อินฟราฟัน : แจ้งเกิดกรมราง : นายขันตี

ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาไปเรียบร้อยแล้ว สำหรับพระราชบัญญัติปรับปรุง กระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ 18) พ.ศ.2562 เพื่อจัดตั้งกรมการขนส่งทางราง หรือเรียกสั้นๆ ว่า “กรมราง” หลังจากใช้เวลาดำเนินการมานานหลายปี โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 15 เมษายน 2562 ที่ผ่านมา

การจัดตั้งกรมราง ได้แบ่งออกเป็น 1.กลุ่มภารกิจงาน โดยกรมรางจะอยู่ในกลุ่มขนส่งทางราง 2.ส่วนราชการของกรม จะแบ่งส่วนราชการออกเป็น 5 กอง และ 3.การตัดส่วนราชการของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ที่มีภารกิจของกรมรางออกมา

กรมนี้จะมีอัตรากำลังทั้งหมด 203 คน แบ่งเป็น ข้าราชการ 176 คน และพนักงานข้าราชการอีก 27 คน ในจำนวนนี้จะโอนย้ายบุคลากรจาก สนข.ไป 42 คน ส่วนที่เหลือเป็นหน่วยงานอื่นๆ สำหรับตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงประกอบด้วย อธิบดี 1 ตำแหน่ง รองอธิบดี 1 ตำแหน่ง และวิศวกรใหญ่ 1 ตำแหน่ง

มีหน้าที่กำกับดูแลผู้ให้บริการระบบรางทุกประเภท ทั้งรถไฟธรรมดา รถไฟฟ้า และรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) ดังนั้นจึงจะครอบคลุมผู้ให้บริการทุกราย ไม่ว่าจะเป็น บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีอีเอ็ม การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และผู้ให้บริการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) ในอนาคตด้วย

Advertisement

การกำกับดูแล จะมีตั้งแต่มาตรฐานความปลอดภัย อัตราค่าโดยสาร คุณภาพบริการ การใช้ประโยชน์ในเขตทาง การพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ มาตรการลงโทษ และปรับ รวมถึงกรณีขบวนรถล่าช้ากว่าที่กำหนด เป็นต้น เพื่อให้ผู้ให้บริการทุกรายมีมาตรฐานเดียวกัน

เบื้องต้นกรมรางจะยังไม่มีอำนาจกำกับดูแลสัมปทานรถไฟฟ้าเส้นทางเดิมที่ให้บริการในปัจจุบัน และต้องให้เจ้าของสัมปทานเป็นผู้กำกับดูแลเช่นเดิม แต่หากสัญญาสัมปทานหมดอายุ มีการเปลี่ยนแปลงสัญญา หรือเปิดสัมปทานสายใหม่ ก็จะเป็นหน้าที่ของกรมรางจะต้องเข้าไปกำกับดูแล

ทั้งนี้ช่วงแรก กรมรางจะยังมีอำนาจไม่เต็ม 100% เพราะยังต้องรอร่างพระราชบัญญัติการขนส่งทางราง พ.ศ. … ประกาศใช้ก่อน แต่ในระหว่างที่ พ.ร.บ.การขนส่งทางราง ยังไม่มีผลบังคับใช้ ก็ต้องเชิญผู้บริหารการเดินรถทุกรายเข้ามาหารือ และชี้แจงอำนาจหน้าที่ พร้อมลงนามความร่วมมือ (เอ็มโอยู) กันก่อน

Advertisement

ขณะเดียวกันก็ต้องทำหน้าที่รวบรวมมาตรฐานความปลอดภัย และเตรียมกฎหมายลูกเพื่อรองรับ พ.ร.บ.การขนส่งทางรางด้วย

ล่าสุด กระทรวงคมนาคมอยู่ระหว่างพิจารณารายละเอียดเพื่อตั้งอธิบดี และรองอธิบดีกรมรางขึ้นมา

ทำหน้าที่ได้เต็มร้อยเมื่อไหร่ ก็หวังว่าการให้บริการทางรางจะเป็นมาตรฐานมากขึ้น!!

นายขันตี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image