คิดเห็นแชร์ : ศึกชิงบัลลังก์สภายุโรป จุดเริ่มต้นมหากาพย์ EU Debt ภาคใหม่?

การเลือกตั้งและปัญหาการเมืองกลายเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจและการลงทุนมากที่สุดเรื่องหนึ่งในยุคสมัยนี้

ถ้าถามนักลงทุนทั่วโลกว่ากังวลกับปัญหาการเมืองและการเลือกตั้งที่ไหนมากที่สุด ผมเชื่อว่า “ยุโรป” คือ  คำตอบแรกๆ ที่หลายคนคิดถึงแน่นอน

ไม่ใช่แค่เพราะความไม่ลงรอยกันในอดีตของประเทศในสหภาพยุโรป ซึ่งนำไปสู่ปัญหา Brexit ในปัจจุบัน แต่ในอนาคตอันใกล้ ยุโรปกำลังจะต้องเผชิญกับการเลือกตั้ง “รัฐสภา” หรือ European Parliament     ในวันที่ 23-26 พฤษภาคมนี้

ครั้งนี้ดูจะเต็มไปด้วย “คำถาม” ที่นักธุรกิจและนักลงทุนไม่ทราบ เช่น ใครจะได้ลงคะแนน ใครคือผู้สมัคร นโยบายของสหภาพยุโรปหรือ EU จะถูกเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางไหน และจะนำพาตลาดการเงินไปทางใด มีอะไรที่ต้องระวัง ซึ่งผมมองว่ามีประเด็นที่น่าสนใจมากมาย

Advertisement

เริ่มด้วยการเลือกตั้งสภายุโรปครั้งนี้เป็น “ครั้งแรก” ที่สมาชิกใน EU ไม่แน่นอน

ไม่ต้องบอกหลายคนก็อาจร้อง “อ๋อ” ก่อนแล้วว่าประเทศที่อาจต้องหายไปในการเลือกตั้งครั้งนี้คือ “อังกฤษ” ปัญหาก็คือสภานี้ เกิดขึ้นเพื่อสร้างข้อตกลงเรื่องหลักๆ ของสมาชิก ไม่ว่าจะเป็นกฎหมาย กรอบนโยบายการเงินและการคลัง รวมไปถึงการแต่งตั้งผู้นำองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับยุโรป

ถ้าไม่มี Brexit (อังกฤษยังอยู่)

Advertisement

ความผันผวนของการเลือกตั้งนี้อาจอยู่ในระดับปกติ แต่อังกฤษก็จะเป็นตัวตั้งตัวตีในการต่อรองกับ EU     ต่อไปในกรณีนี้เรื่องที่จะกลายมาเป็นประเด็นเปราะบางก็คือ “ผู้ย้ายถิ่นฐานและผู้ลี้ภัย” การสร้างสมดุลใหม่ระหว่างประเทศในกลุ่ม EU จะกลายเป็นประเด็นหลักที่ต้องมาก่อนเรื่องอื่น

แต่ถ้า Brexit เกิดก่อนการเลือกตั้งนี้

27 ประเทศที่เหลือจะได้รับการจัดสรรที่นั่งใหม่จาก 10% ที่ขาดหายไปของอังกฤษ ส่งผลให้แต่ละประเทศมีอำนาจในการต่อรองมากกว่าเดิม ความผันผวนจะเพิ่มสูงขึ้น แต่การต่อรองอาจพลิกกลับไปเป็นเรื่อง “เศรษฐกิจภายในของแต่ละประเทศ” กฎระเบียบการคลังที่เข้มงวดเกินไปของยุโรปที่เคยสร้างปัญหาให้กับประเทศอย่าง กรีซ โปรตุเกส สเปน หรือล่าสุดอิตาลี จะถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นหารือหลัก

นอกจากนี้ ไม่ว่า Brexit จะเป็นอย่างไร การขยายตัวของกลุ่ม Anti-EU ก็ส่งผลให้สัดส่วนพรรคการเมือง  แตกต่างไปจากเดิมอย่างมาก

