“ทีวีดิจิทัล” แห่คืนใบอนุญาต 7 ช่อง – “AWN” ขอยืดหนี้คลื่น 900 MHz รอดูเกณฑ์จัดสรรคลื่น 700 MHz

เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) แถลงว่า มีผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล 7 ช่อง ยื่นความจำนงขอคืนใบอนุญาตตามประกาศ กสทช. และคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ที่ 4/2562 เรื่อง มาตรการแก้ไขปัญหาการประกอบกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม ลงวันที่ 11 เมษายน 2562

นายฐากรกล่าวว่า ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลที่ยื่นความจำนง 7 ช่อง ประกอบด้วย 1. สปริงนิวส์19 2. วอยซ์ ทีวี 21 3. ไบร์ททีวี 20 4. ช่อง mcot 14 5. Now 26 6. ช่องเด็ก-13 7. ช่อง 3 – 28 SD หลังจากนี้ช่องที่แจ้งคืนใบอนุญาตทีวีดิจิทัล จะต้องส่งเอกสารมายังสำนักงาน กสทช. อย่างเป็นทางการ เพื่อพิจารณากำหนดมาตรการเยียวยาต่อไป ดังนั้น ทีวีดิจิทัลจากเดิมที่มีทั้งหมด 22 ช่อง เมื่อคืนใบอนุญาต 7 ช่อง จึงเหลือที่ยังดำเนินกิจการต่อ 15 ช่อง ทั้งนี้ ขอฝากไปยังผู้ประกอบกิจการที่คืนใบอนุญาต สิ่งที่สำคัญที่สุดหลังจากได้เงินจากรัฐบาลคืนกลับไปแล้ว ขอให้เยียวยาพนักงานให้ดีกว่ากฎหมายแรงงาน

นายฐากรกล่าวว่า ขณะเดียวกัน บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด หรือ “AWN” ในกลุ่มเอไอเอส ได้ยื่นหนังสือถึงสำนักงาน กสทช. เพื่อแจ้งความประสงค์ขอแบ่งชำระเงินประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900MHz ตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 4/2562 เรื่อง มาตรการแก้ไขปัญหาการประกอบกิจการโทรทัศน์และโทรคมนาคม โดยมีเงื่อนไขจะรอการพิจารณาหลักเกณฑ์ราคาและเงื่อนไขต่างๆ ของการจัดสรรคลื่นความถี่ย่าน 700 MHz ที่ชัดเจนจาก กสทช. อีกครั้ง

Advertisement

นายวีรวัฒน์ เกียรติพงษ์ถาวร หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านธุรกิจสัมพันธ์และองค์กร เอไอเอส กล่าวว่า การพิจารณาเพื่อรับคลื่นความถี่ย่าน 700 MHz นั้น จำเป็นต้องศึกษาอย่างรอบคอบ ทั้งเรื่องราคาและความพร้อมในการนำคลื่นมาใช้ หากราคาสูงเกินไปก็นับว่าไม่คุ้มค่าต่อการลงทุนในปัจจุบัน เนื่องจากหากนำมาให้บริการ 5G ก็ยังไม่มี Business Use Case ที่แท้จริงเกิดขึ้น หลายประเทศที่เร่งผลักดันให้มี 5G รัฐบาลก็มอบคลื่นความถี่ให้ผู้ประกอบการ โดยไม่คิดมูลค่า

“การตั้งราคาคลื่น 700 MHz นี้ ไม่สามารถเทียบกับราคาคลื่น 900 MHz และ 1800 MHz ที่เคยประมูลไปก่อนหน้านี้ได้ เนื่องจากคลื่น 900 MHz และ 1800 MHz เป็นคลื่นที่มีฐานลูกค้าใช้งานอยู่แล้ว ทำให้สามารถหารายได้มาชดเชยค่าคลื่นความถี่ได้ทันที ขณะที่คลื่น 700MHz ซึ่ง กสทช. จะนำมาจัดสรรให้นี้ ยังเป็นคลื่นใหม่ที่ไม่มีฐานลูกค้าใช้งานอยู่เลย ประการสำคัญ Device สำหรับลูกค้า ที่สามารถรองรับคลื่นนี้ ก็ยังมีอยู่จำนวนน้อยและราคาแพง จึงไม่คุ้มค่าที่จะลงทุนโครงข่ายคลื่น 700 MHz ในปัจจุบัน ดังนั้นบริษัทจึงต้องพิจารณาหลักเกณฑ์ ราคาและเงื่อนไขที่ชัดเจน จาก กสทช. อีกครั้งก่อน โดยขณะนี้ให้บริษัทที่ปรึกษาเข้ามาศึกษาความคุ้มค่าในการลงทุนครั้งนี้แล้ว”นายวีรวัฒน์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image