รายงานหน้า 2 : ‘สมคิด’ โชว์ 4 โอกาส ศก.ไทย มั่นใจ ‘บิ๊กตู่’ กลับมาสานต่อ

หมายเหตุ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ ปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “ปีแห่งการลงทุน : เปลี่ยนความท้าทายให้เป็นโอกาส” ในงานสัมมนา “Thailand Investment Year-What’s New?” จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ที่ห้องรอยัลจูบิลี่ บอลรูม อิมแพค เมืองทองธานี เมื่อวันที่ 4 มีนาคม


ในฐานะรองนายกฯที่ดูแลเศรษฐกิจ ทุกครั้งที่สำนักงานบีโอไอจัดงานสัมมนา เราจะมีจุดมุ่งหมายชัดเจนที่จะแสดงความเคลื่อนไหวของไทยให้กับนักลงทุนได้เห็น ซึ่งปี 2562 นี้ แสดงให้เห็นว่าไทยมีศักยภาพและสามารถไปสู่จุดที่ดีกว่านี้ได้ ทั้งในเชิงคุณภาพทางเศรษฐกิจ ด้วยการเน้นเรื่องการปฏิรูปประเทศ ทั้งโครงสร้างพื้นฐาน พัฒนาดิจิทัล พัฒนาภาคการผลิตและการดำเนินงานให้มีมูลค่าเพิ่มด้วยเทคโนโลยีและฐานความรู้ เพื่อขยายไปสู่ชุมชนและทั่วโลก มีส่วนร่วมในการพัฒนาเพื่อเตรียมเข้าสู่ยุคดิจิทัลที่จะครอบคลุมเรื่องการซื้อขายและการจ้างงานในอนาคต

ในปี 2562 แม้เศรษฐกิจโลกยังไม่สดใสนัก ประเทศต่างๆ กำลังเผชิญความท้าทาย และนักลงทุนอาจได้รับผลกระทบบ้าง แต่เชื่อว่าสิ่งดีๆ จะเกิดขึ้นหลังการเลือกตั้ง

ข้อดีของการเลือกตั้งคือประชาชนจะเข้าสู่การเป็นประชาธิปไตย ส่วนนักลงทุนทั่วโลกกังวลว่าสิ่งดีๆ ที่ผ่านมาจะมีการสานต่อหรือไม่ รัฐบาลชุดใหม่จะทำงานที่สนับสนุนเอกชนหรือไม่ แต่มั่นใจว่าไทยจะประคองเศรษฐกิจให้เติบโตได้แน่นอน ซึ่งเป็นผลจากสิ่งต่างๆ ที่รัฐบาลดำเนินการมาในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา และเห็นผลเป็นรูปธรรมแล้ว โดยเฉพาะโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งยังเป็นที่สนใจและได้รับการยอมรับจากนักลงทุนทั่วโลก เห็นได้จากการลงทุนจากต่างประเทศในปีที่ผ่านมาในพื้นที่อีอีซีที่เพิ่มขึ้นกว่า 100%

Advertisement

การสานต่อโครงการอีอีซี ซึ่งที่ผ่านมามีการพัฒนามาโดยตลอด เราจะไม่ยอมให้มันสูญหาย และจะคงนโยบายนี้เพื่อผลักดันและพัฒนาไปสู่จุดหมายที่รัฐบาลนี้หวังไว้ สิ่งเหล่านี้เป็นสไตล์การทำงานของท่านนายกฯ (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) อยู่แล้ว รอเพียงวันเลือกตั้งเท่านั้น

หากถามว่ามั่นใจไหมว่าท่านนายกฯจะได้กลับมาดำรงตำแหน่ง ผมจะบอกให้ ท่ามกลางการขายฝันลมๆ แล้งๆ เต็มไปหมด ซึ่งสิ่งที่รัฐบาลนี้กำลังทำและพัฒนาเป็นของจริงและเป็นรูปธรรม คนไทยไม่โง่ มีตา มีสมอง

ฉะนั้นผมมั่นใจเป็นอย่างยิ่งว่าท่านนายกฯจะได้กลับมา และจะกลับมาสานต่อการพัฒนาเหล่านี้ให้กับประเทศไทย ซึ่งประชาชนทุกคนจะต้องมีส่วนร่วมในการสร้างอนาคตประเทศไทยในวันข้างหน้าอย่างแน่นอน

Advertisement

ส่วนความท้าทายที่เปลี่ยนเป็นโอกาสของประเทศไทยในปี 2562 มี 4 ประการ
ประการแรก คือเศรษฐกิจไทยมีความเข้มแข็งอย่างต่อเนื่องในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา เห็นได้จากดัชนีทางเศรษฐกิจในปี 2561 ที่ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) เติบโตที่ 4.1% อัตราเงินเฟ้อ 1% ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลกว่า 7% ของจีดีพี เงินสำรองระหว่างประเทศสะสมกว่า 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐ และหนี้สาธารณะต่อจีดีพีต่ำกว่า 45% ขณะที่ภาคการเงิน ประเทศไทยมีความแข็งแกร่ง ภาวะตลาดทุนโดดเด่นกว่าทุกตลาดในอาเซียน

