เฉลียงไอเดีย : จากธุรกิจฟองเบียร์สู่อสังหาฯลักชัวรี่ ‘สิงห์ เอสเตท’ วางจุดยืนระดับพรีเมียร์ สู่เป้าหมาย Global Holding Company

นริศ เชยกลิ่น

ถึงแม้ว่าชื่อ “สิงห์ เอสเตท” จะถือเป็นแบรนด์น้องใหม่ในวงการอสังหาริมทรัพย์ แต่หากพูดถึงกลุ่มบุญรอดบริวเวอรี่ของตระกูล “ภิรมย์ภักดี” เจ้าของเบียร์สิงห์และลีโอ คงไม่มีใครไม่รู้จัก

การที่มีชื่อเสียงมาอย่างยาวนานและเป็นที่รู้จักกันดี เมื่อ “สิงห์” แตกไลน์มาเล่นในธุรกิจอสังหาฯก็คงไม่ใช่เรื่องยาก ปัจจุบัน “สิงห์ เอสเตท” มีอายุเพียง 5 ปี แต่มีสินทรัพย์รวมกว่า 60,000 ล้านบาท ในสิ้นปี 2561 จากเงินทุนตั้งต้น 9,000 ล้านบาท!!

พร้อมตั้งเป้าหมายภายใน 5 ปี นับจากนี้จะมีสินทรัพย์เป็น 100,000 ล้านบาท

บริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) มีธุรกิจ 3 ประเภท คือ 1.การลงทุนสร้างโครงการต่างๆ อาทิ โครงการสิงห์ คอมเพล็กซ์ ตึกออฟฟิศในย่านอโศก 2.ที่อยู่อาศัยและคอนโดมิเนียม 3.ธุรกิจ Hospitality หรือธุรกิจการบริการ มีเป้าหมายเป็น Global Holding Company หรือการเป็นองค์กรที่ลงทุนในธุรกิจอื่นๆ โดยจะนำทั้ง 2 ธุรกิจเข้าตลาดหลักทรัพย์ ได้แก่ บริษัท เนอวานา ไดอิ จำกัด (มหาชน) หรือ NVD และ กองทรัสต์ SPRIME ที่จะบริหารธุรกิจอาคารสำนักงานของบริษัท และคาดว่าภายในปีนี้จะนำธุรกิจโรงแรมเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)

Advertisement

นริศ เชยกลิ่น ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) ขยายความ สิงห์ เอสเตทได้ลงทุนต่อเนื่องในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งปีนี้จะนำ บริษัท เอส โฮเทล แอนด์ รีสอร์ท จำกัด (มหาชน) หรือ SHR ที่ดูแลธุรกิจโรงแรมทั้งหมด 39 แห่ง มีมูลค่าสินทรัพย์ 26,000 ล้านบาท สร้างรายได้ให้สิงห์ฯแล้วกว่า 40% เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ โดยมีแผนจะขยายโรงแรมเป็น 75 แห่ง ในปี 2025 (พ.ศ.2568) กระจายอยู่ในหลายประเทศ

“การนำ SHR เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ จึงไม่ต้องพึ่งพาเงินทุนสนับสนุนจาก สิงห์ เอสเตท เหมือนในปัจจุบัน และหลังการ IPO (เสนอขายหุ้นครั้งแรกเป็นการทั่วไป) สถานะการเงินจะแข็งกร่งขึ้น เพราะมีทางเลือกในการหาเงินทุนมากขึ้น อาทิ การออกตราสารเงิน รวมถึงสร้างความเชื่อมั่นให้ธุรกิจร่วมกับพันธมิตรใหม่ๆ และสร้างโอกาสในการซื้อกิจการโรงแรมอื่นๆ ได้มากขึ้น”

