‘จุฬาฯ’žปั้นนวัตกรรม หุ่นยนต์เชื่อม5จี ฟื้นฟูผู้ป่วย’อัมพาต’

โรคสโตรกŽ หรือโรคหลอดเลือดสมอง อาจฟังดูไม่คุ้นหู แต่หากบอกว่า อัมพฤกษ์ อัมพาต หลายคนคงรู้จักเป็นอย่างดี เพราะมีแนวโน้มผู้ป่วยเพิ่มขึ้น จากสภาวะความเครียดทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน

ข้อมูลจากโรงพยาบาลขอนแก่น ราม ระบุว่า “โรคหลอดเลือดสมอง”Ž เป็นต้นเหตุของอาการอัมพฤกษ์ อัมพาต และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของคนไทยเป็นอันดับ 3 รองจากโรคมะเร็ง และโรคหัวใจ

โดยเฉพาะในเพศชาย พบมากในผู้มีอายุ 45 ปีขึ้นไป

นอกจากนี้ โรคหลอดเลือดสมองยังเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 5 ของคนอเมริกัน ซึ่งข้อมูลจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (ซีอีซี) เปิดเผยว่า ทุกๆ ปี ชาวอเมริกันจะป่วยเป็นโรคหลอดเลือดสมองเกือบ 800,000 ราย

Advertisement

ซึ่งจำนวนผู้ป่วยดังกล่าว ใกล้เคียงกับจำนวนประชากรที่อาศัยอยู่ในเมืองซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐอเมริกา

ขณะที่เขตปกครองพิเศษฮ่องกง โรคหลอดเลือดสมอง กลายเป็นโรคที่อันตรายถึงแก่ชีวิตอันดับ 4 โดยแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตเกือบ 3,000 ราย

โรคหลอดเลือดสมอง เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ แต่สาเหตุสำคัญที่ส่งผลให้สถิติตัวเลขของผู้ป่วยทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในปัจจุบันคือการที่สมองขาดเลือดไปเลี้ยง เนื่องจากเกิดการอุดตันของเส้นเลือดที่เป็นทางเดินของเลือดไปเลี้ยงสมองส่วนต่างๆ ส่งผลให้เกิดอาการอัมพาตในระยะต่างๆ ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค โดยสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกวัย และความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นตามอายุ

Advertisement

ศ.ดร.วิบูลย์ แสงวีระพันธุ์ศิริ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้คิดค้นและสรรค์สร้าง “หุ่นยนต์ทางการแพทย์Ž” เพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง

โดยระบบหุ่นยนต์ที่พัฒนาขึ้น เหมาะสมสำหรับใช้ในกิจกรรมกายภาพบำบัดที่มีหลากหลายรูปแบบ ซึ่งการได้รับการฟื้นฟูให้เร็วที่สุด และบ่อยครั้งที่สุด ถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างมากสำหรับผู้ป่วย

หุ่นยนต์ทางการแพทย์ เพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ใช้ระบบคอมพิวเตอร์ในการควบคุมการทำงาน โดยจะทำหน้าที่ควบคุมการเคลื่อนที่ของข้อต่อต่างๆ ของหุ่นยนต์ รวมถึงควบคุมแรงที่แต่ละข้อต่อของหุ่นยนต์ได้

ในขณะการฝึกปฏิบัติ แรงที่หุ่นยนต์สร้างขึ้นนั้นจะมีลักษณะทั้งการช่วยเหลือตามความจำเป็น และการเคลื่อนไหวโดยผู้ป่วยออกแรงกระทำเองก่อน จากนั้นจึงมีแรงจากภายนอกเข้ามาช่วยสนับสนุน

กล่าวคือหากผู้ฝึกปฏิบัติไม่สามารถเคลื่อนที่แขน ขา หรือข้อ ตามโปรแกรมที่ได้กำหนด หุ่นยนต์จะทำหน้าที่ช่วยสร้างแรงเพิ่ม

หุ่นยนต์ที่พัฒนาขึ้นมี 2 ลักษณะ ได้แก่ 1.แบบสวมใส่ หรือแบบโครงร่าง และ 2.แบบจับที่ปลาย ซึ่งปัจจุบันมีการพัฒนาหุ่นยนต์ ทั้งสิ้น 6-7 รูปแบบ เพื่อให้เหมาะสมกับการฟื้นฟูแขน ข้อมือ และขา

อีกทั้งมีความเหมาะสมสำหรับการฟื้นฟูสมรรถนะผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่มีอาการอัมพฤกษ์อัมพาตแตกต่างกันไป

ปัจจุบันมีการติดตั้งหุ่นยนต์รูปแบบต่างๆ ที่พัฒนาขึ้น ในหน่วยงานทางการแพทย์ อาทิ ศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูสวางคนิวาส, สภากาชาดไทย, ศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู รพ.จุฬาลงกรณ์, ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ รพ.จุฬาลงกรณ์, ศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู รพ.พระมงกุฎเกล้า และศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ ภายใต้โครงการจุฬาอารี เช่น รพ.กลาง เป็นต้น

