“ประวิทย์” ชี้ขยายค่างวดคลื่น900ต่างกับกรณี5G ไม่เห็นด้วยอุ้มทีวีดิจิทัลพ่วง3ค่ายมือถือ

แฟ้มภาพ

นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคและส่งเสริมสิทธิเสรีภาพ เปิดเผยบทความโดยระบุว่า กรณีกระแสข่าวที่ไทยต้องเร่งจัดการประมูลคลื่นความถี่เพื่อรองรับ 5G ไม่เช่นนั้น ประเทศจะสูญเสียโอกาส ทั้งนี้ หากจะมีการจัดการประมูลคลื่นความถี่ครั้งต่อไป จำเป็นต้องขยายระยะเวลาการชำระค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ ตามที่ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (โอเปอเรเตอร์) ทั้ง 3 ราย ได้ยื่นหนังสือถึงคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อพิจารณา เนื่องจากปัจจุบันโอเปอเรเตอร์มีวงเงินกู้เต็มเพดาน เป็นเหตุให้ไม่มีเงินทุนสำหรับการประมูลคลื่นความถี่ครั้งต่อไป นอกจากนี้ยังมีการระบุอีกว่า แม้จะขยายระยะเวลาการชำระค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ออกไป โอเปอเรเตอร์ก็จะไม่เข้าร่วมการประมูลคลื่นความถี่ครั้งต่อไปอยู่ดี ซึ่งสอดคล้องกับการนำเสนอของโอเปอเรเตอร์ ในงานสัมมนา 5G ปลุกไทยที่ 1 อาเซียน ที่ระบุว่า หากจะจัดประมูลคลื่นความถี่ เพื่อรองรับ 5G ควรมีแผนการจัดสรรคลื่นความถี่ที่ชัดเจน อีกทั้ง ควรกำหนดหลักเกณ์และวิธีการประมูลที่เอื้อต่อการลงทุน ประกอบกับปัจจุบันที่มาตรฐาน 5G ระดับโลก ยังไม่เสร็จสมบูรณ์

นพ.ประวิทย์ กล่าวต่อว่า การจัดประมูลคลื่นความถี่ เพื่อรองรับ 5G เร็วเกินไป มีโอกาสล้มเหลวมากกว่าสำเร็จ เพราะแม้ว่าจะจัดสรรคลื่นความถี่ได้ แต่การบริการที่สำคัญยังจะไม่เกิดขึ้น ด้วยมาตรฐาน 5G ที่ยังไม่มีข้อสรุป อีกทั้ง อุปกรณ์และชิปเซ็ตยังไม่เพียงพอ ผู้ชนะการประมูล จึงยังไม่สามารถสร้างรายได้ได้อย่างเต็มที่ ซึ่งล้วนเป็นเหตุผลที่โอเปอเรเตอร์ได้ยืนยันมาโดยตลอดว่า ยังไม่ควรเร่งจัดการประมูลคลื่นความถี่เพื่อรองรับ 5G ในปีนี้ ซึ่งมีความแตกต่างจากการประมูลคลื่นความถี่ในระบบ 3G และ 4G ที่มีปัจจัยอื่นๆ เกื้อหนุน ทำให้โอเปอเรเตอร์ สามารถสร้างรายได้ทันทีหลังจากนำคลื่นความถี่ไปใช้งาน

นพ.ประวิทย์กล่าวว่า หากไม่มีการขยายระยะเวลาชำระค่าใบอนุญาต โอเปอเรเตอร์ก็ต้องระดมเงิน ผ่านแหล่งทุนต่างๆ เพื่อนำเงินมาชำระ ซึ่งเป็นต้นทุนที่ต้องแบกรับ แต่หากรัฐขยายระยะเวลาชำระค่าใบอนุญาต โดยคิดอัตราดอกเบี้ยขั้นต่ำ เท่ากับโอเปอเรเตอร์ได้ประโยชน์เต็มๆ ฉะนั้น การขยายระยะเวลาชำระค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ ให้กับโอเปอเรเตอร์ที่มีกำไรจากการดำเนินธุรกิจ จึงไม่ต่างจากการผลักภาระของโอเปอเรเตอร์ที่ชนะการประมูล มาเป็นภาระของสาธารณะ และประชาชนแทน ซึ่งไม่เป็นธรรม

นพ.ประวิทย์ กล่าวต่อว่า ส่วนในเรื่องของการจะดูแลกิจการทีวีดิจิทัลเป็นคนละเรื่องกับการขยายระยะเวลาผ่อนชำระค่าคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ อย่าใช้ธุรกิจที่ประสบปัญหาเป็นข้ออ้างในการอุ้มธุรกิจที่มีกำไร เพราะจะไม่ต่างจากการอ้างว่าจะช่วยเหลือคนเจ็บป่วยแต่กลับไปเลี้ยงดูคนปกติ การแฝงเรื่องการขยายระยะเวลาผ่อนชำระค่าประมูล 900 เมกะเฮิรตซ์ เข้าไปกับการดูแลทีวีดิจิทัล ควรต้องน้อมนำพระราโชวาทของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระราชทานเนื่องในวันข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2562 มาไตร่ตรองให้ดีว่า การทำเช่นนี้ถูกต้องเป็นธรรมไหม และมีผลประโยชน์ของแผ่นดินเป็นเป้าหมายสูงสุดหรือไม่

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image