เฉลียงไอเดีย : ศรีหทัย ไพรสานฑ์กุล เจน 3 กลุ่มไทยซิน ยอมทิ้งงานที่รัก..รันต่อฝันของย่า แตกกิ่งก้านร้าน‘อะคิโยชิ’ชาบู-สุกี้ญี่ปุ่น

ศรีหทัย ไพรสานฑ์กุล-สุรไกร ไพรสานฑ์กุล

ร้านอะคิโยชิ ต้นตำรับชาบู-สุกี้ญี่ปุ่นแท้ๆ กลับมาเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการอีกครั้งเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา หลังหยุดให้บริการเพื่อรีโนเวตร้านใหม่ จึงมีโอกาสได้คุยกับ 2 ทายาทรุ่น 3 ของ บริษัท ไทยซินอุตสาหกรรม จำกัด คือ คุณศรีหทัย ไพรสานฑ์กุล หรือ คุณเปิ้ล รองประธานกรรมการบริษัท อะคิโยชิ จำกัด และ คุณสุรไกร ไพรสานฑ์กุล กรรมการผู้จัดการกลุ่มบริษัทในเครือไทยซิน

คุณเปิ้ลเล่าถึงจุดเริ่มต้นของร้านอะคิโยชิ เกิดจากความคิดของคุณย่าอยากทำร้านอาหาร เหตุผลหนึ่งคือรับช่วงต่อจากเพื่อนที่เป็นชาวไต้หวันมาเช่าพื้นที่ในอาคารของตึกไทยซินทำร้านอาหารเกาหลี ลงทุนตกแต่งไปเยอะ แต่สุดท้ายเลิกทำ

อีกเหตุผล เพราะแถวพระโขนงสมัยนั้น (เมื่อราว 24 ปี หรือประมาณปี 2538) ยังถือว่าไกล หาอะไรทานไม่ได้ ขณะที่ธุรกิจไทยซินเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้านำเข้าจากญี่ปุ่น ต้องติดต่อลูกค้าชาวญี่ปุ่นตลอดเวลา จึงตัดสินใจเปิดร้านอาหารเพื่อเลี้ยงรับรองลูกค้าของไทยซินนั่นเอง!!

Advertisement

ส่วนที่เลือกเป็นร้านชาบู-สุกี้ เพราะเป็นอาหารที่คุ้นเคยของที่บ้าน ทั้งคุณเปิ้ลและคุณใหญ่ทำกินที่บ้านตั้งแต่เด็กๆ ด้วยคุณแม่เป็นชาวญี่ปุ่น อยู่ที่เมืองชิงาซากิ เวลากลับไปเยี่ยมคุณยาย จะกินชาบู-สุกี้ร้านแถวๆ บ้านคุณยายเป็นประจำ

“สูตรที่ทำขายในร้านเป็นสูตรที่เมืองชิงาซากิ ในจังหวัดคานางาวะ มีปรับรสชาติให้จัดจ้านขึ้นให้คุ้นลิ้นและความชอบของคนไทย แต่เกือบทั้งหมดประมาณ 90% เป็นสูตรจากชิงาซากิ เรียกได้ว่าเปิดร้านอาหารเพราะโหยหารสชาติแบบนี้ เป็นความอยากส่วนตัว เป็นความคิดถึง คุณแม่เลยมีไอเดียว่าแล้วทำไมไม่ลองทำเมนูนี้ให้คนไทยได้ลองชิม ถือได้ว่าเป็นร้านชาบู-สุกี้ร้านแรกในไทยที่เปิดให้บริการ เพราะสมัยนั้นในเมืองไทยยังไม่เป็นที่รู้จัก” สองพี่น้องเล่าให้ฟัง

เป็นธรรมดาของร้านเปิดใหม่ที่ต้องใช้เวลากว่าจะเป็นที่รู้จัก 2 ทายาทแห่งไทยซินบอกว่าใช้เวลา 5-6 ปี กว่าร้านจะบูม

