ภาคเอกชน คาดหวัง รบ.ใหม่ ฟื้น ศก.-สร้างเชื่อมั่น

เหลือระยะเวลาอีกไม่นาน ประเทศไทยกำลังมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขณะดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก(ผบ.ทบ.) และเป็นหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ทำการรัฐประหารรัฐบาลพลเรือนเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 และก่อนหน้านั้น การเมืองของไทยอยู่ในขั้นเกิดวิกฤตการณ์ต่างๆ มากมาย ในช่วง 13 ปี เกิดการรัฐประหารถึง 2 ครั้ง ประเทศไทยต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอยู่บ่อยครั้ง

โดยส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ส่วนเศรษฐกิจของไทยจะกลับมาฟื้นตัวหรือดีขึ้นอีกหรือไม่

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวว่า ภาคเอกชนต่างเฝ้ารอการฟอร์มทีมจัดตั้งรัฐบาลใหม่ว่าจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร โดยเฉพาะทีมเศรษฐกิจจะมีรัฐมนตรีท่านใดบ้าง ที่อยากเห็นเพราะอยากให้รีบเข้ามาทำงาน กระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะ ส.อ.ท.คาดหวังเห็นทีมเศรษฐกิจที่เข้มแข็งและทำงานแบบบูรณาการกับกระทรวงเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้อง

เรื่องการทำงานที่บูรณาการระหว่างกระทรวงเศรษฐกิจด้วยกันเองสำคัญมาก ขณะนี้ประเทศไทยมีโจทย์ใหญ่ที่ต้องรับมือสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ผันผวนจากภาวะสงครามทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน หลังสหรัฐอเมริกาปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนวงเงิน 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐ สู่ระดับ 25% จากระดับ 10% และจีนตอบโต้คืนด้วยการประกาศขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐวงเงิน 6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ การตอบโต้ครั้งนี้จะทวีความขัดแย้ง กระทบกับการค้าโลกของทั้งโลกแน่นอน

Advertisement

นายเกรียงไกรกล่าวอีกว่า ไทยเป็นประเทศที่พึ่งพิงการส่งออก 70% จึงเป็นความท้าทายของรัฐบาลใหม่จะต้องมีทีมเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งเข้ามารับมือ หากเงินบาทไทยผันผวนเกิดการแข็งค่าเพิ่มขึ้น และสหรัฐขึ้นภาษีอีกระลอกจะกดดันส่งออกไทยให้ลดลงมากกว่านี้

“ปัจจุบันการส่งออกของไทยส่วนหนึ่งอยู่ในห่วงโซ่อุปทานที่สำคัญของจีน โดยจีนเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของไทย มีการส่งออกคิดเป็น 12% โดยเฉพาะการส่งออกชิ้นส่วน สินค้าปฐมภูมิเพื่อให้จีนไปประกอบเป็นสินค้าสำเร็จรูปและส่วนหนึ่งส่งไปยังสหรัฐ เมื่อสหรัฐขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนเพิ่มย่อมกระทบกับไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม แต่ในแง่ผลบวกสหรัฐอาจนำเข้าสินค้าจากไทยไปทดแทนสินค้าจีนเพิ่มขึ้น แต่ภาพรวมผลลบจะมีมากกว่า ที่ผ่านมาแค่สหรัฐประกาศจะขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนในช่วงก่อนหน้า 4-5 วัน ได้กระทบกับตลาดหุ้นไปทั่วโลก ดังนั้น สงครามการค้าที่กลับมารุนแรงจึงกดดันเศรษฐกิจโลกภาพรวมอีกครั้ง เบื้องต้นคาดว่าจะกระทบการส่งออกของไทยในปี 2562 เติบโตได้เพียง 2.5-3% จากเดิม ส.อ.ท.คาดโตระดับ 3-4% ขณะที่จีดีพีล่าสุดคาดว่าจะเติบโตเพียง 3.5-3.6% จากที่เคยคาด 3.7-3.8% ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา”

นายเกรียงไกรกล่าวต่อว่า อยากให้เร่งสร้างความเชื่อมั่นการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) อย่างเร่งด่วน นักลงทุนกำลังรอรัฐบาลใหม่ว่าจะมีการสานต่อนโยบายอีอีซีไปในทิศทางใดหลังช่วงหาเสียงมีพรรคการเมืองบางพรรคประกาศไม่สนับสนุนอีอีซี ทำให้นักลงทุนสับสน กรณีสหรัฐและจีนก็ขึ้นภาษีตอบโต้ต่อกัน หลังจากนี้สินค้าบางส่วนอาจเข้ามาตีตลาดในภูมิภาคอาเซียนและไทย แต่ในแง่บวกนักลงทุนจีนหรือสหรัฐอาจย้ายฐานการผลิตบางส่วนมายังไทยแทนโดยเฉพาะในอีอีซีเช่นกัน

