ถอดรหัส‘ตันจง’ได้ฤกษ์ เปิดไลน์ลุย‘ซูบารุ’ในไทย

ในที่สุด กลุ่มตันจง อินเตอร์เนชั่นแนล (TCIL) กลุ่มทุนจากสิงคโปร์ ผู้ได้รับสิทธิในการจัดจำหน่ายรถยนต์ซูบารุในภูมิภาคเอเชีย ได้แก่ ไทย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน ฮ่องกง จีน สิงคโปร์ เวียดนาม และกัมพูชา ก็ตัดสินใจเข้ามาเปิดโรงงาน ขึ้นไลน์ผลิตรถยนต์ซูบารุในประเทศไทย หลังจากเข้ามาทำตลาดรถยนต์ในประเทศไทยมาเป็นระยะเวลานานแล้ว

ตันจง เข้ามาขายซูบารุไทยในช่วงปี พ.ศ.2529 เดิมใช้ชื่อว่า มอเตอร์อิมเมจ บริษัทในเครือตันจง อินเตอร์เนชั่นแนล

เดิมทีหากพูดถึงรถยนต์ซูบารุในประเทศไทย ส่วนใหญ่จะนึกถึงรถเก๋งเครื่องยนต์แรงๆ หรือ รถเพื่อการพาณิชย์ทั้งขนาดเล็กและใหญ่ หรือแม้แต่รถโดยสารขนาดเล็ก

จุดเด่นของรถยนต์ซูบารุก็คือ การใช้เครื่องยนต์บ๊อกเซอร์ กับขนาดเครื่องยนต์มากกว่า 1500 ซีซี และระบบขับเคลื่อนสี่ล้อ หรือ ระบบ ซิมเมตริคัล ออลวีลไดรฟ์ ถือว่าเป็นดาวเด่นสำหรับผู้ชื่นชอบรถยนต์เน้นสมรรถนะโดดเด่นเลยทีเดียว

Advertisement

ต่อมา เมื่อซูบารุ มีรถยนต์รุ่นใหม่ๆ มากขึ้น โดยเฉพาะรถยนต์ประเภทอเนกประสงค์หรือเอสยูวี และเป็นเทรนด์รถยนต์ยอดนิยมของทั่วโลก ซูบารุมีรถยนต์ประเภทนี้หลายรุ่น และก็ถือว่าประสบความสำเร็จด้วยเช่นกัน

โดยเฉพาะรถยนต์เอสยูวีรุ่น เอ็กซ์วี รถยนต์อเนกประสงค์รุ่นเล็กสุดของซูบารุ มีฐานการผลิตอยู่ที่มาเลเซีย ผลิตไม่ทันขาย จึงต้องหาทางขยับขยายโรงงานผลิตมาประเทศไทย ช่วงแรกอาจใช้ผลิตเอสยูวีรุ่นใหญ่กว่าเอ็กซ์วี ก็คือ ฟอเรสเตอร์ ไปพลางก่อน

ต่อไปเมื่อยอดขายเอ็กซ์วีเพิ่มขึ้นมากกว่านี้ อาจจะให้โรงงานแห่งใหม่ในประเทศไทยนี้ช่วยผลิต หรืออาจจะใช้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตหลักเลยก็เป็นไปได้

Advertisement

บริษัท ตันจง ซูบารุ ออโตโมทีฟ (ประเทศไทย) จำกัด (TCSAT) โรงงานแห่งนี้ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง มีพื้นที่รวมมากกว่า 100,000 ตารางเมตร เม็ดเงินลงทุนเบื้องต้นกว่า 5 พันล้านบาท ผลิตรถยนต์ซูบารุ ฟอเรสเตอร์ ได้มากกว่า 6,000 คัน ได้ภายในปีแรกของการดำเนินงาน เพื่อป้อนตลาดภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เพิ่มมากขึ้น

สำหรับ TCSAT อยู่ในเครือของกลุ่มตันจง อินเตอร์เนชั่นแนล (TCIL) ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง และซูบารุ คอร์ปอเรชั่น (SBR) ประเทศญี่ปุ่น ร่วมมือเชิงกลยุทธ์ระหว่างกัน

ครั้งนี้กลุ่ม TCIL ถือหุ้นร้อยละ 74.9 ผ่านบริษัท ในเครือของตนอีกหนึ่งบริษัท คือ บริษัท ทีซี แมนูแฟคแจอริ่ง แอนด์ แอสเซมบลี (ประเทศไทย) จำกัด (TCMA) ในขณะที่ซูบารุ คอร์ปอเรชั่น (SBR) ถือหุ้นที่เหลืออีก 25.1%

ตันจงมองว่าทำเลยุทธศาสตร์ของประเทศไทย เป็นหนึ่งในประเทศสำคัญของภูมิภาคอาเซียน ผนวกกับข้อได้เปรียบของข้อตกลงทางการค้าในประชาคมอาเซียน การตั้งโรงงานในไทยน่าจะช่วยให้มีความคล่องตัวในการผลิต และการกำหนดราคารถยนต์ซูบารุ โดยยังคงไว้ซึ่งศักยภาพการแข่งขันในตลาดและเพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นได้

สำหรับรถยนต์ซูบารุ ฟอเรสเตอร์ รุ่นที่ 5 เป็นรถยนต์แบบน็อกดาวน์ (completely knocked-down หรือ CKD) รุ่นแรกประกอบขึ้นภายใต้การดูแลของ TCSAT และจะถูกจัดจำหน่ายในไทย มาเลเซีย เวียดนาม และกัมพูชา โดยมอเตอร์ อิมเมจ กรุ๊ป (Motor Image Group) บริษัทในเครือของ TCIL

