‘กฤษฎา บุญราช’ตอกหมุด’10 ประเด็น’แนวทางการปฏิรูปภาคการเกษตร

เปิดสาระสำคัญแนวทางการปฏิรูปภาคการเกษตรตามข้อเสนอ’กฤษฎา บุญราช’ตามพ.ร.บ.เศรษฐกิจการเกษตร ปี 2522

1.แนวโน้มเกษตรกรรมของไทยควรมุ่งไปสู่การรวมผืนที่ดินเป็นเกษตรแปลงใหญ่ โดยรวมเกษตรกรรายเล็กรายน้อยให้เป็น “วิสาหกิจเกษตรแปลงใหญ่”

2.วิสาหกิจเกษตรแปลงใหญ่ หรือ Mega Farm Enterprise (MFE) เป็นโครงการที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ขยายผลมาจากนโยบายเกษตรแปลงใหญ่ โดยจะเป็นความหวังใหม่ที่จะนำมาเป็นกลไกปฏิรูปภาคการเกษตรของไทย ช่วยให้เกษตรกรสมาชิกที่เข้าร่วมโครงการมีช่องทางการจำหน่ายผลผลิตที่แน่นอนขึ้น ช่วยลดต้นทุนการผลิต และยังช่วยเพิ่มอำนาจต่อรองในการซื้อปัจจัยการผลิตและขายผลผลิตอีกด้วย

3.ขนาดพื้นที่วิสาหกิจเกษตรแปลงใหญ่ กำหนดให้มีขนาดพื้นที่ติดกันรวมกันแล้วไม่น้อยกว่า 500 ไร่ ขึ้นไป เพื่อก่อให้เกิดการประหยัดต่อขนาดจากการผลิต (Economies of Scale) ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง

Advertisement

4.กระทรวงเกษตรฯ จะรวบรวมกลุ่มเกษตรกรที่เป็นเจ้าของที่ดินเพื่อจดทะเบียนเป็นสหกรณ์การเกษตร หรือวิสาหกิจชุมชน

5.มีการแต่งตั้ง “ผู้จัดการวิสาหกิจเกษตรแปลงใหญ่” โดยคัดเลือกจากเกษตรกรเจ้าของที่ดินที่มีศักยภาพ และต้องการทำการเกษตรเอง หรือคัดเลือกจากบุตร/หลานเกษตรกรในพื้นที่ที่ผ่านการอบรมหลักสูตรการเกษตรกรรมขณะเป็นทหารกองประจำการของกองทัพภาคต่างๆ/คัดเลือกบุตรหลานของเกษตรกรเจ้าของที่ดินที่ผ่านการอบรมหลักสูตรเกษตรสมัยใหม่ (Smart Farmer) ของกรมส่งเสริมการเกษตรมาทำหน้าที่เป็นผู้จัดการประจำวิสาหกิจเกษตรแปลงใหญ่

6.ภาครัฐและเอกชนจะร่วมกันสนับสนุนองค์ความรู้และวิทยาการจัดการสมัยใหม่แบบเกษตรแม่นยำ (Precision Agriculture) จัดหลักสูตรอบรมให้กับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ ตลอดจนให้การแนะนำวิธีการผลิตและการจัดการวิสาหกิจเกษตรแปลงใหญ่ที่ใช้ต้นทุนต่ำแต่ให้ผลผลิตสูงพร้อมคุณภาพที่ดี

Advertisement
7.ภาคเอกชนกับเกษตรกรจะลงทุนร่วมกัน โดยจะหารือและตกลงร่วมกันก่อนว่าจะทำการเกษตรชนิดไหนหรือจะปลูกพืชหรือเลี้ยงสัตว์อะไรที่เป็นความต้องการของตลาด หลังจากนั้นให้เกษตรกรเจ้าของที่ดินจะใช้ที่ดินของตนเองลงทุนร่วมกันในวิสาหกิจเกษตรแปลงใหญ่ เหมือนการร่วมกันทำนาด้วยการลงแขกในอดีต โดยมีข้อตกลงให้เอกชนลงทุนออกค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับเครื่องมือ เครื่องจักร หรือแนะนำวิธีการทำเกษตรกรรมสมัยใหม่และหรือรับซื้อผลผลิตของวิสาหกิจเกษตรแปลงใหญ่ โดยมีการแบ่งปันผลประโยชน์ร่วมกันอย่างเหมาะสมและเป็นธรรม

8.การจำหน่วยผลผลิต มอบหมายให้สหกรณ์การเกษตร หรือวิสาหกิจชุมชน ทำหน้าที่เป็นตัวแทนเกษตรกรรวบรวมผลผลิตในโครงการขายให้กับภาคเอกชน หรือส่งไปจำหน่ายในตลาด รวมทั้งส่งออกไปขายต่างประเทศ หรือขายในระบบออนไลน์ เป็นต้น

9.ส่งเสริมการยกระดับมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตจากวิสาหกิจเกษตรแปลงใหญ่ ด้วยเชิญชวนภาคเอกชนเข้ามาตั้งโรงงานรวบรวมผลผลิต หรือตั้งโรงงานแปรรูปผลผลิตของโครงการโดยตรงในลักษณะอุตสาหกรรมการเกษตร

10.องค์กรที่ทำหน้าที่รับผิดชอบในการปฏิรูปภาคการเกษตรตามพระราชบัญญัติเศรษฐกิจการเกษตร พ.ศ. 2522 ในส่วนกลางให้ใช้คณะกรรมการนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธานและมีกรรมการจากส่วนราชการต่างๆ รวมทั้งภาคเอกชนและผู้แทนกลุ่มเกษตรกรเป็นกรรมการทำหน้าที่กำหนดนโยบายและแนวทางการจัดการปฏิรูปภาคเกษตรกรรมในด้านต่างๆ เพื่อให้ส่วนราชการในสังกัด กษ. นำไปปฏิบัติ ทั้งนี้ในระดับพื้นที่ให้ใช้คณะอนุกรรมการพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์จังหวัด (อ.พ.ก.) ซึ่งมี ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานและมีกรรมการประกอบด้วยหน่วยราชการและภาคเอกชนในพื้นที่ทำหน้าที่ร่วมกันขับเคลื่อนงาน โดยมีการประชุมปรึกษาหารือกันเพื่อกำหนดภารกิจและหน่วยงานผู้รับผิดชอบแต่ละด้านในการบริหารจัดการปฏิรูปภาคการเกษตรตามแนวทางในข้อ 1-9 ดังกล่าวข้างต้นให้ประสบความสำเร็จให้จงได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image