แม้ว่าประเทศไทยจะพึ่งพาการส่งออกต่อจีดีพีสูงกว่า 70% แต่จากการเร่งขับเคลื่อนโครงการลงทุนทั้งภาครัฐและการใช้จ่ายของภาคประชาชน ประกอบกับรายได้จากการท่องเที่ยวที่ขยายตัวด้วยจำนวนนักท่องเที่ยวกว่า 40 ล้านคนเมื่อปี 2561 สร้างรายได้เข้าประเทศประมาณ 20% ของจีดีพี จึงเป็นแรงสนับสนุนให้เกิดการเติบโตอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้แล้ว จากการวิเคราะห์ของสถาบันภายนอก เช่น เวิลด์แบงก์ และสำนักข่าวบูมเบิร์ก ต่างก็มีความเห็นในทิศทางเดียวกันว่า เศรษฐกิจไทยในช่วงที่ผ่านมามีการเติบโตที่ดีและมีความโดดเด่นในภูมิภาค

ด้านโครงการอีอีซีที่ไทยมุ่งหวังจะให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ใหญ่และทันสมัย รองรับภาคการผลิตในอุตสาหกรรมเป้าหมายตามนโยบายประเทศไทย 4.0 ก็ได้รับการยอมรับและเป็นที่สนใจจากนักลงทุนทั่วโลก ช่วงที่ผ่านมาการลงทุนจากต่างประเทศโดยเฉพาะในพื้นที่อีอีซีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นกว่า 100%

ที่ผ่านมามีนักลงทุนจากทั้งประเทศญี่ปุ่นโดยการนำของนายฮิโรชิเกะ เซโกะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น (เมติ) และนักลงทุนจากประเทศจีนโดยการนำของนายหวัง หย่ง มนตรีแห่งรัฐสาธารณรัฐประชาชนจีน เดินทางมาเยือนไทยและพื้นที่อีอีซีด้วยตนเอง

นอกจากนี้ จากการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจจีนกับญี่ปุ่น ณ นครปักกิ่ง เมื่อเดือนตุลาคม 2561 มีการแถลงทั้งจากผู้นำญี่ปุ่นและผู้นำจีนว่าจะมีความร่วมมือเพื่อลงทุนร่วมกันในประเทศที่สาม เพื่อให้เกิดการพัฒนาในประเทศเหล่านั้น คาดว่าในอนาคตจะมีการเข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้้นในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่อีอีซี ได้รับการระบุให้เป็นเป้าหมายไว้อย่างชัดเจน

ส่วนในพื้นที่อีอีซี การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่มีความคืบหน้าเป็นอย่างมาก ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงการประมูลและการเจรจาในรายละเอียด ทั้งโครงการรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน โครงการท่าเรือมาบตาพุด เฟส 3 โครงการศูนย์ซ่อมการบิน (เอ็มโออาร์) โครงการก่อสร้างสนามบินอู่ตะเภา โครงการท่าเรือแหลมฉบัง โครงการเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมดิจิทัล

สำหรับโครงการอื่นๆ นอกพื้นที่อีอีซีก็มีความคืบหน้าโดยลำดับ เช่น โครงการรถไฟฟ้าในเมืองสายต่างๆ โครงการเครือข่ายอินเตอร์เน็ตหมู่บ้านทั่วประเทศและการเตรียมเข้าสู่ 5จี ในปี 2563 โดยตั้งเป้าให้ทุกโครงการจะต้องได้ผู้ชนะการประมูลภายในเดือนพฤษภาคม 2562 หรือช้าสุดไม่เกินเดือนมิถุนายน 2562

ส่วนการสร้างเส้นทางคมนาคม ไม่เพียงแต่สักว่าจะสร้างเพียงอย่างเดียว เพราะในอนาคตอยากให้เชื่อมโยงรถไฟ รถยนต์ และเรือเข้าด้วยกัน เพื่อสนับสนุนการเชื่อมโยงเศรษฐกิจจากเมืองหลักหรือจังหวัดใหญ่ๆ ไปสู่เมืองรองบ้าง ซึ่งปัจจุบันเส้นทางคมนาคมยังไม่สามารถเข้าถึงเมืองรองได้ ส่งผลให้พื้นที่เหล่านั้นไม่เกิดการพัฒนา และสูญเสียรายได้ที่ควรจะได้รับ

