เฉลียงไอเดีย : ธุรกิจออนไลน์โต โลจิสติกส์ไทยแข่งเดือด ‘ไปรษณีย์ไทย’เร่งปรับตัว..ชิงตลาดคืน ทุ่มงบจัดเต็มเทคโนฯ..สู่โลก 4.0

รถส่งพัสดุที่แล่นอยู่กลางท้องถนนกันอย่างขวักไขว่ ชี้ให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของตลาดออนไลน์ที่โตวันโตคืน และผลดีต่อ “ธุรกิจขนส่ง” หรือ “โลจิสติกส์” ที่มีเม็ดเงินไหลเข้าอย่างไม่หยุดหย่อน มียอดทะลุ 200,000 ล้านบาท เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยเฉพาะการจัดส่งพัสดุด่วนประเภทถึงมือผู้รับภายใน 1-2 วันนั้น มีมูลค่าทางการตลาดไม่ต่ำกว่า 30,000 ล้านบาท

ฉะนั้น จึงไม่แปลกใจที่จะมีผู้เล่นหน้าใหม่กระโจนเข้าสู่ตลาดนี้กันไม่ขาดสาย และนับวันจะแข่งขันดุเดือดเลือดพล่านมากขึ้นทุกที ทำให้ “ไปรษณีย์ไทย” รัฐวิสาหกิจอายุ 100 กว่าปี ที่เดิมมีส่วนแบ่งทางการตลาดสูงลิ่ว และ “เคอร์รี่” (Kerry) ที่ข้ามน้ำข้ามทะเลมาบุกทำธุรกิจได้ 10 ปีแล้ว ซึ่งทั้ง 2 รายกินรวบตลาดไปมากกว่า 80%

หรือผู้เล่นรายใหม่ ที่พกความมั่นใจมาเต็มกระเป๋า อาทิ “เอสซีจี เอ็กซ์เพรส” ที่เกิดขึ้นด้วยความร่วมมือของเอสซีจี ยักษ์ใหญ่ด้านวัสดุก่อสร้างของไทย กับยามาโตะ เอ็กซ์เพรส เบอร์ 1 ขนส่งสินค้าในญี่ปุ่น และ “ซีเจ โลจิสติกส์” เบอร์ 1 ในเกาหลีใต้ด้วยส่วนแบ่งถึง 50% ก็เข้ามาชิงเค้กด้วย โดยวางแผนขอส่วนแบ่งของผู้เล่นรายใหญ่ ถึง 15% และรายก่อนหน้า “แฟลช เอ็กซ์เพรส” ที่มีทุนจีนอยู่เบื้องหลังถือหุ้น 30%

Advertisement

นอกจากนี้ ยังมีผู้เล่นรายใหม่แจ้งเกิดในวงการอย่างเป็นทางการ คือ “เบสท์ เอ็กซ์เพรส” ซึ่งเป็นชื่อที่ทำตลาดในเมืองไทย โดยเป็นการเข้ามาของ “เบสท์ กรุ๊ป” หนึ่งในยักษ์ใหญ่ด้านโลจิสติกส์ของจีน ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2007 โดย จอห์นนี่ ซูว ซึ่งมีประสบการณ์เคยดำรงตำแหน่งรองประธานกูเกิลในจีน ปัจจุบันขยายออกไป 16 ประเทศทั่วโลก ตั้งแต่จีน อเมริกา เยอรมนี ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เกาหลี จนมาถึงแห่งล่าสุดที่ไทย

และก่อนหน้านี้ได้เห็นบริการ “ไลน์แมน” กระโจนลงสู่สนามจัดส่งพัสดุ อีกทั้งเซเว่นอีเลฟเว่นก็กระโจนลงมาร่วมวงดนตรีสามช่าด้วยบริการ “สปีดดี 24 ชั่วโมง” โดยอาศัยจุดแข็งเครือข่ายร้านเซเว่นอีเลฟเว่นกว่า 12,000 แห่งที่กระจายอยู่ทั่วประเทศที่ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง แล้วล่าสุด “แฟลช เอ็กซ์เพรส” ที่ลงสู่สนาม โดยการเปิดตัวการบริการเหนือเมฆ จัดส่งถึงมือผู้รับทั้งในกรุงเทพฯ และปริมณฑลภายใน 1 วัน โดยคว้า ติ๊ก-เจษฎาภรณ์ ผลดี มาเป็นพรีเซ็นเตอร์ หวังให้บริการใหม่ดังกระหึ่ม

