ไฮสปีดเทรนญี่ปุ่นซ้ำรอยจีน เชียงใหม่รอเก้อ…สุดทางแค่นครสวรรค์

ไฮสปีดเทรนญี่ปุ่นซ้ำรอยจีน เชียงใหม่รอเก้อ...สุดทางแค่นครสวรรค์

ไฮสปีดเทรนญี่ปุ่นซ้ำรอยจีน เชียงใหม่รอเก้อ…สุดทางแค่นครสวรรค์

ผ่านมากว่า 1 ปี แต่ดูเหมือนโครงการความร่วมมือพัฒนาระบบรางระหว่างไทย-ญี่ปุ่น จะยังไม่มีความคืบหน้าที่เห็นผลเป็นรูปธรรมอะไรออกมา

มิหนำซ้ำยังดูเหมือนจะตามรอยความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน อีกต่างหาก

จนทำเอาหลายคนอดกังวลไม่ได้ว่าที่สุดแล้วจะได้ใช้บริการรถไฟที่อยู่ภายใต้ความร่วมมือกับทั้ง 2 ประเทศนี้จริงหรือไม่

เมื่อย้อนไปดูที่มาที่ไปความร่วมมือระหว่างไทยและญี่ปุ่นจะพบว่า ได้มีการลงนามในบันทึกแสดงเจตจำนง (เอ็มโอไอ) ว่าด้วยความร่วมมือระบบรางระหว่างไทย-ญี่ปุ่น ซึ่งรวมถึงระบบรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) และระบบรางในเขตเมือง ตั้งแต่วันที่ 9 ตุลาคม 2555

Advertisement

นอกจากนั้น ยังมีการลงนามเอ็มโอไอว่าด้วยความร่วมมือด้านการพัฒนาระบบรางระหว่างไทย-ญี่ปุ่นอีกครั้ง วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2558 และลงนามบันทึกความร่วมมือ (เอ็มโอซี) ด้านระบบรางระหว่างกระทรวงคมนาคมของไทยและกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่งและการท่องเที่ยวแห่งญี่ปุ่น ในวันที่ 27 พฤษภาคม 2558

สําหรับเนื้อหารายละเอียดความร่วมมือดังกล่าว ได้กำหนดให้ทั้งสองฝ่ายศึกษาความเป็นไปได้ในความร่วมมือในอนาคตเกี่ยวกับการพัฒนาระบบรางในประเทศไทย รวมถึงเส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ และเส้นทางแม่สอด-มุกดาหาร ทั้งที่เป็นการปรับปรุงเส้นทางเดิมที่มีอยู่ (ขนาดกว้าง 1 เมตร) หรือการพัฒนาเส้นทางใหม่ขนาดรางมาตรฐาน 1.435 เมตร และการร่วมมือกันในการวิจัยและศึกษาการพัฒนารถไฟ เส้นทางกาญจนบุรี-กรุงเทพฯ กรุงเทพฯ-อรัญประเทศ และกรุงเทพฯ-แหลมฉบัง (เชื่อมต่อไปยังมาบตาพุด)

ขณะเดียวกัน ยังกำหนดให้ทั้งสองฝ่ายร่วมกันพัฒนาไฮสปีดเทรน เส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ การพัฒนาและปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟเส้นทางแนวระเบียงเศรษฐกิจด้านใต้ (กาญจนบุรี-กรุงเทพฯ-แหลงฉบัง และกรุงเทพฯ-อรัญประเทศ) รวมทั้งจะหารือร่วมกันเกี่ยวกับการศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาระบบเส้นทางแม่สอด-มุกดาหาร ตามแนวเศรษฐกิจด้านตะวันออก-ตะวันตก ตลอดจนศึกษาการพัฒนาระบบขนส่งสินค้าทางรางของไทย และศึกษาความเหมาะสมเส้นทางกรุงเทพฯ-ระยอง

นอกจากนี้ ยังกำหนดให้เส้นทางรถไฟกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ระยะทาง 672 ก.ม. เป็นขนาด 1.435 เมตร (สแตนดาร์ด เกจ) ความเร็วมากกว่า 200 ก.ม./ชั่วโมง (ช.ม.) ใช้เทคโนโลยีชินคันเซ็นของญี่ปุ่น เพื่อให้บริการขนส่งผู้โดยสารและขนส่งสินค้า

ส่วนเส้นทางกาญจนบุรี-กรุงเทพฯ-อรัญประเทศ และกรุงเทพฯ-แหลมฉบัง ระยะทาง 574 ก.ม. เป็นขนาด 1.435 เมตร หรือขนาด 1 เมตรก็ได้ กำหนดความเร็วไว้ 100-120 ก.ม./ช.ม.

