“กรมอุตุฯ” แจงปมแชร์ข่าวคลื่นความร้อนไม่เป็นความจริง ชี้อุณหภูมิในไทยแม้จะสูงแต่ไม่สูงกว่าค่าเฉลี่ย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 24 เม.ย. กองพยากรณ์อากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา ได้ออกข่าวชี้แจงกรณีเรื่องคลื่นความร้อนหรือฮีตเวฟบริเวณประเทศอินเดียและไทย

ทั้งนี้มีรายละเอียดคือ ตามที่มีการส่งต่อข้อมูลผ่านสื่อสังคมออนไลน์ โดยระบุว่า “คลื่นความร้อน ปกคลุมประเทศอินเดียและไทย ตั้งแต่วันที่ 20 เม.ย. ประมาณ 7 วัน ระวังไปไหนต้องมีน้ำติดตัว” นั้น

กรมอุตุนิยมวิทยา ขอยืนยันว่าข้อมูลดังกล่าวไม่เป็นความจริงและไม่ได้มีที่มาจากข้อมูลของกรมอุตุนิยมวิทยาแต่ประการใด ซึ่งข้อเท็จจริงตามประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยา ประเทศไทยได้เริ่มต้นเข้าสู่ฤดูร้อน มาตั้งแต่วันที่ 21 ก.พ. ทางตอนบนของประเทศมีอุณภูมิสูงขึ้นโดยทั่วไป โดยมีอากาศร้อนถึงร้อนจัดหลายพื้นที่ ทั้งนี้เนื่องจากมีหย่อมความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุม แต่บางวันสภาพอากาศแปรปรวน มีฝนและฝนฟ้าคะนองและมีลูกเห็บเกิดขึ้น ตั้งแต่วันที่ 20-27 เม.ย. ดวงอาทิตย์จะเริ่มตั้งฉากใกล้บริเวณกรุงเทพมหานคร และในวันที่ 26-28 เม.ย. คาดว่าจะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีฝน ฝนฟ้าคะนองและมีลูกเห็บบางพื้นที่

ดังนั้นสถานการณ์คลื่นความร้อนหรือช่วงที่อากาศทีร้อนที่สุด จึงยังไม่มีเกิดขึ้นในระยะนี้แต่อย่างใด ช่วงที่มีอากาศร้อนถึงร้อนจัด อาจจะมีผลกระทบโดยตรงต่อผู้ป่วย ผู้สูงวัย เด็ก ผู้ที่ท้างานหรือประกอบกิจกรรมกลางแจ้ง จึงขอให้กลุ่มเสี่ยงเหล่านี้ดูแลรักษาสุขภาพ รวมถึงประชาชนทั่วไปควรหลีกเลี่ยงอยู่กลางแจ้งเป็นเวลานาน และควรดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ

Advertisement

สำหรับคลื่นความร้อนนั้นจะเกิดขึ้นเมื่อ “อุณหภูมิสูงสุดประจ้าวันสูงกว่าค่าปกติ โดยเฉลี่ยมากกว่า 5 องศาเซลเซียส ติดต่อกันเกินกว่า 5 วันขึ้นไป (อ้างอิงจากองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก) ส่วนประเทศไทยการความร้อนเกิดขึ้นนั้น เป็นเพียงบริเวณความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนที่ปกคลุมทางตอนบนของประเทศ ถึงแม้ว่าอุณหภูมิในตอนกลางวันจะสูงกว่ามากกว่า 40 องศาเซลเซียส แต่โดยเฉลี่ยแล้วจะสูงไม่เกินค่าปกติมากนัก และในช่วงกลางคืนถึงช่วงเช้าอากาศจะคลายความร้อนลง ทำให้ไม่ร้อนอบอ้าวตลอดทั้งวัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image