Advertisement

เมื่อบูมแล้ว “อะคิโยชิ” ยังคงมีสาขาเดียวที่พระโขนง ยาวนานถึง 19 ปี กว่าจะเพิ่มสาขา ด้วยเพราะทั้งคุณย่าและคุณแม่ไม่ต้องการ เพราะเป็นห่วงเรื่องมาตรฐานทั้งรสชาติ ความสะอาด ความสด ทำให้เมื่อช่วงร้านบูมสุดสุด เคยมีลูกค้ามาต่อคิวเพื่อรอทานนาน 2-3 ชม.ทีเดียว

ปัจจุบันร้านอะคิโยชิมีสาขาแล้ว รวม 6 สาขา คุณใหญ่บอกว่าที่เริ่มตัดสินใจขยายสาขา เพราะเห็นศักยภาพของร้าน มีคนยอมรอนานหลายชั่วโมงเพื่อจะได้รับประทาน ถือว่าไม่ธรรมดา นอกจากนี้ยังมีติดต่อมาเรื่อยๆ เพื่อขอซื้อแฟรนไชส์ ขอเป็นสาขาของร้าน จึงตัดสินใจศึกษาอย่างจริงจังในการเซตระบบทั้งหมด เพื่อให้แต่ละสาขามีคุณภาพเท่าร้านต้นแบบ ต้องทำครัวกลาง, สต๊อก, คลังและระบบขนส่งแต่ละสาขา
“ขยายสาขาปีละ 1 สาขา เพราะเราไม่เน้นมีสาขามากๆ แต่ต้องการให้คุณภาพแต่ละสาขามันคงอยู่ได้” คุณใหญ่กล่าว

คุณเปิ้ลเสริมว่า เป็นความเชื่อตั้งแต่รุ่นอาม่า รุ่นคุณแม่ ถ้าทำอะไรแล้วต้องทำให้ดี ใช้คุณภาพเป็นหลัก

ถ้าจะบอกว่าร้านอะคิโยชิ คือการทำร้านที่ส่งต่อรุ่นต่อรุ่นก็คงไม่ผิด เพราะเริ่มต้นจากคุณย่าส่งต่อให้สะใภ้และมาถึงรุ่นหลาน โดยคุณเปิ้ลรับหน้าที่ดูแลโดยตรง

“พอรู้ว่าต้องกลับมาทำร้านแทนคุณแม่ ก็ตัดสินใจลาออกจากงานที่ทำที่เอ็กซอนโมบิล แล้วไปเรียนทำอาหารที่ญี่ปุ่น เพราะคุณแม่บอกว่าจะมาบริหารร้านแต่ทำอาหารไม่เป็น ก็ No Point (ไร้ประโยชน์)” คุณเปิ้ลกล่าว

จากสาวมาดมั่น ทำงานด้านกฎหมายอยู่บริษัทยักษ์ใหญ่ของอเมริกา ต้องกลับมาเป็นเด็กนักเรียน นับหนึ่งใหม่ที่ญี่ปุ่น ต้องเรียนภาษาญี่ปุ่นให้ผ่านก่อนเข้าชั้นเรียนทำอาหารที่สอนด้วยภาษาญี่ปุ่นล้วนๆ ต้องเริ่มเรียนตั้งแต่เบสิก ชนิดของมีด วิธีลับมีด วิธีแล่ปลา ต้องเรียนและจำให้ได้ทั้งหมดของปลาทุกชนิด ฯลฯ

คุณเปิ้ลสารภาพว่า ไม่ชอบเลย รู้สึกว่างานที่ทำด้านกฎหมาย ด้านภาษี ติดต่อต่างชาติเยอะมาก เป็นเรื่องสนุก และรู้สึก Challenge (ท้าทาย) “ระหว่างเรียนทำอาหารที่ญี่ปุ่น เคยนึกในใจ โดยเฉพาะตอนเรียนเรื่องเชื้อแบคทีเรียในอาหาร นึกว่าเรามัวมาทำอะไรที่นี่”

แต่ก็เรียนจนจบ พอกลับมาลงมือทำ มีอาม่าเป็นไอดอลเป็นทุกอย่าง ก็ทำได้

ถามคุณเปิ้ลว่า แสดงว่าร้านอะคิโยชิ คือฝันของอาม่า “ใช่ แต่ตอนนี้ถามว่าชอบมั้ย มันเกินคำว่าชอบ มันเป็นชีวิต รู้สึกว่าเราอยู่กับอะคิโยชิ รู้สึกว่าเราเติบโตไปพร้อมกัน”

