แพทย์จุฬาฯหนุน 5จี ไทยต้องเกิด เพิ่มประสิทธิภาพเทเลเมดิซีน ลดอัตราเสียชีวิต-ป้องกันเกิดโรค

แพทย์จุฬาฯหนุน 5จี ไทยต้องเกิด เพิ่มประสิทธิภาพเทเลเมดิซีน ลดอัตราเสียชีวิต-ป้องกันเกิดโรค

เมื่อเวลา 12.45 น. พญ.นิจศรี ชาญณรงค์ หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านโรคหลอดเลือดสมอง โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เปิดเผยในงานสัมมนา 5G ปลุกไทยที่ 1 อาเซียน” จัดโดย บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ห้องประชุมอาคารมหิตลาธิเบศร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่า ปัจจุบันโรงพยาบาลจุฬาฯซึ่งเป็นโรงพยาบาลศูนย์กลางได้นำระบบเทเลเมดิซีน (โทรเวชกรรม) ที่นำมาใช้ โดยเริ่มจากการให้คำปรึกษาระหว่างแพทย์กับแพทย์ที่อาจจะอยู่ห่างไกล หรือปรึกษาเฉพาะทาง โดยมีเครือข่ายโรงพยาบาลทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น ลาว เป็นต้น นำเทเลเมดิซีนมาใช้ในการวินิจฉัยรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งเป็นช่วยลดข้อจำกัดทางด้านเวลา การดูแลผู้ป่วยพักฟื้นหรือผู้ป่วยติดเตียงโดยหุ่นยนต์คุณหมอที่สามารถติดต่อกับแพทย์ที่โรงพยาบาลได้ผ่านโรบอต หรือเมื่อแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอยู่นอกโรงพยาบาล นอกเวลาราชการ สามารถติดต่อผ่านสมาร์ทโฟน แท็บเล็ตได้ รวมทั้งการใช้หุ่นยนต์ช่วยในการทำกายภาพบำบัดฟื้นฟูกำลังกล้ามเนื้อ เป็นต้น ซึ่งเหล่านี้ช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้ไม่มีข้อจำกัดและประสิทธิภาพสูง

พญ.นิจศรีกล่าวว่า สำหรับเทคโนโลยี 5จี กับการแพทย์นั้น จะช่วยสนับสนุนเทเลเมดิซีนที่ใช้อยู่ในปัจจุบันให้ดีขึ้น หรือการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์มาใช้ช่วยในการวินิจฉัยโรคเบื้องต้น ทั้งนี้ จำนวนแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่มีจำกัด จะต้องให้คำปรึกษาแพทย์ที่อยู่ห่างไกล ต้องมีการส่งข้อมูล เช่น โรคหลอดเลือดสมอง ที่ภาพเอกซเรย์ที่ต้องส่งมาให้ส่วนกลางมีจำนวนมากเป็นพันๆ ภาพ ซึ่ง 5จี น่าจะช่วยให้ส่งข้อมูลได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และการส่งข้อมูลที่รวดและดีขึ้นจะทำให้การผ่าตัดด้วยโรบอตทำได้ดีขึ้น และสิ่งที่จะเกิดมากขึ้นในอนาคต คือ การป้องกันโรค เพราะอุปกรณ์ 5จี ด้วยเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (ไอโอที) สามารถใช้ติดตามและวัดค่าต่างๆ ของร่างกายจะส่งข้อมูลให้แพทย์ได้ เช่น ค่าความดัน ค่าน้ำตาล ซึ่งแพทย์จะสามารถใช้ข้อมูลเหล่านี้ประมวลผลทราบก่อนว่ามีแนวโน้มที่จะเป็นโรคอะไร มีความเสี่ยงอะไร สามารถป้องกันและจัดการความเสี่ยงก่อนได้ นอกจากนี้ ด้วยเทคโนโลยี 5จี อยากให้การขนส่งยาหรือเวชกรรมต่างๆ มีการควบคุมอุณหภูมิ และสามารถติดตามการขนส่งได้แบบเรียลไทม์

“ถ้าเรามี 5จี จะทำให้เข้าถึงการดูแลรักษาคนไข้ได้มากขึ้น ลดอัตราการเสียชีวิต ลดอัตราการพิการ อย่างไรก็ตาม ด้วยการใช้ข้อมูลต่างๆ เป็นความลับของคนไข้และต้องได้รับการยินยอม จึงต้องมีการดูแลควบคุมและดูแลข้อมูลส่วนบุคคลที่เหมาะสมเพื่อใช้ทางการแพทย์” พญ.นิจศรีกล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image