จอดป้ายประชาชื่น : ภัยแล้งกับความหวัง

นับตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ ประเทศไทยหลายพื้นที่เริ่มเข้าสู่ฤดูแล้ง โดยกรมอุตุนิยมวิทยาแจ้งว่า ฤดูแล้งในปีนี้มาเยือนเร็วกว่าปกติ ไม่ถึงสัปดาห์ หลายพื้นที่ในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือประสบปัญหาขาดแคลนน้ำอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำเพื่อทำการเกษตร

อุณหภูมิที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็วเกิดจากปรากฏการณ์เอลนิโญ คาดว่าปริมาณฝนจะต่ำกว่าค่าปกติเฉลี่ยในรอบ 30 ปี อาทิ ภาคเหนือ ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยรวม 30 ปี เดิม 1,230.9 มิลลิเมตร ในปีนี้เหลือ 1,000 มิลลิเมตร ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เดิม 1,400 มิลลิเมตร ปีนี้เหลือ 1,100 มิลลิเมตร ภาคกลาง เดิม 1,275 มิลลิเมตร ในปีนี้เหลือ 1,000 มิลลิเมตร หลายฝ่ายจึงฝากข้อกังวลนี้ไปยังภาครัฐเพื่อเตรียมตัวในการบริหารจัดการน้ำอย่างทันท่วงที เพราะภัยแล้งครั้งนี้กระทบเกือบทั้งประเทศ โดยเฉพาะชาวบ้านที่มีพื้นที่ทำกินอยู่นอกเขตชลประทาน ล่าสุดพืชผลในหลายพื้นที่เริ่มได้รับผลกระทบแล้ว

ประเด็นนี้ นายสำเริง แสงภู่วงค์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ให้ข้อมูลว่า คณะอนุกรรมการวิเคราะห์ติดตามสถานการณ์และการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ที่มี พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้วิเคราะห์ ติดตามสถานการณ์ภัยแล้งที่อาจเกิดขึ้นในปีนี้ หลังประกาศพื้นที่ประสบภัยแล้งในพื้นที่ 3 จังหวัด 8 อำเภอ 30 ตำบล ในพื้นที่ จ.ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ และตราด และจากการแจ้งเตือนเกษตรกรให้งดการปลูกพืชฤดูแล้งและพืชต่อเนื่องใน 21 จังหวัด พบว่า มีการเพาะปลูกเกินแผน จำนวน 1.18 ล้านไร่ และนอกเขตชลประทาน 7 จังหวัด ปลูกเกินแผน จำนวน 1.33 แสนไร่ รวมทั้งประเทศ 36 จังหวัด ปลูกเกินแผน จำนวน 1.32 ล้านไร่ ขณะเดียวกันยังมีการปลูกพืชล่าช้าและต่อเนื่อง คาดว่าจะทำให้ใช้ปริมาณน้ำมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ประมาณ 1,000 ล้านลูกบาศก์เมตร จึงประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลไม่ให้มีการปลูกพืชที่ใช้น้ำมากในช่วงฤดูแล้งปีนี้เพื่อให้มีปริมาณน้ำเพียงพอสำหรับการอุปโภคบริโภค

คงต้องติดตามกันต่อไปว่าแผนงานป้องกันภัยแล้งของรัฐบาลปัจจุบันจะช่วยเหลือได้มากน้อยแค่ไหน และรัฐบาลชุดใหม่จะเตรียมการมีแผนรับมือสำรองไว้หรือไม่ หวังว่าจะบูรณาการร่วมกันเพื่อสานต่อโครงการที่รออยู่แล้ว และเดินหน้าแผนใหม่ที่มีประสิทธิภาพ

Advertisement

ขณะที่ประชาชนก็ควรฟังคำเตือนภาครัฐเพื่อจัดสรรน้ำไว้ใช้ในยามจำเป็น ฟันฝ่าแล้งนี้ไปให้ได้

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image