“ดุสิต-ซีพีเอ็น” ผุด “ดุสิตเซ็นทรัลพาร์ค” หัวมุมสีลมปั้นเป็นซูเปอร์คอร์ซีบีดีแลนด์มาร์กการใช้ชีวิตระดับโลก

นางศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ได้ร่วม กับ บริษัท เซ็นทรัล พัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอ็น เปิดตัวโครงการ dusit Central Park (ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค)โครงการมิกซ์ยูสระดับโลก ใจกลางกรุงเทพ เพื่อสร้าง ซูเปอร์คอร์ซีบีดี สู่การใช้ชีวิตรูปแบบใหม่ ประกอบด้วยโรงแรม ที่พักอาศัยศูนย์การค้าและอาคารสำนักงานพื้นที่รวมกว่า 440,000 ตารางเมตร มูลค่าโครงการ 36,700 ล้านบาท บนพื้นที่ 23 ไร่ มุมถนนสีลมและพระราม 4 ภายใต้แนวคิดHere For Bangkok โดยการดำเนินการภายใต้บริษัท วิมานสุริยา จำกัด ซึ่งดุสิตถือหุ้น 60% และซีพีเอ็นถือหุ้น 40%

“การบริหารจัดการนั้นจะแยกตามส่วนที่ถนัด คือ ดุสิตจะบริหารโรงแรม ที่พักอาศัย ขณะที่ซีพีเอ็นจะบริหารพื้นที่ศูนย์การค้าและอาคารสำนักงาน”นางศุภจีกล่าวและว่าสำหรับตัวโรงแรมนั้นจะมี 250 ห้องพัก ความสูง 39 ชั้น ซึ่งจะยังคงมีจุดยืนเดิมคือการเป็นแลนด์มาร์คของกทม.เหมือนอย่างที่ดุสิตเคยเป็นตามเจตนารมณ์ดั้งเดิมท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย ผู้ก่อตั้งรร.ดุสิต แต่ลดจำนวนห้องพักลงจากปัจจุบันครึ่งหนึ่ง และยังเก็บรูปแบบสถาปัตนกรรมบางอย่างไว้โดยจะแล้วเสร็จเปิดให้บริการปี พ.ศ.2565 ส่วนที่พักอาศัยความสูง 69 ชั้น จำนวน 389 ยูนิต แบ่งเป็น 2 ส่วนคือดุสิต เรสซิเดนเซส และดุสิต พาร์ไซด์ ส่วนราคาขายยังไม่สามารถบอกได้ในขณะนี้ แต่ราคาน่าจะต่ำกว่าโครงการที่ตั้งอยู่บนที่ดินที่ซื้อขาด แต่คาดว่ามูลค่าการขายอยูที่ 1.6-1.7 หมื่นล้านบาทระยะเช่า 60 ปี ตามระยะเวลาที่ได้เช่าที่ดินจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ โดยส่วนนี้จะเปิดบริการในปี 2567

นางศุภจีกล่าวว่า สำหรับแหล่งเงินทุนที่จะนำมาพัฒนาโครงการ ส่วนหนึ่งมาจากสภาพคล่องหรือเงินสดของผู้ร่วมทุนทั้ง 2 ฝ่าย และบางส่วนจะมาจากสถาบันการเงิน ส่วนหลังจากพัฒนาโครงการนี้แล้วจะร่วมพัฒนาโครงการอื่นอีกหรือไม่ก็ต้องรอดูกันต่อไป

นางสาววัลยา จิราธิวัฒน์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ซีพีเอ็น กล่าวว่า โครงการดังกล่าวตั้งอยู่บนทำเลที่เยี่ยมที่สุดของกรุงเทพ เพราะอยู่ย่านใจกลางธุรกิจสำคัญของกทม.ที่สามารถเชื่อมต่อ 4 จุดสำคัญของกรุงเทพฯ ซึ่งมีทั้งย่านเก่าแก่และย่านที่เป็นสมัยใหม่ คือ การเชื่อมต่อพื้นที่ย่านราชประสงค์ การเชื่อมต่อฝั่งธนบุรี เชื่อมต่อย่านสุขุมวิทและ การเชื่อมต่อย่านเยาวราช

Advertisement

“ของเราจะแตกต่างจากโครงการอื่นเพราะเราตั้งอยู่บนหัวมุมที่เชื่อมต่อรถไฟฟ้า 2 สายคือบีทีเอสและเอ็มอาร์ที รวมทั้งการขนส่งทางถนน จึงทำให้ได้เปรียบ ขณะที่ผู้ร่วมทุนอย่างดุสิตก็มีประสบการณ์ถึง 70 ขณะที่กลุ่มเราก็มีประสบการณ์ถึง 50 ปี เราจึงพร้อมพัฒนาโครงการที่ดีที่สุดและได้มาตรฐานแห่งหนึ่งของโลก “น.ส.วัลยากล่าว

น.ส.วัลยา กล่าวว่า ทั้งนี้ในส่วนที่ซีพีเอ็นต้องรับผิดชอบหลักคือศูนย์การค้าและอาคารสำนักงาน คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2566 พื้นที่รวมกว่า 1.7 แสนตารางเมตร แบ่งเป็นอาคารสำนักงานคือเซ็นทรัล พาร์ค ออฟฟิศเซส 90,000 ตารางเมตร ความสูง 49 ชั้น รองรับกลุ่มธุรกิจนวัตกรรมใหม่รวมทั้งสตาร์ทอัพจนถึงบริษัทระดับโลก ส่วนศูนย์การค้าเซ็นทรัล พาร์ค พื้นที่กว่า 80,000 ตารางเมตร

 

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image