ผลโพลล่าสุดของ POLITICO ชี้ว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นครั้งแรกที่จะเห็นพรรคการเมืองกลุ่มต่อต้านยุโรปขึ้นมามีบทบาทมากที่สุด

พรรคการเมืองใหญ่อย่าง European People’s Party (EPP) ที่นำโดยพรรคแรงงานในอังกฤษ สเปน และเดโมแครตในอิตาลี จะได้รับคะแนนเพียง 25% ขณะที่พรรคอันดับสองอย่าง Socialists & Democrats (S&D) นำโดยคริสเตียนเดโมแครตในเยอรมนี และ En Marche ในฝรั่งเศส อาจได้คะแนนเสียงเพียง 20%

พรรคการเมืองที่โดดเด่นขึ้นมาจะเป็นการรวมตัวกันของกลุ่มต่อต้านยุโรป ไม่ว่าจะเป็น 5 Stars Movement จากอิตาลี AfD ในเยอรมนี หรือ Fidesz ในฮังการี ซึ่งจะส่งผลให้การตัดสินใจร่วมใหญ่ๆ ในยุโรปจะเกิดขึ้นได้ยากมากขึ้น

อย่างไรก็ดี การเลือกตั้งสภายุโรปครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงความแตกต่างแต่ไม่ใช่ความแตกแยกของประเทศภายในยุโรป

ที่ผมมองอย่างนั้น เพราะความแตกต่างในยุโรป ไม่ใช่เรื่องใหม่ และสิ่งที่น่ากลัวแท้จริงคือการล่มสลายของสหภาพยุโรป

แต่ครั้งนี้ กลุ่มที่จะมีอำนาจต่อรองมากขึ้นคือ “ลูกหนี้” ที่ยังต้องการการช่วยเหลือจาก EU อย่างเห็นได้ชัด เมื่ออำนาจของ “เจ้าหนี้” ลดลง แรงกดดันของการใช้นโยบายการคลังร่วมกันก็จะน้อย ลูกหนี้จะกล้าขอกฎที่แตกต่าง เมื่อเจ้าหนี้ไม่มีพลังที่จะขู่ขับออกจากกลุ่ม ซึ่งหมายความว่า ความเสี่ยงในยุโรปจะเปลี่ยนไปจากปัญหาขอ “แยกตัว” ระยะสั้น ไปเป็นปัญหา “หนี้ยุโรป” ในระยะยาว

แต่ท้ายที่สุด การเลือกตั้งครั้งนี้ ยังไม่ใช่ปัจจัยที่สามารถดึงตลาดการเงินยุโรปให้ฟื้นตัวได้อย่างมั่นคง

โดยสรุป การเลือกตั้งสภายุโรปรอบนี้มีทั้งโอกาสและความเสี่ยง

ความไม่แน่นอนสูงในปัจจุบัน ส่งผลให้ราคาสินทรัพย์ในยุโรปแทบจะเป็นที่เดียวในโลกที่พูดได้เต็มปากว่า “ถูก”

ถ้าการเลือกตั้งสามารถผ่านไปได้อย่างไม่มีปัญหา โอกาสการลงทุนก็จะสูงขึ้นตามความกังวลของนักลงทุนที่ลดลง

แต่ในระยะยาว การเลือกตั้งรอบนี้กำลังย้ำอีกครั้งว่าทวีปยุโรปต้องถูกปรับสมดุล ความสงบในยุโรปไม่มีทางเกิดขึ้นร่วมกันได้ ถ้าประเทศเจ้าหนี้ยังเถียงกับประเทศลูกหนี้ หรือประเทศที่อยากสร้างกำแพงยังไม่รอมชอมกับประเทศที่ต้องการช่วยเหลือเพื่อนบ้าน

และยุโรปจะเป็นทวีปที่ “รวมกันตายหมู่ แยกกันอยู่ตายคนเดียว” ไปสักพัก

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image