คิดเป็นผลประโยชน์เท่าใด?

ถ้าใช้ตัวเลขคร่าวๆ แหล่งเอราวัณผลิตก๊าซปีละหนึ่งแสนล้านบาท ถ้าสัญญา 30 ปี ก็มีมูลค่า 3 ล้านล้านบาท

ตามรูปข้างล่าง การที่รัฐไม่ใช้สิทธิร่วมลงทุน จะทำให้ผลประโยชน์ของมูบาดาลาเพิ่มขึ้น จาก 30% เป็น 40% คือเพิ่มขึ้น 10%

ผลประโยชน์ที่เพิ่มขึ้น 10% หรือ 3 แสนล้านบาทนั้น นับว่าไม่น้อยเลย สำหรับดีลนี้

และ ปตท.สผ. ยังได้ส่วนแบ่งเพิ่มอีกด้วย จาก 45% เป็น 60% คือเพิ่มขึ้น 15%

ผลประโยชน์ที่เพิ่มขึ้น 15% คิดเป็นมูลค่าถึง 4.5 แสนล้านบาททีเดียว และยังจะได้จากแหล่งบงกชอีกโสดหนึ่ง

ถามว่า ถ้าผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะต้องการให้รัฐบาลหน้า มีโอกาสตรวจสอบความถูกต้องของสัญญานี้ จะต้องเลือกอย่างไร?

ผมเองเห็นว่ารัฐบาลในอนาคตมีความจำเป็นต้องตรวจสอบเพื่อให้แน่ใจว่า ประเทศชาติและประชาชนโดยรวมได้ประโยชน์สูงสุดจริงหรือไม่

แต่วิธีจะให้มีการตรวจสอบได้นั้น คงจะต้องเลือกในลักษณะที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริงเท่านั้น

วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2562

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image