แต่เมื่อพิจารณาความคืบหน้าการดำเนินงานจากวันนั้นจนถึงวันนี้ก็ไม่เห็นมีความคืบหน้าอะไรที่จะทำให้หลายคนคาดหวังได้ว่าจะเห็นโครงการนี้เกิดขึ้นภายในปีนี้หรือปีหน้า ที่เห็นชัดมากสุด คงจะเป็นเพียงการจัดงานเชิงสัญลักษณ์ โดยการปล่อยขบวนรถสินค้า ทดลองขนส่งคอนเทนเนอร์ขนาดเล็กขนาด 12 ฟุตซึ่งนำเข้าจากญี่ปุ่น ที่สถานีรถไฟชุมทางหนองปลาดุกไปยังสถานีบางซื่อ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาเท่านั้น

หลายคนจึงเกรงว่าจะเป็นอีกโครงการหนึ่งที่มีปัญหาเกิดขึ้นในลักษณะเดียวกันกับโครงการรถไฟไทย-จีน ในเส้นทางกรุงเทพฯ-แก่งคอย-นครราชสีมา-หนองคาย และแก่งคอย-มาบตาพุด ระยะทาง 873 ก.ม. วงเงินประมาณ 5 แสนล้านบาท

เพราะแรกเริ่มได้กำหนดจะดำเนินการพร้อมกันหมดทั้งโครงการ ด้วยความเร็ว 180 ก.ม./ช.ม. ต่อมาก็ปรับลดลงเหลือเฉพาะช่วงหนองคาย-นครราชสีมา-แก่งคอย-กรุงเทพฯ

กระทั่งล่าสุดเปลี่ยนเป็นไฮสปีดเทรน ที่สามารถวิ่งได้ 250 ก.ม./ช.ม. แต่ปรับลดความยาวเส้นทางลงเหลือกรุงเทพฯ-แก่งคอย-นครราชสีมา ระยะทาง 250 ก.ม. วงเงินประมาณ 1.7 แสนล้านบาท พร้อมตั้งเป้าหมายใหม่ว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม จากเดิมกำหนดไว้ในเดือนพฤษภาคมนี้ ซึ่งก็ยังไม่แน่นอนว่าจริงๆ แล้วจะเดินหน้าได้ตามแผนงานที่กำหนดหรือไม่

เนื่องจากปัจจุบันตัวเลขวงเงินลงทุนรวมที่ชัดเจนก็ยังสรุปไม่ได้ เพราะทางจีนได้ศึกษาเงินโครงการไว้ที่ 1.9 แสนล้านบาท ต่างจากไทยอยู่ประมาณ 2 หมื่นล้านบาท รวมถึงอัตราดอกเบี้ยที่ต้องถามยืนยันจากจีนอีกครั้งว่ายังอยู่ที่ 2% หรือไม่

ซึ่งเรื่องทั้งหมด กระทรวงคมนาคมจะนำไปหารือกับจีนในการประชุมอย่างเป็นทางการครั้งที่ 10 ที่กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน

ขณะที่ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ก็ออกมายอมรับว่า โครงการรถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ มีต้นทุนสูง ผลตอบแทนจะเกิดขึ้นระยะยาว ดังนั้น จะพัฒนาทีละจุด ทีละขั้น และจะขยายเชื่อมต่อออกไป ซึ่งญี่ปุ่นจะศึกษาดูว่าทำระยะแรกจะต้องทำไปถึงจุดใดจึงจะมีความเหมาะสม ขณะนี้ยังไม่สามารถแบ่งระยะที่จะก่อสร้างได้ชัดเจน ต้องรอผลการศึกษาของทางญี่ปุ่นก่อน

แต่เท่าที่หารือร่วมกันก็อาจจะแบ่งเป็นกรุงเทพฯ-พิษณุโลก และช่วงพิษณุโลก-เชียงใหม่ แต่ผลการศึกษาเบื้องต้นอาจจะกำหนดไว้ไม่ถึงพิษณุโลก คือ อาจจะกำหนดไปถึงช่วงระยะทางที่พอดีไม่ไกล หรือใกล้เกินไปก็ได้

