“ประชาชน” ร่วมชมยูสเคส 5G ที่จุฬาฯคึกคัก (มีคลิป)

เมื่อวันที่ 3 เมษายน ที่ห้องประชุมอาคารมหิตลาธิเบศร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงานสัมมนา 5G ปลุกไทยที่ 1 อาเซียน

ทั้งนี้ภายในงานมีการจัดแสดงนิทรรศการรูปแบบการใช้งาน (ยูสเคส) 5G จากผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (โอเปอเรเตอร์) ได้แก่ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส, บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือทรู และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค, บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) หรือทีโอที และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ด้านผู้ผลิตอุปกรณ์โทรคมนาคม (เวนเดอร์) เช่น หัวเว่ย เป็นต้น และผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต (ไอเอสพี) อย่างบริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ3BB

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศการจัดแสดงนิทรรศการเป็นไปอย่างคับคั่ง โดยได้รับความสนใจจากนิสิต นักศึกษา รวมทั้งคณาจารย์ และบุคลากร ทั้งภายในและภายนอกจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มีความสนใจในเทคโนโลยี 5G ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้

สำหรับไฮไลท์ของรูปแบบการใช้งาน (ยูสเคส) 5G ที่นำมาจัดแสดงนิทรรศการ เช่น หัวเว่ย ที่มีการนำ Huawei Mate X มาจัดแสดง ซึ่งสมาร์ทโฟนของหัวเว่ยมีหน้าจอที่พับได้เป็นหน้าจอแบบโอแอลอีดี ขนาดใหญ่ 8 นิ้ว (เมื่อกางออก) ความละเอียดสูง 2480×2200 พิกเซล เมื่อพับหน้าจอมาแล้วหน้าจอจะเหลือขนาด 6.6 นิ้ว ความละเอียด 2480×1148 พิกเซล

Advertisement

สามารถรองรับ 5G ใช้ชิปเซ็ตประมวลผล Kirin 980 แรม 8 กิกะไบต์ มีความจุภายในเครื่อง 512 กิกะไบต์ เมื่อกางออกมีความบางเพียง 5.4 มิลลิเมตร และเมื่อพับเข้าจะมีความหนา 11 มิลลิเมตร มีกล้อง 3 เลนส์ (ไลก้า) ประกอบด้วย 40 ล้านพิกเซล+16 ล้านพิกเซล (เลนส์มุมกว้างพิเศษ) 8 ล้านพิกเซล (เลนส์ถ่ายภาพระยะไกล) ซึ่งเลนส์สามารถรองรับเทคโนโลยีเซ็นเซอร์สแกนภาพ 3 มิติทั้งนี้ มีกำหนดจะวางขายในประเทศไทยอย่างเร็วในอีก 2 เดือนข้างหน้า ขณะที่ ราคาเปิดตัวอยู่ที่ ประมาณ 82,000 บาท

รายงานข่าวจากหัวเว่ย ระบุว่า หัวเว่ยมีการขับเคลื่อนไปสู่ 5G อย่างรวดเร็ว ซึ่งจากข้อมูลทราบว่า ไอโฟนรุ่นต่อไป จะยังไม่ระบบรองรับ 5G จึงคาดว่า จะสามารถแย่งชิงส่วนแบ่งทางการตลาดผู้ใช้งานจากระบบปฏิบัติการบนไอโฟนได้ แม้จะไม่มากนัก

ขณะที่เอไอเอส มีการเปิดตัวรถยนต์ไร้คนขับคันแรกของไทย ที่เชื่อมต่อบนเครือข่าย ไลฟ์ เน็ทเวิร์ค 5G (ที่หนึ่ง 5G คอนเน็คเต็ด คาร์) ที่เกิดจากการศึกษาและทดลองอย่างจริงจังร่วมกันระหว่างการทำวิจัยสมาร์ท โมบิลลิตี้ เซ็นเตอร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในความร่วมมือของ นายนักสิทธิ์ นุ่มวงษ์ และเอไอเอส ที่ทำให้รถยนต์สามารถเดินทางจากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่งได้อย่างแม่นยำและปลอดภัย โดยไม่ต้องใช้คนขับ ผ่านการใช้งานเครือข่าย 5G ของเอไอเอส ที่สามารถรับ-ส่งข้อมูลความเร็วสูง ความหน่วงต่ำ ทำให้ระบบมีความเสถียรมาก

