นักวิชาการหนุน ‘กฤษฎาโมเดลวิสาหกิจเแปลงใหญ่’ ชี้หลายประเทศทำแล้ว

โครงการวิสาหกิจเกษตรแปลงใหญ่ข้าว 2 แปลงต้นแบบเริ่มเพาะปลูกแล้ว ส่งเสริมปลูกข้าวพันธุ์ดี มีตลาดรองรับ ด้านนักวิชาการเศรษฐศาสตร์ระบุ การให้เอกชนร่วมลงทุนกับกลุ่มเกษตรกรได้ประโยชน์หลายประการ เป็นรูปแบบที่ใช้ในหลายประเทศ ย้ำให้ภาครัฐเป็นคนกลางกำหนดการจัดสรรปันส่วนผลประโยชน์ที่เป็นธรรมต่อทุกฝ่าย

นายประสงค์ ประไพตระกูล อธิบดีกรมการข้าว กล่าวว่า แผนการดำเนินงานวิสาหกิจแปลงใหญ่ข้าวดำเนินการ 2 แปลงใหญ่ต้นแบบได้แก่ ที่สหกรณ์พรหมพิราม อำเภอพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลก 2,000 ไร่ เกษตรกรร่วมโครงการ 138 ราย โดยจากการหารือร่วมกับผู้จัดการ สหกรณ์ ผู้อำนวยการสหกรณ์จังหวัดพิษณุโลก เจ้าหน้าที่สหกรณ์ที่ดูแลการผลิตข้าว กข 43 ของกลุ่มนาแปลงใหญ่ ผู้จัดการแปลง (เจ้าหน้าที่ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวพิษณุโลก) กรมการข้าว และผู้แทนบริษัท ซี.พี. จำกัด ได้ข้อสรุปว่า กลุ่มนาแปลงใหญ่กลุ่มนี้ปลูกข้าวพันธุ์ กข 43 เนื่องจากเป็นข้าวเพื่อสุขภาพ ดัชนีน้ำตาลต่ำ เป็นที่นิยมของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งได้เพาะปลูกมาตั้งแต่เดือนเมษายน โดยปีนี้สหกรณ์ปลูกเป็นปีที่ 2 จึงมีแผนในการบริหารจัดการเชิงธุรกิจครบวงจร นำผลผลิตส่งบริษัท ซี.พี. จำกัด และสหกรณ์ผลิตจำหน่ายเองส่วนหนึ่ง เมื่อถึงหน้าแล้งจะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังฤดูทำนา โดยดำเนินการร่วมกับบริษัท ซี.พี. จำกัด ในการบริหารจัดการเชิงธุรกิจแบบครบวงจร ตั้งแต่เรื่องเมล็ดพันธุ์ที่ใช้ปลูก การให้บริการแก่สมาชิกนาแปลงใหญ่โดยสหกรณ์ และบริษัท ซี.พี. จำกัด รับซื้อคืน ส่วนอีกแปลงคือ วิสาหกิจแปลงใหญ่ข้าวตำบลโพนข่า อำเภอเมือง จังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งอยู่ในเขตทุ่งกุลาร้องไห้เหมาะปลูกข้าวหอมมะลิเกษตรกรร่วมโครงการ 90 ราย พื้นที่ 1,200 ไร่ ปลูกข้าวพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 ร่วมกับบริษัท เจียเม้งมาร์เก็ตติ้ง จำกัด ขณะนี้อยู่ระหว่างการไถเตรียมแปลง โดยจะเริ่มเพาะปลูกในฤดูฝนนี้ ตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป

“แปลงใหญ่ข้าวต้องปลูกตามมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) เมื่อเก็บเกี่ยวแล้วต้องสีในโรงสีที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน GMP ทั้งนี้ ข้าวทั้ง 2 ชนิดเป็นข้าวคุณภาพดี การปลูกแบบแปลงใหญ่สามารถควบคุมตั้งแต่การคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ ไม่ให้มีข้าวสายพันธุ์อื่นเจือปนได้ รวมถึงมีระบบการตรวจสอบย้อนกลับได้ว่า มาจากแปลงใด ซึ่งกรมการข้าวจะออกเครื่องหมายรับรองข้าวพันธุ์แท้ให้” นายประสงค์กล่าว

ด้านรองศาสตราจารย์วิษณุ อรรถวาณิช คณะเศรษฐศาตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า การทำเกษตรกรรมโดยร่วมกับภาคเอกชนนั้น มีดำเนินการในหลายประเทศเช่น จีน อินเดีย รวมถึงโครงการที่องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) จัดทำ เนื่องจากหากเกษตรกรดำเนินการเองอาจมีศักยภาพการผลิตและการตลาดไม่ครบวงจร เมื่อภาคเอกชนเข้ามาสามารถถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต ลงทุนด้านเครื่องจักรกลการเกษตร รวมถึงรับซื้อ แปรรูป และหาตลาด ดังนั้น โครงการวิสาหกิจเกษตรแปลงใหญ่ที่กระทรวงเกษตรฯวางไว้เป็นโครงสร้างการทำเกษตรแผนใหม่ของประเทศจึงจะช่วยเพิ่มพูนรายได้ของเกษตรกรได้ ทั้งนี้ ในระยะต้นภาครัฐต้องกำกับดูแลอย่างใกล้ชิดเพื่อให้องค์ประกอบ 3 Ps ได้แก่ Public Private และ Partnership ทำงานอยู่ร่วมกันได้อย่างเป็นระบบ โดยอาจดึงภาคการศึกษามาร่วมด้วย

Advertisement

“กระทรวงเกษตรฯต้องกำหนดกติกาต่างๆ ให้ชัดเจนแต่เริ่มต้น ในทางเศรษฐศาสตร์นั้น รัฐควรสร้างแรงจูงใจให้ทั้งกลุ่มเกษตรกรและเอกชนที่มาลงทุน มีรูปแบบบริหารจัดการตามบทบาทที่วางไว้เพื่อนำไปสู่การแบ่งปันผลประโยชน์อย่างเป็นธรรม เป็นการปฏิรูปการทำเกษตรกรรมไปสู่ความยั่งยืน” รองศาสตราจารย์วิษณุกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image