โดยในเดือนมิถุนายนนี้ทางญี่ปุ่นจะส่งรายงานผลการศึกษาขั้นกลางมาให้ทราบ โดยจะเป็นการพิจารณาโครงการว่าคุ้มค่าหรือไม่ อย่างไร มีการประมาณราคาขั้นต้นเท่าไหร่ วิธีการอย่างไร

คาดว่าภายในปลายปีนี้จะสรุปรายงานเป็นครั้งสุดท้ายให้ทราบได้ ดังนั้น ในช่วงนี้จึงยังไม่ถึงขั้นการลงทุนแน่นอน แต่เป็นเรื่องของการศึกษาเท่านั้น

พร้อมกันนี้ยังยืนยันให้เข้าใจชัดๆ อีกว่า แนวเส้นทางก่อสร้างระยะแรกอาจจะอยู่ระหว่างกรุงเทพฯ และพิษณุโลก หากดูแล้วเห็นว่าโครงการเกิดประโยชน์จึงจะค่อยต่อออกไปเรื่อยๆ ซึ่งหากทำไปถึงอยุธยาก็ประมาณ 100 กิโลเมตร (ก.ม.) ก็อาจจะสั้นเกินไป ถ้าไปถึงลพบุรีหรือนครสวรรค์ก็เป็นไปได้

แต่ต้องดูผลการศึกษาก่อน

ดังนั้น เมื่อพิจารณาจากคำพูดของนายอาคม แล้ว ก็ค่อนข้างชัดเจนว่า หากสามารถก่อสร้างได้จริง ในระยะแรกไฮสปีดเทรนสายนี้อาจจะไม่ถึงพิษณุโลก ส่วนเชียงใหม่ก็คงไม่ถึงแน่นอน

ทั้งนี้ จากการสืบค้นข้อมูลผลการศึกษาเดิมที่กระทรวงคมนาคมเคยทำไว้ในรัฐบาลชุดที่แล้ว พบว่า รถไฟไฮสปีดเทรน กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ได้มีการศึกษาข้อมูลไว้ละเอียดพอสมควร โดยแบ่งก่อสร้างเป็น 2 ช่วง คือ

1. ช่วงกรุงเทพฯ-พิษณุโลก ระยะทาง 386 ก.ม. วิ่งด้วยความเร็วสูงสุด 300 ก.ม./ช.ม. ความเร็วเฉลี่ย 210 ก.ม./ช.ม. ผ่าน 8 จังหวัด มี 7 สถานี การศึกษาด้านเศรษฐกิจพบว่ามีอัตราส่วนผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (อีไออาร์อาร์) ร้อยละ 13.2 ของมูลค่าการลงทุน 212,893.31 ล้านบาท กำหนดค่าโดยสารเฉลี่ย 2 บาท/ก.ม. จากกรุงเทพฯ-พิษณุโลก ค่าโดยสาร 639 บาทต่อเที่ยว ใช้เวลาเดิน 1 ชั่วโมง 45 นาที

2. ช่วงพิษณุโลก-เชียงใหม่ ระยะทางประมาณ 299 ก.ม. ใช้ระยะเวลาการเดินทาง (พิษณุโลก-เชียงใหม่) ประมาณ 1.30 ช.ม. หากใช้บริการจากสถานีกลางบางซื่อ-เชียงใหม่ จะต้องจ่าย 1,074 บาท มูลค่าการลงทุน 214,005.25 ล้านบาท มีอีไออาร์อาร์ ร้อยละ 12.56 เมื่อรวมทั้ง 2 ช่วงมูลค่าลงทุนอยู่ที่ 426,898.56 ล้านบาท

ส่วนผลศึกษาที่ญี่ปุ่นส่งให้ไทย จะแตกต่างจากที่เคยศึกษามากน้อยขนาดไหน ยังต้องรอติดตามอย่างใกล้ชิด จะได้นั่งจริงเมื่อไหร่ต้องใช้จินตนาการต่อไป แต่ที่ได้ใช้บริการได้แน่ๆ ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าคือ รถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ ที่จะเปิดอย่างเป็นทางการ 6 สิงหาคมนี้

…หวังว่าจะช่วยแก้เซ็งระหว่างรอไฮสปีดเทรนได้บ้าง!!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image