Advertisement

ด้าน นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ในฐานะผู้มีสิทธิเลือกตั้ง อยากให้รัฐบาลใหม่มีเสถียรภาพพัฒนาประเทศอย่างน้อย 2 ปี เพื่อให้นโยบายต่างๆ เดินต่อไปได้ สร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ เป็นอีกหนึ่งปัจจัยหลักที่จะช่วยพยุงเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลัง เพราะในช่วงไตรมาส 1-2/2562 เศรษฐกิจในประเทศชะลอตัวลง เมื่อมาเป็นรัฐบาลควรสร้างความเชื่อมั่นให้กับกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และยกราคาสินค้าเกษตรให้สูงขึ้น ส่วนในผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ที่ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกปี 2562 รัฐบาลใหม่จะต้องหาช่องทางในการส่งสินค้าใหม่ รวมทั้งหามาตรการตั้งรับกับเหตุการณ์ด้วย

“สิ่งแรกที่รัฐบาลใหม่ต้องเร่งช่วยเหลือ คือ เรื่องราคาสินค้าเกษตรเป็นอันดับแรก ช่วยเหลือไปพร้อมกับกลุ่มเอสเอ็มอีทั้งในรายที่ขายในประเทศและส่งออกต่างประเทศ ส่วนใหญ่เป็นบริษัทรายใหญ่ เพราะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก”

นายอัทธ์กล่าวต่อว่า โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) รัฐบาลใหม่ต้องขับเคลื่อนต่อไป ต่างชาติให้ความสนใจเข้าร่วมลงทุนเป็นอย่างมาก เมื่อดำเนินโครงการเสร็จสิ้นประเทศไทยจะเป็นฮับของอาเซียนอีกแห่งหนึ่ง สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้อย่างมหาศาล

รัฐบาลชุดใหม่เมื่อเข้ามาปฏิบัติงานแล้ว ควรเร่งพูดคุยการเปิดเขตการค้าเสรี (FTA) กับสหภาพยุโรป (อียู) ที่ยังค้างอยู่และ FTA ใหม่ ภายใต้ประโยชน์ของกลุ่มทุกภาคส่วนที่มีส่วนได้ส่วนเสีย ในการทำ FTA ใช้เวลาดำเนินการกว่า 10 ปี ถึงจะเห็นผลเป็นรูปธรรม เปรียบเทียบกับเวียดนามที่เปิดการเจรจาไปเมื่อปี 2550 จะเห็นได้ว่าใช้เวลาดำเนินการกว่า 10 ปี จึงจะมีผลบังคับใช้

“ผมคิดว่า 10 ปี ในการดำเนินการใช้เวลามากเกินไป ควรเร่งรีบให้มีข้อสรุปไม่เกิน 10 ปี หากปล่อยเวลาให้ยืดยาวกว่านั้นอาจกระทบในเรื่องการค้า และการลงทุนในระยะยาวได้ เพราะภาษีที่ไทยส่งสินค้าไปยังยุโรปมากกว่าเวียดนามหลายเท่า จึงต้องเร่งเจรจา พร้อมหามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของไทยให้ขยายตัวเติบโตได้ตามเป้าหมายและเร่งหาตลาดระหว่างประเทศใหม่ๆ”นายอัทธ์กล่าว

นายอัทธ์กล่าวต่อว่า มองว่าคนที่จะมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ต้องรู้จักตลาดต่างประเทศ รวมถึงสินค้าที่ผลิตในประเทศ ต้องรู้ถึงศักยภาพของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย ทั้งนี้ ยังต้องสานงานกับหน่วยงาน อาทิ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในเรื่องการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีและเหมาะสม(GAP) เป็นประโยชน์ต่อการส่งออกที่ไม่ติดขัด เป็นต้น ส่วนเทรดวอร์ ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่ต้องมีข้อมูลการตลาด รวมทั้งต้องรู้ข้อมูลของสินค้าที่ได้รับผลกระทบเพื่อหาทางแมตชิ่งสินค้า ป้องกันการถูกครอบงำจากผู้ที่ไม่ประสงค์ดีต่อประเทศได้