เป็นความรู้สึกที่ต่างจากจุดเริ่มต้นที่ตัดสินใจมารับช่วงต่อ เหตุผล ณ ตอนนั้นคุณเปิ้ลมีความรู้สึกว่าร้านอะคิโยชิเป็นสิ่งที่อาม่าสร้าง จึงไม่อยากให้หายไป

ถามอีกว่า เป็นทายาทเจ้าของร้านเมื่อมาดูแลงานต่อง่ายหรือไม่ คุณเปิ้ลตอบทันทีว่า ไม่ง่ายเลย พนักงานที่นี่คือคนเก่าคนแก่ที่เห็นเราตั้งแต่เด็ก มองเราเป็นแค่เด็กผู้หญิงที่ไม่รู้เรื่องร้าน จะสู้คนที่อยู่กับร้านมาค่อนชีวิตได้อย่างไร “วิธีของเปิ้ลไม่หักดิบ แต่ใช้การ Blend ไปกับเขา ค่อยๆ เปลี่ยนแบบผสมผสานจนได้รับการยอมรับและพร้อมจะเปลี่ยนแปลงไปกับเรา ซึ่งใช้เวลานานมาก และระหว่างทางยอมรับว่าท้อ เคยพูดกับ ‘ใหญ่’ ว่าไม่ทำร้านแล้ว โดนต่อต้านมาก”

แต่ที่สุดคุณเปิ้ลก็ชนะตัวเอง ชนะใจพนักงาน ได้รับการยอมรับแล้วอย่างเต็มตัว พนักงาน พ่อครัว อยู่กันครบ ไม่มีใครจากไปไหน

คุณเปิ้ลบอกว่า เพราะทุกคนรักอะคิโยชิ คนเหล่านี้เติบโตไปพร้อมๆ กับอะคิโยชิ

และกำลังจะได้เห็นอะคิโยชิ แตกกิ่งก้านสาขาใหญ่โตขึ้นเรื่อยๆ ด้วย คุณใหญ่บอกว่า หลังจากสร้างระบบ สร้างรากฐานที่ปัจจุบันมีอยู่ 6 สาขาจนแข็งแรงแล้ว เตรียมแผนจะขยายสาขาเพิ่ม กำลังดู Direction ว่าจะขยายยังไง แต่สำคัญสุดคือเรื่องคุณภาพต้องได้ โดยเตรียมเปิดสาขาเพิ่มอีก 2-3 สาขา สาขาหนึ่งที่เปิดแน่ๆ กลางปีนี้คือ สาขาจามจุรีสแควร์ และอีก Model ที่มองอยู่คือสร้างซับแบรนด์ของอะคิโยชิ เพื่อจับตลาดกลาง-ล่าง ตอบรับกลุ่มลูกค้าที่ต้องการความหลากหลายของเมนู ซึ่งโมเดลนี้จะขยายสาขาได้ทั่วประเทศ และอีกหนึ่งธุรกิจที่เล็งเห็นศักยภาพต่อยอดร้านอะคิโยชิ คือ Catering เพราะจุดเด่นของร้านนอกจากน้ำซุป น้ำจิ้มแล้ว คือวัตถุดิบ โดยเฉพาะเนื้อ เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคเป็นอย่างมาก ถึงขนาดมีการออเดอร์ไปเสิร์ฟในงานแต่ง และอีกหลายๆ งานเลี้ยง จุดประกายให้คุณใหญ่คิดจริงจังทำ Catering

แผนทั้งหมดนี้ ไม่นานเกินรอจะได้เห็น จากฝีมือของหลานทั้งสองตั้งใจทำร้านของอาม่าอย่างดีที่สุด เพราะไม่ได้เป็นแค่ร้านชาบู-สุกี้ แต่คือชีวิตของหลานและอาม่า นั่นเอง!!

เกษมณี นันทรัตนพงศ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image