ปีนี้มีเทรนด์โลจิสติกส์ที่จะเกิดขึ้นใหม่ ได้แก่ 1.บริการรับฝากพัสดุและมารับสินค้าได้ตามจุดบริการ 2.การบริการขนส่งพัสดุภายในวันเดียว 3.การชำระเงินปลายทาง ยังคงแบบใหม่ คือ บริการเก็บเงินปลายทางผ่านคิวอาร์โค้ด หรือเรียกว่าคิวอาร์ซีโอดี จากปัจจุบันชำระเงินเป็นวอลเลตซีโอดี 4.ฟู้ดดิลิเวอรี่ ที่จะขยายจากกรุงเทพฯ และหัวเมืองหลัก ไปต่างจังหวัดมากขึ้น 5.บริการขนส่งของเย็น เช่น ไอศกรีม 6.การใช้บิ๊กดาต้า อนาไลติกส์ และเอไอ เข้ามาช่วยวิเคราะห์พฤติกรรมของลูกค้าว่า มีการสั่งซื้อสินค้ารูปแบบไหน และความต้องการใช้บริการเพื่อช่วงชิงลูกค้า 7.ระบบบริหารและจัดการคลังสินค้าขยับไปสู่ไมโคร ฟูลฟิลเมนต์ หรือให้บริการคลังสินค้ารายย่อยในต่างจังหวัด 8.การเกิดแอพพลิเคชั่นโลจิสติกส์มากขึ้น และ 9.ขนส่งพัสดุระหว่างประเทศจากการขายแพลตฟอร์มมาร์เก็ตเพลส

Advertisement

สร้างความระส่ำให้กับ “ไปรษณีย์ไทย” อย่างมาก จึงต้องทะลึ่งตัวเองขึ้นมาให้พ้นจากการที่เป็นเพียงฝ่ายตั้งรับ เปลี่ยนเป็นฝ่ายรุก เพื่อรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดให้ไม่ต่างไปจากเดิมมากนัก ทั้งนี้ ว่ากันว่าพื้นที่ที่มีการแข่งขันกันอย่างดุเดือดชนิดสู้ยิบตา พื้นที่หนึ่ง คือ ภาคตะวันออก ที่อาจจะได้รับอานิสงส์มาจากโครงการพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)

และเพื่อคงแชร์ในสัดส่วนสูงๆ “ไปรษณีย์ไทย” ได้ใช้งบประมาณราว 278 ล้านบาท นำเข้า “เครื่องคัดแยกซองขนาดใหญ่” จากประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อทำการคัดแยกสิ่งของประเภทซองขนาดใหญ่ไม่เกิน 35 มิลลิเมตร ซึ่งเครื่องคัดแยกซองนี้ สามารถคัดแยกสิ่งของได้ประมาณ 8,000 ชิ้นต่อชั่วโมง โดยตั้งอยู่ที่ศูนย์ไปรษณีย์ศรีราชา และศูนย์ไปรษณีย์นครราชสีมา

ยังไม่พอ ใช้งบประมาณอีก 512 ล้านบาท นำเข้า “เครื่องคัดแยกกล่อง” จากเนเธอร์แลนด์ สามารถคัดแยกสิ่งของประเภทกล่องหรือซองขนาดใหญ่ และน้ำหนักต่อชิ้นไม่เกิน 30 กิโลกรัม ได้ประมาณ 9,000 ชิ้นต่อชั่วโมง ตอบสนองปริมาณงานที่ศูนย์ไปรษณีย์ศรีราชา มีอยู่ที่ 500,000-700,000 ชิ้นต่อวัน แบ่งเป็น อีเอ็มเอส จำนวน 120,000 ชิ้น, ลงทะเบียน 80,000 ชิ้น, พัสดุไปรษณีย์ 6,000 ชิ้น และจดหมายและสิ่งตีพิมพ์ 400,000 ชิ้น

