คนทีวีดิจิทัลเคว้ง! แห่คืนใบอนุญาต 7 ช่อง หันลุยออนไลน์ บีอีซีฯ คืน 2 ช่อง

เมื่อเวลา 15.30 น. วันที่ 10 พฤษภาคม 2562 นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) เปิดเผยในการแถลงข่าวสรุปการยื่นความประสงค์ขอคืนใบอนุญาตของผู้ประกอบกิจการทีวีดิจิทัล และการขอขยายระยะเวลาการชำระค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ ของผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม ว่า สำหรับผู้ประกอบกิจการทีวีดิจิทัล มีผู้แจ้งความประสงค์ขอคืนใบอนุญาต จำนวน 7 ช่อง ได้แก่ ช่อง 13 ช่อง 3 แฟมิลี่ (บริษัท บีอีซี-มัลติมีเดีย จำกัด), ช่อง 14 เอ็มคอตแฟมิลี่ (บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)), ช่อง 19 สปริงส์นิวส์ (บริษัท นิวส์ เน็ตเวิร์ค คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)), ช่อง 20 ไบรท์ทีวี (บริษัท ไบร์ท ทีวีจำกัด), ช่อง 21 วอยซ์ ทีวี (บริษัท วอยซ์ ทีวี จำกัด), ช่อง 26 สปริง (บริษัท สปริง 26 จำกัด) และช่อง 28 ช่อง 3 เอสดี (บริษัท บีอีซี-มัลติมีเดีย จำกัด) ขณะที่ ผลของการคืนใบอนุญาตดังกล่าว ส่งผลให้ทีวีดิจิทัล คงเหลือ 15 ช่อง จากเดิม 22 ช่อง

“พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แสดงความเป็นห่วงอย่างมากต่อพนักงานที่ต้องถูกเลิกจ้าง จึงอยากให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลที่คืนใบอนุญาต มีมาตรการดูแลพนักงาน โดยหลังจากได้รับเงินชดเชยแล้ว ให้นำไปเยียวยาพนักงานกลุ่มดังกล่าว ให้มากกว่าอัตราที่กฎหมายแรงงานกำหนด” นายฐากร กล่าว

นายฐากร กล่าวว่า ขั้นตอนดังกล่าวเป็นเพียงการแจ้งความประสงค์ขอคืนใบอนุญาตของผู้ประกอบกิจการทีวีดิจิทัล หากจะให้สมบูรณ์ผู้ประกอบการต้องส่งเอกสารให้ สำนักงาน กสทช. พิจารณาไม่เกิน 60 วัน ทั้งนี้ หากเอกสารไม่ครบถ้วนขยายระยะเวลาการส่งเอกสารให้อีก 30 วัน โดยแต่ละช่องจะต้องส่งแผนยุติการออกอากาศเพื่อประกอบการพิจารณาด้วย จากนั้นจะนำเข้าสู่ที่ประชุม กสทช. ให้อนุมัติการยุติการออกอากาศ เพื่อแจ้งให้ประชาชนรับทราบว่า อีก 30 วัน หรือ 45 วัน หรือ 60 วัน ช่องดังกล่าวจะยุติการออกอากาศ และเมื่อยุติการออกอากาศแล้วในวันถัดไป ซึ่งคาดว่า ผู้ประกอบการจะสามารถนำเอกสารหลักฐานมายื่นเพื่อรับเงินชดเชยได้ ไม่เกินเดือนสิงหาคม 2562

“เอกสารต่างๆ ที่ต้องยื่นต่อสำนักงาน กสทช. อาจมีความซับซ้อนบ้างสำหรับผู้ประกอบการที่ถือครองหลายใบอนุญาต ที่ต้องจัดทำบัญชีแยกแต่ละช่องให้ชัดเจน ซึ่งเต็มที่คาดว่าไม่เกิน 10 วัน น่าจะแล้วเสร็จ ส่วนผู้ประกอบการที่ถือครองใบอนุญาตเพียงใบเดียว เตรียมเอกสาร ใน 5 วันน่าจะแล้วเสร็จได้ ไม่จำเป็นต้องเตรียมเอกสารจนครบเวลา 60 วันหรอก เมื่อยื่นเอกสารเร็ว ก็จะเข้าสู่การพิจารณาเร็ว เงินที่จะได้รับชดเชยก็อาจจะได้รับก่อนเดือนสิงหาคมนี้ก็ได้” นายฐากร กล่าว

Advertisement

นายฐากร กล่าวว่า ขณะที่ ผู้ประกอบการโทรคมนาคม 3 ราย ได้แก่ บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด หรือทียูซี ในเครือบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือทรู ถัดมา คือ บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด หรือดีทีเอ็น ในเครือบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค และบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (เอดับบลิวเอ็น) ในเครือบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จากัด (มหาชน) หรือเอไอเอส แจ้งความประสงค์ขอขยายระยะเวลาการชำระค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์

“ผู้ประกอบการโทรคมนาคม ทั้ง 3 ราย ส่งหนังสือชี้แจงไปในทิศทางเดียวกันว่า จะขอพิจารณาราคาตั้งต้นการประมูลเป็นหลักว่า จะเข้าร่วมการจัดสรรคลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์หรือไม่ โดยวันที่ 14 พฤษภาคม 2562 จะนำร่างประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคม ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ ลงบนเว็บไซต์ สำนักงาน กสทช. เพื่อรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ ต่อมาวันที่ 27 พฤษภาคม 2562 จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ และวันที่ 1-7 มิถุนายน 2562 จะนำส่งประกาศ เพื่อประกาศราชกิจจานุเบกษา ขณะที่ สำนักงาน กสทช. จะออกประกาศ การขอรับจัดสรรคลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ ในวันที่ 8 มิถุนายน 2562 และยื่นคำขอรับใบอนุญาตและจัดสรรคลื่นความถี่ วันที่ 19 มิถุนายน 2562” นายฐากร กล่าว

นายฐากร กล่าวว่า หลักเกณฑ์การจัดสรรคลื่นความถี่ 700 เมกะเฮิรตซ์ เบื้องต้นจะจัดสรรจำนวน 45 เมกะเฮิรตซ์ แบ่งเป็น 3 ใบอนุญาตๆ ละ 15 เมกะเฮิรตซ์ ราคาไม่ต่ำกว่า 25,000-27,000 ล้านบาท ใบอนุญาตมีอายุ 15 ปี แบ่งการชำระเงินเป็น 10 ปี ปีละเท่าๆ กัน ซึ่งคาดว่า ในเดือนมิถุนายนนี้ การจัดสรรคลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ จะแล้วเสร็จ และจะเริ่มจัดสรรคลื่นความถี่ย่าน 2600 เมกะเฮิรตซ์ คู่กับ 26-28 กิกะเฮิรตซ์ ในรูปแบบการประมูลแบบมัลติแบนด์ ช่วงปลายปี 2562

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image