Advertisement

ทั้งนี้ยังมีการจัดแสดงยูสเคส 5G เรื่อง ระบบวัดสัญญาณชีพแบบหลายพารามิเตอร์ พร้อมการส่งข้อมูลผ่านเครือข่ายสำหรับการแพทย์แบบทางไกล เหมาะสำหรับผู้สูงอายุและผู้ป่วยที่ต้องทำการตรวจวัดชีพจรชีพจรอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งในการวิจัยในครั้งนี้ ได้ร่วมกับโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โดยเบื้องต้นได้ทำการทดลองกับผู้ป่วยหลอดเลือดสมอง ที่ทำการพักฟื้นอยู่ที่บ้านพัก ในส่วนของเครื่องตรวจวัดพารามิเตอร์ทางสุขภาพ ประกอบด้วย เครื่องวัดอุณหภูมิ ความดันโลหิต และคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เป็นต้น ซึ่งข้อมูลดังกล่าวจะช่วยให้แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคในเบื้องต้นได้ โดยผ่านช่องทางเครื่อข่ายสือสารความเร็วสูง

ทั้งนี้จากการสอบถามผู้วิจัยพบว่ายูสเคสดังกล่าว ได้รับความสนใจจากคณะอาจารย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นิสิตนักศึกษา และประชาชนเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุ 30-40 ปีขึ้นไป ที่สนใจนำเครื่องนี้ไปไว้ที่บ้าน เพื่อลดปัญหาในเรื่องของการเดินทาง และยังสามารถเชื่อมต่ออุปกรณ์ผ่านคอมพิวเตอร์ และสมาร์ทโฟน เพื่อส่งข้อมูลการตรวจสุขภาพผ่านเครือข่ายสื่อสารไปประกอบการวินิฉัยด้วยการแพทย์แบบทางไกลได้อีกด้วย

อย่างไรก็ตามในปัจจุบันยูสเคสดังกล่าวก็สามารถทำงานบนระบบ 4G ได้แล้ว แต่ยังไม่มีการผลิตออกมา เนื่องจากต้องการปรับปรุงให้ระบบมีความเสถียรกว่านี้ โดยขั้นตอนของการพัฒนาประสิทธิภาพร่วมกับโรงพยาบาลจุฬาฯ ทางคณะวิจัยคาดหวังว่า หากประเทศไทยสามารถทำให้เทคโนโลยี 5G เกิดขึ้นได้จริง จะส่งผลให้ระบบมีความเสถียรและทันต่อเหตุการณ์มากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ ยังมียูสเคส 5G เรื่องโครงการพัฒนาการใช้เทคโนโลยีความจริงเสมือน (วีอาร์) ในพื้นที่มหาวิทยาลัยบนเครื่อข่าย 5G มีผู้สนใจเข้าชมยูสเคสนี้เป็นอย่างมาก ซึ่งได้นำมาศึกษาร่วมกับการแพทย์ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และการเทรนนิ่งอาชีพที่มีความเสี่ยงสูง เพื่อให้ระวังภัยที่อาจจะเกิดขึ้นในการปฎิบัติการจริง ซึ่งในครั้งนี้ ทางทีมผู้วิจัยได้นำวีอาร์ที่มีการจำลองภาพคอนโดและบ้าน ที่มีการออกแบบไว้เรียบร้อยแล้ว ซึ่งผู้ทดลองจะสามารถเลือกเปลี่ยนสีเฟอร์นิเจอร์ได้ตามต้องการณ์ และสามารถเห็นสัดส่วนของห้องที่เสมือนจริง

ทั้งนี้ จากการนำเสนอดังกล่าว ทำให้มีผู้ประกอบการธุรกิจอสังหาฯ สนใจนำยูสเคสไปใช้ในธุรกิจจำนวนมาก ซึ่งระบบดังกล่าวสามารถนำไปปรับใช้ได้กับทุกองค์กร แค่ป้อนข้อมูลที่ต้องการลงไป นอกจากนี้ ยังมีวีอาร์แบบไร้สาย ที่เหมาะกับนักเรียน นักศึกษา สำหรับการเรียนรู้แบบโสตทัศนศึกษา และในอนาคตคาดว่าจะสามารถพูดคุยแบบออนไลน์ผ่านระบบวีอาร์ได้ แต่เครือข่ายอินเตอร์เน็ตต้องมีความเสรียถมาก ถึงจะสามารถทำเช่นนั้นได้ อย่างไรก็ตาม หากประเทศไทยสามารถเข้าสู่ระบบ 5G ได้อย่างเต็มรูปแบบ คาดว่ายูสเคสตัวนี้จะสามารถทำการซื้อขาย และออกแบบข้ามประเทศได้เลย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image