อีกทั้งมีการพัฒนาศักยภาพพนักงานส่งให้ขึ้นเป็น “สปาย เดอะ แมน” รับหน้าที่ทั้งจ่ายพัสดุ ขาย และรับสินค้า ซึ่งเล็งเห็นถึงจุดแข็งของพนักงานส่งไปรษณีย์ว่า เป็นผู้ที่เข้าถึงทุกพื้นที่ และรู้จักพื้นที่ดีอยู่แล้ว รู้ว่าบ้านใดมีสินค้าอะไร รู้ว่าบ้านไหนแม้ไม่มีหน้าร้าน แต่ก็สามารถเปิดจุดอี-คอมเมิร์ซได้ และเชื่อว่า กลยุทธ์ใหม่เอี่ยมนี้ จะสามารถดึงลูกค้าเก่ากลับมาจากคู่แข่งได้อย่างน่าพอใจ อีกทั้งเป็นกลยุทธ์เชิงรุกเพื่อไม่ให้คู่แข่งเติบโต

ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด นายมูซาคาน เดเช เล่าว่า แนวโน้มพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่นิยมการซื้อสินค้าทางออนไลน์มากขึ้น ทั้งผ่านแอพพลิเคชั่น เว็บไซต์ รวมถึงการไลฟ์สดผ่านเฟซบุ๊ก ขณะเดียวกันมีความต้องการความรวดเร็ว “ไปรษณีย์ไทย” จึงตั้งทีมเคลื่อนที่ ทำธุรกิจเชิงรุก ด้วยการเข้าไปรับสินค้าถึงบ้านหรือร้านค้า เป็นผู้รับชำระเงินปลายทาง และนำค่าสินค้ามาส่งให้กับผู้ขายภายในวันเดียวกัน รวมถึงขยายเวลาให้บริการถึง 2-4 ทุ่มในบางพื้นที่เพื่อสนองความต้องการผู้บริโภค และล่าสุดได้ขยายสาขาผ่านเครือข่ายปั๊มน้ำมัน ปตท. และบางจาก

นอกจากนี้ กระทรวงดีอีได้มอบหมายให้ “ไปรษณีย์ไทย” พัฒนาแอพพลิเคชั่น และติดตั้งระบบ ซื้อขายสินค้าออนไลน์ และกระจายสินค้านำส่งไปยังผู้ซื้อทั่วประเทศ หรือพีโอเอส ให้ครบ 5,000 จุด ที่สามารถจัดการบริหารร้านค้าปลีกในชุมชนผ่านระบบร้านค้าออนไลน์ ระบบอี-เพย์เมนต์ และระบบ อี-โลจิสติกส์ ให้กับร้านค้าชุมชนที่เข้าร่วมโครงการ ปัจจุบันดำเนินการไปแล้วประมาณ 200 จุด โดย “ไปรษณีย์ไทย” จะเข้าไปติดตั้งระบบพีโอเอส สำหรับร้านค้าชุมชนที่มีความพร้อมให้เชื่อมต่อกับเน็ตประชารัฐ ส่งเสริมให้คนในชุมชนนำสินค้าที่ผลิตได้มาวางจำหน่ายในร้านค้าชุมชน สอนการทำเว็บไซต์ให้เพื่อเชื่อมต่อกับเว็บไซต์ Thailandpostmart.com อี-มาร์เก็ตเพลส ร้านค้าออนไลน์สินค้าชุมชนขนาดใหญ่

อดีตนายกสมาคมขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ไทย นายสัญญวิทย์ เศรษฐโภคิน คาดว่า แนวโน้มธุรกิจโลจิสติกส์ปี 2562 จะอยู่ในระดับที่ทรงตัว และจะไม่แย่ไปกว่าช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ปัจจัยที่จะเข้ามาช่วยเสริมให้ธุรกิจนี้ขยายตัวดีขึ้น คือนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่หลังการเลือกตั้ง

การแข่งขันในธุรกิจ ที่คล้ายการแข่งขันกีฬาสี จำเป็นต้องมีกลยุทธ์การสร้างความได้เปรียบด้านต้นทุน และความแตกต่างเป็นเรื่องสำคัญ นี่คือ “โลจิสติกส์โลกอนาคต”… ยุคไทยแลนด์ 4.0

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image