“กสทช.”เท 18.8 ล.หนุนโครงการ Tele Healthราชทัณฑ์หวังให้ผู้ต้องขังเข้าถึงบริการทางการแพทย์

dig

นายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร รองเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) กสทช. เมื่อวันที่ 26 มี.ค. 2562 ที่ประชุม มีมติอนุมัติสนับสนุนโครงการพัฒนารูปแบบที่เหมาะสมของระบบโทรเวชกรรมสำหรับผู้ต้องราชทัณฑ์ ของกรมราชทัณฑ์กระทรวงยุติธรรม วงเงินงบประมาณ 18,820,850 บาท ระยะเวลาดำเนินโครงการ 24 เดือน ตามที่โดยมีเงื่อนไขให้กรมราชทัณฑ์ ต้องบริหารงบประมาณที่ได้รับภายใต้กฎหมาย ระเบียบที่ทางราชการกำหนด และกรณีมีการจัดซื้อจัดจ้าง ต้องปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 และหากมีค่าใช้จ่ายต่ำกว่ากรอบวงเงินที่กำหนด ให้นำคืนส่งกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และ กิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ(กทปส.) ตามการพิจารณาของที่ประชุมบอร์ดกองทุน กทปส.

นายก่อกิจกล่าวว่า ทั้งนี้ โครงการดังกล่าว จะเป็นการรักษาทางไกลผ่านระบบอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (Tele Health) เป็นการดำเนินการนำร่องก่อนในเรือนจำ 2 แห่ง ได้แก่ เรือนจำเขาบิน จังหวัดราชบุรี และเรือนจำจังหวัดเชียงราย โดยทั้ง 2 เรือนจำเป็นเรือนจำที่มีจำนวนผู้ต้องขังจำนวนมาก โดยเรือนจำเขาบิน จะให้การรักษาผู้ต้องขังโดยเชื่อมโยงการรักษากับโรงพยาบาลจังหวัดราชบุรี ส่วนเรือนจำจังหวัดเชียงรายจะเชื่อมโยงการรักษากับโรงพยาบาลจังหวัดเชียงราย ซึ่งจะทำให้เป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตผู้ต้องขังให้สามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ในเรือนจำโดยได้รับการบริการที่มีมาตรฐานและประสิทธิภาพเท่าเทียมกับบุคคลภายนอก สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนและมนุษยธรรม

นายก่อกิจ กล่าวว่า ที่ประชุม กสทช. เห็นว่า โครงการนี้มีความสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของกองทุนฯ มาตรา 52(2) ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาทรัพยากรสื่อสาร การวิจัยและพัฒนาด้านกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมฯ ตลอดจนการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้มีรายได้น้อย ซึ่งการให้บริการ Tele Health นั้น สำนักงาน กสทช. ได้จัดให้มีการบริการในโครงการจัดให้มีบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงให้ครอบคลุมทุกหมู่บ้านของประเทศไทย ตามนโยบายของรัฐบาล ในพื้นที่ที่ กสทช. ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการ โดยจะมีการให้บริการ Tele Health ในพื้นที่ชายขอบจำนวน 3,920 หมู่บ้าน ที่จะเปิดให้บริการในวันที่ 1 พ.ค. 2562 นี้

นายก่อกิจ กล่าวต่อว่า ซึ่งโครงการดังกล่าวได้มีการลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขเพื่อกำหนดแนวทางการพัฒนาและการประยุกต์ใช้งานบริการทางการแพทย์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ชนบท โดยในระยะเริ่มต้นมี 8 จังหวัดนำร่องที่เข้าร่วมโครงการ ได้แก่ จังหวัดเชียงราย เพชรบูรณ์กำแพงเพชร กาญจนบุรี กาฬสินธุ์ สุรินทร์ สุราษฎร์ธานี และสงขลา ครอบคลุมโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) จำนวน 15 แห่งคลินิกหมอครอบครัว (รพ.สต.ขนาดใหญ่) จำนวน 4 แห่ง โรงพยาบาลชุมชน (รพช.) จำนวน 5 แห่ง และโรงพยาบาลประจำจังหวัด จำนวน 8 แห่ง รวมถึงศูนย์เฉพาะทางโรคตาศูนย์เฉพาะทางโรคผิวหนัง และในอนาคตจะขยายไปสู่พื้นที่ชนบทอื่นทั่วประเทศ

Advertisement

“การให้บริการ Tele Health เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ป่วยที่อยู่ในพื้นที่ที่ขาดแคลนแพทย์ หรือเดินทางไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลได้ลำบาก มีโอกาสได้รับการรักษาเช่นเดียวกับคนทั่วไปโดยผู้ป่วยจะได้รับการรักษา วินิจฉัยโรค และได้รับคำแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากโรงพยาบาลใหญ่ที่ทำทำโครงการร่มกันผ่านระบบอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ซึ่งหากโครงการนี้ประสบความสำเร็จและสามารถขยายการให้บริการไปทั่วประเทศจะเป็นประโยชน์ต่อคนไทยจำนวนมากที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล หรืออยู่ในที่ที่ไม่สารถเดินทางไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลได้สะดวก สุขภาพ และคุณภาพชีวิตของคนไทยจะดีขึ้น”

นอกจากนี้ ในส่วนของประเด็นที่มีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่จะทำให้การดำเนินงานต้องหยุดรอหรือไม่นั้น ทาง กสทช. จะดำเนินหน้าอย่างต่อเนื่อง เพราะงานของกสทช. ไม่ได้ขึ้นตรงกับรัฐบาลทั้งหมด แต่ในบางโครงการที่ต้องมีการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี(ครม.) อาจมีการอนุมัติให้ดำเนินการเร็วกว่าเดิมด้วยซ้ำ อาทิ การเรียกคืนคลื่นความถี่ย่าน 2600เมกะเฮิรตซ์ จำนวนรวม 190 เมกะเฮิรตซ์ จากบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ที่จะต้องเร่งดำเนินการให้เสร็จในรัฐบาลนี้ เพื่อความต่อเนื่องในการดำเนินการดังกล่าว เป็นต้น

“ในเรื่องของการผลักดัน 5G หลัก ๆ เป็นหน้าที่ของกสทช. แต่รัฐบาลก็มีหน้าที่ที่ต้องผลักดันให้เกิดขึ้น ฉะนั้น ไม่ว่าจะเปลี่ยนรัฐบาลอีกกี่ครั้ง ก็ต้องผลักดันให้เกิดขึ้นให้ได้” นายก่อกิจกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image