ด้านการส่งเสริมการลงทุน บีโอไอประกาศให้ปี 2562 เป็นปีแห่งการลงทุน ด้วยมาตรการพิเศษต่างๆ ครอบคลุมทั้งมาตรการสำหรับภาคอุตสาหกรรม มาตรการสำหรับสังคมและสิ่งแวดล้อม และมาตรการสำหรับท้องถิ่น โดยจะมุ่งเน้นสร้างสิ่งใหม่ๆ โดยเฉพาะการลดความเหลื่อมล้ำ สิ่งต่างๆ เหล่านี้จึงเป็นแรงขับเคลื่อน จากความเข้มแข็งภายใน ที่ทำให้ประเทศไทยพร้อมสำหรับการลงทุน

ประการที่สอง การเชื่อมโยงการค้าการลงทุนระหว่างเขตเศรษฐกิจพิเศษในอนาคต หรือ Greater Bay Area (จีบีเอ) ระหว่าง 4 เมืองใหญ่ของจีน คือ ฮ่องกง มาเก๊า กวางตุ้ง และเซินเจิ้น กับกลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวีที ประกอบด้วย กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม และไทย และอาเซียน

จากการมาเยือนของนางแครี่ หล่ำ ผู้บริหารสูงสุดเขตบริหารพิเศษฮ่องกง พร้อมคณะ เพื่อเปิดสำนักงานเศรษฐกิจและการค้าฮ่องกง (Hong Kong Economic and Trade Office : HKETO) ที่กรุงเทพฯ เป็นแห่งที่ 3 แสดงให้เห็นว่าฮ่องกงเห็นถึงศักยภาพของไทยในการเป็นศูนย์กลางการลงทุนในภูมิภาคอาเซียน

ประกอบกับทางการของจีนประกาศพิมพ์เขียวแผนการพัฒนาจีบีเอ เพื่อยกระดับความสามารถในแนวลึก ด้านนวัตกรรมเทคโนโลยีและสตาร์ตอัพ โดยฮ่องกงนับเป็นตัวจักรสำคัญในแผนงานนี้ ดังนั้นไทยจะใช้โอกาสนี้เพื่อเชื่อมโยงระหว่างอนุภูมิภาคทั้งสองนี้โดยฮ่องกงในฐานะประตูแห่งจีบีเอ ส่วนไทยเป็นประตูสู่กลุ่มประเทศซีแอลเเอ็มวีที และอาเซียน

ที่ผ่านมารัฐบาลได้เปลี่ยนวิกฤตการเมืองเป็นโอกาส ควบคู่กับการเดินหน้าดึงดูดการลงทุนในไทยด้วย โดยปีนี้ไทยยังเห็นโอกาสจากการที่จะเป็นประธานการประชุมอาเซียน ซึ่งจะใช้โอกาสนี้เชื่อมโยงเศรษฐกิจภูมิภาคให้แข็งแกร่ง พร้อมรองรับเป็นฐานการผลิตของโลกได้ เพราะปัจจุบันมีสัญญาณที่ผู้ประกอบการจีนในอเมริกาเริ่มย้ายฐานการผลิตมาไทยและเวียดนามแล้ว

ประการที่สาม การเป็นประธานการประชุมอาเซียนของไทยในปี 2562 ท่ามกลางปัจจัยเชิงภูมิรัฐศาสตร์ที่กำลังเคลื่อนตัวมาสู่เอเชีย ผนวกกับความร่วมมือต่างๆ ภายในภูมิภาคเอเชียที่กำลังจะเกิดขึ้น อาทิ ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซป) ระหว่างอาเซียนกับ 6 ประเทศคู่เจรจา คือ จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์, เส้นทางสายไหม (Belt and Road), ความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (ซีพีทีพีพี) และอินโดแปซิฟิก เป็นต้น

ในส่วนของซีพีทีพีพี ไทยจะเข้าร่วมเป็นสมาชิกหลังจากการเลือกตั้งในช่วงปลายเดือนมีนาคมนี้ และไม่ว่าจะเป็นแนวความคิดใด ทั้งกลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวี อาเซียน และเอเชีย ต่างอยู่ในบริบทความร่วมมือแทบทั้งสิ้น ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้จึงเป็นโอกาสให้ประเทศไทยได้แสดงศักยภาพบนเวทีโลก

ประการที่สี่ ในเดือนพฤษภาคมปีนี้ เป็นเดือนที่มีความสำคัญยิ่งต่อคนไทยและประเทศไทย โดยจะมีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของในหลวง รัชกาลที่ 10 แห่งราชวงศ์จักรี ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งความเป็นเอกภาพและความมั่นคงของแผ่นดิน ที่นักลงทุนต่างประเทศต่างตระหนักดี ช่วยสร้างความมั่นใจในศักยภาพและอนาคตของประเทศไทย

ดังนั้น นักลงทุนควรจะมองหาโอกาสที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยใช้ไทยเป็นฐานหรือประตูแห่งโอกาสในการเข้าไปสู่กลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวี และขยายไปสู่เอเชียและภูมิภาคโดยรอบต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งปีนี้บีโอไอได้ประกาศให้เป็นปีแห่งการลงทุน โดยมอบสิทธิประโยชน์พิเศษให้แก่นักลงทุน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image