ขณะนี้รถยนต์ 100 คันแรกได้ถูกส่งมอบให้กับลูกค้าแล้ว และเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา กลุ่มมอเตอร์ อิมเมจ รายงานตัวเลขยอดขายสูงสุดเป็นประวัติการณ์ของบริษัท จากงาน มอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 40 ยอดขายส่วนใหญ่เกิดจากซูบารุ ฟอเรสเตอร์

เกลน ตัน รองประธานกรรมการ และกรรมการผู้จัดการ กลุ่มตันจง อินเตอร์เนชั่นแนล (TCIL) กล่าวว่า การที่เราสามารถผลิตรถยนต์ซูบารุในประเทศไทยได้ด้วยตนเอง ถือเป็นก้าวแรกของความสำเร็จครั้งสำคัญ ที่ผ่านมาเราดูแลธุรกิจในเกือบทุกขั้นตอนตั้งแต่การจัดจำหน่าย การแต่งตั้งผู้จำหน่าย และการบริการหลังการขาย แต่ตอนนี้เราสามารถดูแลการผลิตรถยนต์ซูบารุได้แล้ว การวางแผนธุรกิจระยะยาวอย่างมียุทธศาสตร์ ช่วยให้บริหารจัดการระบบห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) ได้ดีขึ้น ขยายสายการผลิตได้มากขึ้น ทำตลาดในระดับท้องถิ่นได้ดีขึ้น พึ่งพาความช่วยเหลือจากญี่ปุ่นน้อยลง ตอบสนองความต้องการรถยนต์ซูบารุของผู้บริโภคในภูมิภาคนี้ได้ดีมากขึ้น นั่นหมายถึงมีโอกาสขยายไปสู่ภูมิภาคอื่นได้ด้วยในอนาคต

TCSAT ได้ว่าจ้างทีมพนักงานชาวญี่ปุ่นควบคุมมาตรฐานและกระบวนการผลิต เพื่อให้คงไว้ซึ่งมาตรฐานญี่ปุ่น นำหุ่นยนต์ประสิทธิภาพสูงมาใช้ในกระบวนการประกอบรถยนต์หลายขั้นตอนเพื่อให้บรรลุคุณภาพและปราศจากข้อบกพร่อง การทำสีนั้นก็ใช้ระบบอัตโนมัติทุกขั้นตอน ตั้งแต่การเตรียมผิวรถล่วงหน้า ระบบ อีเลคทริคัล ดีโพสิท (Electrical Deposit) การลงสีชั้นรองพื้น และการเคลือบผิวชั้นบนสุด จุดเชื่อมต่อที่สำคัญระหว่างของตัวถังรถกับชิ้นส่วนกระจกก็ใช้วิธีการอัตโนมัติ เพื่อให้สม่ำเสมอทั่วทั้งตัวรถ การทำงานในทุกขั้นตอนคือการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีและทักษะที่ซูบารุ คอร์ปอเรชั่นถ่ายทอดกับกลุ่มตันจงมาโดยตลอด

กระบวนการควบคุมคุณภาพและการแก้ไขข้อผิดพลาดจะถูกดำเนินควบคู่ไปตลอดกระบวนการประกอบชิ้นส่วน ซูบารุ คอร์ปอเรชั่น ตรวจสอบคุณภาพการผลิตอย่างสม่ำเสมอ เป็นคุณสมบัติเป็นเอกลักษณ์ของโรงงาน ได้แก่ ลู่ทดสอบสร้างขึ้นพิเศษเพื่อประเมินสภาพของรถทุกคันก่อนออกจากโรงงาน ขั้นตอนการควบคุมคุณภาพที่เข้มข้นช่วยให้มั่นใจได้ว่ารถทุกคันเชื่อถือได้

ด้วยมาตรฐานเดียวกับญี่ปุ่น รถยนต์ซูบารุ ฟอเรสเตอร์ ประกอบในไทย จะยังคงเน้นความแข็งแกร่งและพื้นที่ใช้สอยกว้างขวางสำหรับทุกคนในครอบครัว พร้อมนำเสนอเทคโนโลยีหลักทั้งสี่ของซูบารุ ได้แก่

ระบบขับเคลื่อนสี่ล้อแบบสมมาตร (Subaru Symmetrical All-Wheel Drive) ถ่ายทอดพลังไปยังล้อทั้งสี่ เพื่อให้ผู้ขับขี่ได้อย่างมั่นใจ เครื่องยนต์บ็อกเซอร์ที่มีจุดศูนย์ถ่วงต่ำ เพื่อความเสถียรและการควบคุมรถยนต์ที่ดีขึ้น เทคโนโลยี อายไซท์ ไดรฟ์เวอร์-แอสสิสท์ (EyeSight Driver-Assist) ช่วยเตือนผู้ขับขี่ถึงความเสี่ยงที่ไม่คาดคิดและช่วยป้องกันอุบัติเหตุ และ ซูบารุ โกลบอล แพลตฟอร์ม (Subaru Global Platform) ยกระดับความปลอดภัย ออกแบบตัวถังและแชสซีส์ใหม่

โรงงานประกอบรถยนต์ของ TCSAT เป็นโรงงานแห่งที่สองในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประกอบรถยนต์ซูบารุ โดยแห่งแรกอยู่ที่มาเลเซีย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image