รฟท.ถกซีพีสรุปยืนสัญญา 50 ปี รอคุยการเงิน 3 ประเทศ ก่อนตอบรับยกเลิก 12 ข้อเสนอ

เซ็นสัญญาไม่ทัน มี.ค.! รฟท.ถกซีพีสรุปยืนสัญญา 50 ปี รอถกการเงิน 3 ประเทศ ก่อนตอบรับยกเลิก 12 ข้อเสนอ พร้อมปรับเนื้อหาสัญญาให้ชัดตรงกัน นัดเจรจาอีกครั้ง 28 มี.ค. ยันจบก่อนสงกรานต์

เมื่อวันที่ 19 มีนาคม นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กิโลเมตร (กม.) วงเงินลงทุนรวมประมาณ 2.24 แสนล้านบาท ว่า จากการประชุมร่วมกับกิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร หรือกลุ่มซีพี ซึ่งเป็นผู้เสนอราคาต่ำสุด ในภาพรวมมีแนวโน้มที่ดี และผ่อนคลายมากขึ้น ยังไม่ถึงทางตัน และจะยังเดินหน้าเจรจากันต่อไป

นายวรวุฒิกล่าวว่า เบื้องต้นทางกลุ่มซีพีแจ้งว่า มีความคลาดเคลื่อนในเรื่องของระยะเวลาสัมปทานที่มีกระแสข่าวว่าทางกลุ่มซีพีขอยืดระยะเวลาออกไปเป็น 99 ปี ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ใช่ เพราะในเอกสารที่เสนอมานั้นยังกำหนดไว้ที่ 50 ปี เมื่อสิ้นสุดแล้ว หากรัฐบาลในยุคนั้นเห็นว่าทางบริษัทมีการบริหารจัดการได้ดีก็สามารถเจรจาเพื่อขยายอายุสัมปทานต่อไปได้ ดังนั้น เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกันมากขึ้นก็จะต้องไปปรับเนื้อหาในสัญญญาให้ชัดเจนมากขึ้น สำหรับเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเงินทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการขอชดเชยต่างๆ ขณะนี้ทางกลุ่มซีพีอยู่ระหว่างหารือกับพันธมิตรทางด้านการเงิน โดยมีรัฐบาล 3 ประเทศที่เกี่ยวข้อง คือ ไทย จีน และญี่ปุน โดยในส่วนของญี่ปุ่นคือ ธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (เจบิค) โดยคาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในสัปดาห์นี้หรือต้นสัปดาห์หน้า จากนั้นจึงจะเข้ามาหารือกับ รฟท.อีกครั้งประมาณวันที่ 28 มีนาคมนี้

“ทางซีพีต้องพยายามลดความเสี่ยงทางการเงิน โดยการเจรจาก็อยู่ในขั้นตอนสุดท้ายของบริษัทแล้ว โดยได้ยืนยันกับทาง รฟท.ว่ามีแนวโน้มที่ดี หากเจรจากับทางธนาคารเพื่อผ่อนปรนได้ก็จะลดความเสี่ยงของซีพีได้” นายวรวุฒิกล่าว

Advertisement

นายวรวุฒิกล่าวว่า นอกจากนี้ยังหารือเรื่องของการใช้คำพูดที่เฉพาะเจาะจงมากไปกับสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น เช่น การย้ายสถานี ส่วนต่อขยาย หรือการทำตลาด ก็จะปรับเนื้อหาในสัญญาให้ใช้คำพูดที่เข้าใจได้เหมือนกับที่ตกลงกัน ดังนั้น ขั้นตอนหลังจากนี้ยังจะต้องเจรจากันต่อไป เพราะบรรยากาศผ่อนปรนและผ่อนคลายมากแล้ว หากสัปดาห์หน้าได้ข้อสรุปร่วมกัน คาดว่าจะสามารถเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ก่อนช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่จะถึงนี้ จากเดิมตั้งเป้าหมายจะลงนามในสัญญาเดือนมีนาคมนี้

นายวรวุฒิกล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ได้ข้อสรุปคือ เรื่องเงื่อนเวลาที่กลุ่มซีพียืนยันว่าไม่ได้ขอยาวถึง 99 ปี แต่หากในอนาคตต้องการให้บริหารต่อก็สามารถเจรจากันเพื่อต่อสัมปทานได้ ดังนั้น ยังคงที่ 50 ปีเหมือนเดิม ส่วนเรื่องการเงินมี 3-4 ข้อ จากทั้งหมด 12 ข้อที่ รฟท.ปฏิเสธข้อเสนอไป หากได้ข้อสรุปร่วมกับกลุ่มซีพีแล้ว ความคืบหน้าในการเจรจาจะอยู่ที่ประมาณ 70-80% เนื่องจากการเงินเป็นเรื่องใหญ่มาก

“การกู้เงินมี 2 อย่าง คือ อัตราดอกเบี้ย และเงื่อนไข หากเรื่องการเงินผ่อนปรนได้ ทุกอย่างจะผ่อนคลายหมด สามารถปฎิเสธได้หมดทั้ง 12 ข้อ ส่วนเรื่องเนื้อหาบางอย่างที่เข้าใจไม่ตรงกันก็จะปรับให้ตรงกันต่อไป”

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image