‘อรรชกา’โชว์รับมือแล้ง โรงงานรอดไร้ปิดกิจการ

นางอรรชกา สีบุญเรือง รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยถึงสถานการณ์ภัยแล้งต่อภาคอุตสาหกรรม ว่า คาดว่าภัยแล้งจะผ่านพ้นแล้ว โดยที่ผ่านมายังไม่ได้รับแจ้งจากสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด (สอจ.) ว่ามีผู้ประกอบกิจการโรงงานและเหมืองแร่ในจังหวัดใดประสบกับปัญหาการขาดแคลนน้ำใช้ถึงขั้นหยุดการประกอบกิจการ บางส่วนนำน้ำจากแหล่งน้ำสำรองมาใช้ประโยชน์ อาทิ น้ำบาดาล หรือบ่อเก็บกักน้ำ ส่วนโรงงานที่ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรม ทางการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เดิมประเมินพื้นที่ที่มีความเสี่ยงจะได้รับผลกระทบ คือ นิคมอุตสาหกรรมในภาคเหนือ จ.ลำพูน และนิคมอุตสาหกรรมในภาคกลางที่ตั้งอยู่ใน จ.พระนครศรีอยุธยา และจัดมาตรการป้องกันและรองรับสถานการณ์ภัยแล้งที่สำคัญ 3 มาตรการ คือ 1.การส่งเสริมนำน้ำที่ใช้แล้วมาใช้ใหม่ หรือรีไซเคิล 2.การจัดหาแหล่งน้ำบาดาลสำรอง และ 3.การนำน้ำจากแหล่งพื้นที่ใกล้เคียงมาเสริม จึงไม่มีผลกระทบใดๆ นอกจากนี้ กนอ.ยังได้ร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือการเจาะน้ำบาดาลและพัฒนาน้ำบาดาล กับกรมทรัพยากรน้ำบาดาลเพื่อเป็นแนวทางการป้องกันและสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ประกอบการในนิคมฯมีน้ำใช้ในภาคการผลิตที่เพียงพอ ไม่พบปัญหาการแย่งน้ำกับภาคการเกษตรและชุมชน

“ที่ผ่านมากรมโรงงานอุตสาหกรรมยังออกประกาศเรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการพิจารณาอนุญาตโรงงานอุตสาหกรรมนำน้ำทิ้งของโรงงานไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่เกษตรกรรมในช่วงภัยแล้ง ปี 2559 เพื่อให้โรงงานที่มีการบำบัดน้ำทิ้งได้ตามค่ามาตรฐานสามารถนำน้ำทิ้งให้กับเกษตรกรไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่การเกษตร ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการนำน้ำทิ้งที่ผ่านการบำบัดได้ตามค่ามาตรฐานไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่การเกษตร 772,560 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ในพื้นที่การเกษตร 4,419 ไร่ มีโรงงานเข้าร่วมโครงการ 5 ราย ในพื้นที่ 5 จังหวัด ประกอบด้วย จ.ลพบุรี ประจวบคีรีขันธ์ อุดรธานี ตาก และร้อยเอ็ด โดยมีเกษตรกรแจ้งความประสงค์ขอนำน้ำไปใช้ในพื้นที่แล้วเป็นจำนวน 3,419 ไร่ จากปริมาณน้ำทิ้งของโรงงานที่ขอนำออกและจำนวนพื้นที่เกษตรกรรม พบว่าโรงงานมีศักยภาพในการช่วยเหลือพื้นที่เกษตรกรรมได้อีก หากได้รับการร้องขอจากพื้นที่” นางอรรชกากล่าว

นางอรรชกากล่าวว่า กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ยังสำรวจพื้นที่ขุมเหมืองเพิ่มเติม ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ โดยลงพื้นที่เก็บตัวอย่างเพื่อตรวจสอบคุณภาพน้ำและประเมินปริมาณน้ำเบื้องต้น โดยพบว่ามีขุมเหมืองที่ได้รับการพัฒนาและขุมเหมืองที่สามารถนำน้ำไปใช้ประโยชน์เพื่ออุปโภค และใช้ในพื้นที่เกษตรข้างเคียงจำนวน 34 บ่อเหมือง ปริมาณน้ำ 63,322,160 ลบ.ม. ประกอบด้วย ภาคเหนือ 13 บ่อเหมือง ปริมาณน้ำ 48,418,160 ลบ.ม. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 17 บ่อเหมือง ปริมาณน้ำ 11,064,000 ลบ.ม. ภาคกลาง 1 บ่อเหมือง ปริมาณน้ำ 600,000 ลบ.ม. และภาคตะวันตก 3 บ่อเหมือง ปริมาณน้ำ 3,240,000 ลบ.ม.

 

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image