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย(สรท.) เปิดเผยว่า รัฐบาลใหม่ต้องดูแลระบบเศรษฐกิจก่อน ปัจจัยจากต่างประเทศและในประเทศเริ่มส่งผลเกี่ยวข้องและโยงกันไปหมด อย่างที่เห็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน ทำให้การส่งออกและการท่องเที่ยวเจอผลกระทบ ถึงที่สุดก็จะส่งผลกับอุตสาหกรรมและสินค้าหลายอย่างในต่างประเทศรวมทั้งประเทศไทยด้วย ทำให้ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้ต้องรีบบริหารจัดการให้ได้

นายวิศิษฐ์กล่าวว่า ในส่วนทีมบริหารเศรษฐกิจคาดหวังและต้องการทีมที่มีความเชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจเป็นพิเศษ เพราะเป็นเรื่องสำคัญที่จะมองทะลุและเห็นภาพของทั้งเศรษฐกิจโลกและในประเทศอย่างชัดเจน

“ส่วนข้อดีของรัฐบาลปัจจุบันคือความสงบเรียบร้อย ทุกอย่างเป็นไปตามกลไกที่ควรจะเป็น แม้กระทั่งเป็นไปตามผลกระทบใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น ถือว่าลดความขัดแย้งได้เกินครึ่ง คนไทยถ้าไม่ทะเลาะกันเอง อะไรก็ได้ง่าย เดินหน้าไปได้ไกล ต่อจากนี้เราอยากเห็นภาพของความเป็นผู้นำในการทำงาน ทั้งของคณะรัฐบาลและทีมบริหารงานต่างๆ ที่จะต้องทำงานกันอย่างตั้งใจ มีความซื่อสัตย์และโปร่งใส ที่อย่างน้อยก็จะต้องทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศไทยขยับดีขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง เพื่อให้เป็นผลดีของทั้งในประเทศและต่างประเทศด้วย” นายวิศิษฐ์กล่าว

นายวิศิษฐ์กล่าวอีกว่า 5 ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน การทำงานระหว่างภาคเอกชนและภาครัฐดีขึ้นมากจากในอดีต ภาครัฐมีการฟังความเห็นของภาคเอกชนมากขึ้น ถึงแม้ว่าอาจจะมีบางเรื่องที่เอกชนไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมบ้าง เช่น การออกกฎหมายหรือออกกฎระเบียบต่างๆ ที่ไม่ได้รับฟังความเห็นจากเอกชนก็ยังมีอยู่บ้างแต่ลดน้อยไปเยอะ อยากให้ภาครัฐรับฟังความคิดเห็นของเอกชนเพิ่มขึ้น

นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ให้ความเห็นต่อบุคคลที่จะเข้ามาเป็นรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเศรษฐกิจต่างๆ ว่า ได้พูดคุยระหว่างเอกชนด้วยกันคือ ไม่เน้นว่าเป็นใคร ชื่อใด พรรคไหน แต่อยากเห็นรัฐมนตรีที่เข้าใจต่อสถานการณ์ต่างๆ ในงานที่ต้องดูแล รวดเร็วในการแก้สถานการณ์ และสานต่อนโยบายที่ได้หารือไว้กับภาคเอกชนก่อนหน้านี้ ไม่ใช่เข้ามาแล้วปรับเปลี่ยนทันที ตอนนี้เรามีปัญหาที่ต้องแก้ไข ทั้งการส่งออกที่จะได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า ค่าเงินผันผวน กำลังซื้อในประเทศต้องกระตุ้น

นายชูเกียรติกล่าวว่า เอกชนอยากให้จัดตั้งรัฐบาลและแต่งตั้งรัฐมนตรีแต่ละกระทรวงโดยเร็วสานต่อนโยบายและเร่งแก้ปัญหาต่างๆ ขณะนี้บรรยากาศการทำงานของรัฐและเอกชนค่อนข้างนิ่ง เพราะไม่รู้ว่ารัฐมนตรีมานั่งกระทรวงจะเป็นใคร มีข่าวลือและชื่อต่างๆ ยิ่งนานอาจทำให้เกิดการชะลอดูท่าทีรัฐบาลใหม่ นานไปจะไม่ดีต่อระบบเศรษฐกิจ

นี่คือความคิดเห็นที่ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่ควรจะรับฟังอย่างยิ่ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image