ทั้งนี้ ในแต่ละศูนย์มีติดตั้งหุ่นยนต์อยู่หลายตัว และหลายรูปแบบ ซึ่งผู้ฝึกปฏิบัติไม่จำเป็นต้องใช้หุ่นยนต์ตัวเดิม ทั้งยังสามารถไปฝึกปฏิบัติยังศูนย์ที่อยู่ใกล้บ้าน

สำหรับการฝึกปฏิบัติ หุ่นยนต์จะทำการบันทึกข้อมูลการฝึกปฏิบัติแบบเวลาจริง (เรียลไทม์) เช่น แรงฝึกปฏิบัติที่เกิดขึ้น เป็นแรงที่ผู้ฝึกปฏิบัติเป็นผู้ออกแรง หรือเป็นแรงที่หุ่นยนต์ออกแรงเสริม

รวมถึงในกรณีที่ผู้ฝึกปฏิบัติไม่สามารถเคลื่อนไหวอวัยวะที่ต้องการฟื้นฟู ตามท่าทางที่กำหนดได้อย่างเหมาะสม ซึ่งแต่ละคนมีปัญหาที่แตกต่างกันไป โดยข้อมูลในการฝึกปฏิบัติดังกล่าว สามารถเก็บไว้ที่หุ่นยนต์ หรือส่งไปเก็บไว้ที่ส่วนกลางในลักษณะ “คลาวด์เซอร์วิส”Ž

นอกจากโครงสร้างทางกลไกของหุ่นยนต์ รวมทั้งระบบการควบคุมการทำงาน ระบบตรวจรู้ การเชื่อมต่อสัญญาณของอุปกรณ์ต่างๆ เข้าด้วยกัน เพื่อใช้ในการสนับสนุนการทำงานทั้งระบบ ทำให้สามารถพัฒนาส่วนเสริมต่อ เพื่อทำให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการฝึกปฏิบัติของระบบหุ่นยนต์ต่างๆ สามารถทำงานผ่านระบบ 3G และ 4G ได้

แต่เนื่องจากข้อมูลต่างๆ มีจำนวนมากขึ้น ส่งผลให้ความต้องการเรียกดูข้อมูลแบบทันที มีความต้องการมากขึ้น ดังนั้น ระบบ 5G ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต จึงถือได้ว่าจะเข้ามามีบทบาทที่สำคัญอย่างมากในการบริหารจัดการข้อมูลในลักษณะดังกล่าว

โดยสามารถเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างผู้รับการฝึกปฏิบัติ กับบุคลากรที่ดูแลการฟื้นฟู รวมถึงแพทย์ที่รับผิดชอบการรักษา เพื่อให้ระบบ “คลาวด์คอมพิวติ้ง”Ž สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ หลังจากลงนามความร่วมมือทางวิชาการ ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติและทดสอบ 5G เป็นเวลา 2 ปี ภายในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในชื่อ ศูนย์ 5G เอไอ/ไอโอที อินโนเวชั่น เซ็นเตอร์ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส จึงขอเข้าร่วมการสนับสนุน โดยอนุญาตพื้นที่สำหรับการจัดเก็บข้อมูลไว้ที่ คลาวด์เซอร์วิส

ศ.ดร.วิบูลย์ระบุว่า การพัฒนาหุ่นยนต์ดังกล่าว ใช้งบประมาณจาก รพ.จุฬาลงกรณ์ โดยหุ่นยนต์ 1 ตัว มีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 600,000-700,000 บาท ซึ่งถือได้ว่าเป็นราคาถูก เมื่อเทียบกับหุ่นยนต์ที่นำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งมีราคาหลักล้านบาท

ทั้งนี้ หุ่นยนต์ที่พัฒนาขึ้นมีข้อดี คือมีการใช้มอเตอร์ตัวเล็กกว่าอยู่ที่ 90 วัตต์ รวมถึงมีการเสริมบาลานซ์ ทำให้หุ่นยนต์สามารถใช้งานได้นานทั้งวันโดยที่ไม่ร้อน น้ำหนักเบา สามารถเคลื่อนย้ายได้ง่าย

อย่างไรก็ตาม ในอนาคตคาดว่าจะสามารถผลิตหุ่นยนต์ได้ในราคาที่ถูกลง รวมถึงจะมีการพัฒนารูปแบบใหม่ เช่น แขนกล สำหรับช่วยยกหรือขนย้ายสิ่งของที่มีน้ำหนักมาก จากการต่อยอดความรู้พื้นฐานที่มีอยู่ เชื่อว่าจะสามารถเกิดขึ้นได้ในเร็ววันนี้

ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง และผู้สูงอายุ จำเป็นต้องได้รับการดูแลทางสุขภาพ ทั้งในสถานพยาบาลและที่บ้าน การมีหุ่นยนต์ที่สามารถช่วยดูแลผู้ป่วยและผู้สูงอายุ จะช่วยให้ผู้ที่ได้รับการดูแลมีคุณภาพชีวิต และสุขภาพทางร่างกายและจิตใจที่ดีขึ้น เป็นพื้นฐานที่ประชาชนควรจะได้รับอย่างเท่าเทียมกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image