‘ครม.’ ไฟเขียวยกแผนรับมือโรคอหิวาต์แอฟริกาในหมูเป็นวาระแห่งชาติ

ครม.อนุมัติแผนเตรียมพร้อมรับมือ “โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร” ยกเป็นวาระแห่งชาติ หลังระบาดหนักใน 3 ประเทศเอเชีย พร้อมย้ำ เชื้อยังไม่แพร่จากสุกรสู่มนุษย์

เมื่อวันที่ 9 เมษายน ที่ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล พล.ต.อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าที่ประชุม ครม.ได้อนุมัติแผนเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรของประเทศไทยให้เป็นวาระแห่งชาติ สืบเนื่องจากสถานการณ์การระบาดโรคได้ขยายวงกว้างอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งแต่ปี 2561 ถึงปัจจุบัน มีการระบาดทั้งสิ้น 17 ประเทศในหลายภูมิภาคทั่วโลก แบ่งเป็นทวีปยุโรป 10 ประเทศ, ทวีปแอฟริกา 4 ประเทศ และทวีปเอเชีย 3 ประเทศ ซึ่งสำหรับทวีปเอเชีย ประเทศที่มีการระบาด ได้แก่ ประเทศจีน, ประเทศมองโกเลีย และประเทศเวียดนาม ล่าสุดเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2562 มีการรายงานว่ามีการทำลายสุกรในประเทศจีน จำนวน 950,000 ตัว, ประเทศมองโกเลีย 2,992 ตัว และประเทศเวียดนาม 46,600 ตัว รวมทั้งสิ้น 999,592 ตัว ซึ่งความเสียหายของทั้ง 3 ประเทศคิดเป็นจำนวนกว่า 6,000 ล้านบาท และขณะนี้ยังไม่สามารถควบคุมการระบาดได้

พล.ต.อธิสิทธิ์กล่าวว่า ประเทศไทยมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรจากปัจจัยหลายประการ เช่น การลักลอบนำผลิตภัณฑ์สุกรติดตัวนักท่องเที่ยวที่มาจากประเทศที่มีการระบาดเข้ามาในประเทศไทย, มีการลักลอบนำผลิตภัณฑ์สุกรและซากสุกรผ่านช่องทางนำเข้าชายแดน, มีความเสี่ยงในการปนเปื้อนของไวรัสจากตัวเกษตรกรหรือสัตวแพทย์ที่ไปดูงานในประเทศที่มีการระบาดของโรค, มีความเสี่ยงจากการปนเปื้อนเชื้อไวรัสที่ยานพาหนะ วัสดุ อุปกรณ์ที่ใช้ส่งออกสุกรและอาหารสุกรไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ดังนั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงมีความจำเป็นให้ ครม.อนุมัติแผนนี้ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนจะมีการระบาดของโรคนี้ในประเทศไทย และเพื่อหาแนวทางฟื้นฟูเกษตรกรและผู้ที่อาจได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร รวมถึงป้องกันความเสียหายทางเศรษฐกิจของผู้ประกอบอาชีพเลี้ยงสุกรกว่า 100,000 ล้านบาท และเพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาการติดเชื้อของโรคระบาดร้ายแรงของภาคปศุสัตว์ได้อย่างครบวงจรและมีประสิทธิภาพ

พล.ต.อธิสิทธิ์กล่าวว่า แผนดังกล่าวแบ่งการดำเนินการออกเป็น 2 ส่วน คือ 1.โครงการบริหารจัดการและขับเคลื่อนมาตรการ โดยจัดให้มีคณะกรรมการอำนวยการป้องกัน ควบคุม และกำจัดโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรแห่งชาติ โดยมีรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ปลัดกระทรวงเกษตรเป็นกรรมการและเลขานุการ และอธิบดีกรมปศุสัตว์เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ 2.แผนการดำเนินงานและแผนใช้จ่ายงบประมาณในการดำเนินงาน โดยแผนการดำเนินงานแบ่งเป็น 3 ระยะ คือระยะก่อนเผชิญเหตุการระบาด ระยะเผชิญเหตุการระบาด และระยะภายหลังเผชิญเหตุการระบาด ส่วนแผนรายจ่ายงบประมาณในการเฝ้าระวัง ใช้วงเงินทั้งสิ้น 148 ล้านบาทเศษ แบ่งเป็น ในปีงบประมาณ 2562 จำนวน 53 ล้านบาทเศษ โดยใช้งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ในปี 2562 ส่วนในปี 2563 กับ 2564 ให้ใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณนั้นๆ

Advertisement

พล.ต.อธิสิทธิ์กล่าวว่า อย่างไรก็ดี ขอเน้นย้ำไปยังประชาชนและเกษตรกรว่า โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรยังไม่มีการติดต่อไปสู่คน จึงยังไม่ต้องกังวลว่าจะติดโรคจากสุกร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image