Advertisement

นริศกล่าวว่า ในตอนนี้อยู่ระหว่างการศึกษาและสำรวจธุรกิจอื่นๆ เพื่อแตกไลน์ธุรกิจใหม่เพิ่มเติม ถึงแม้ว่าธุรกิจปัจจุบันจะมีความเชี่ยวชาญและสามารถเติบโตได้ต่อเนื่องก็ตาม สำหรับปีนี้มองว่าน่าจะเป็นปีในการเก็บเกี่ยวผลประกอบการที่เกิดจาการลงทุนและทำโครงการมาตั้งแต่ 3-4 ปีที่ผ่านมา โดยมีเป้าหมายคือจะพยายามเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ทั้งหมดให้เป็นไปตามแผนที่ตั้งไว้ และทำกำไรให้มากที่สุด เพื่อปันผลให้กับผู้ถือหุ้น เพราะถือว่าเป็นการปันผลหุ้นปีแรกของบริษัทด้วย

“หากถามว่ามองเห็นโอกาสอะไรในธุรกิจอสังหาฯ ต้องบอกว่านักพัฒนาในปัจจุบันจะทำตั้งแต่ระดับล่างจนถึงบน ซึ่งไม่ได้บอกว่าระดับบนไม่มีใครทำ แต่สำหรับสิงห์ เอสเตททำแค่ระดับบนระดับเดียวเท่านั้น ไม่ลงไปเล่นในระดับอื่นเลย เป็นจุดขายหลักของแบรนด์ ทำให้โครงการที่เกิดขึ้นด้วยฝีมือเราจะเป็นระดับลักชัวรี่ทั้งหมด ผู้บริโภคหรือกลุ่มลูกค้าสามารถเชื่อมั่นในแบรนด์เราได้ เพราะเราทำแค่ระดับบนเท่านั้นจริงๆ เพื่อเจาะกลุ่มเป้าหมายแค่ระดับบนเท่านั้นในส่วนของที่อยู่อาศัย”

นริศบอกอีกว่า ยังรวมถึงโอกาสลงทุนทำโครงการขนาดใหญ่ในต่างประเทศ ที่ต้องถือว่าลงมือพัฒนาโครงการเองทั้งหมด ไม่เหมือนที่ผ่านมาจะซื้อต่อโครงการเพื่อมาพัฒนาต่อ โดยสิงห์ เอสเตท ได้ตกลงใจลงทุนในประเทศมัลดีฟส์ พัฒนาโครงการ ครอสโร้ดส์ (CROSSROADS) ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวพักผ่อนอย่างครบวงจร มีมูลค่ากว่า 22,000 ล้านบาท

“มัลดีฟส์” มีชื่อเสียงเรื่องแหล่งท่องเที่ยวพักผ่อนทางทะเล ได้รับการยอมรับจากนักท่องเที่ยวในลำดับต้นๆ และเชื่อว่าอยู่ในใจใครหลายคนที่นึกถึงหากจะเที่ยวเมืองทางทะเล โดยเฉพาะกลุ่มคู่รักหรือฮันนีมูน ปัจจุบันโรงแรมในประเทศมัลดีฟส์น่าจะมีประมาณ 200 แห่ง แต่ยังไม่เพียงพอรองรับจำนวนนักท่องเที่ยวที่มีมากกว่า 2 ล้านคนต่อปี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ กระเป๋าหนัก อยู่ในระดับลักชัวรี่ พร้อมใช้จ่ายต่อแพคเกจหลายหมื่นบาทถึงระดับแสนบาทต่อคน

สำหรับโครงการครอสโร้ดส์ ประกอบด้วย หมู่เกาะสร้างใหม่จำนวน 9 เกาะ ภายใต้แนวคิด “หนึ่งเกาะต่อหนึ่งรีสอร์ต” โดยแต่ละเกาะจะนำเสนอประสบการณ์พักผ่อนสไตล์รีสอร์ตแตกต่างไป แบ่งการพัฒนาออกเป็น 2 เฟส ในเฟสแรก 3 เกาะเปิดให้บริการภายในไตรมาสแรกของปีนี้ ส่วนเฟสที่ 2 จะก่อสร้างเกาะใหม่อีก 6 เกาะ คาดว่าจะเปิดได้ทั้งหมดภายในอีก 4 ปีข้างหน้า ทั้งโครงการมีพื้นที่ขนาดยาว 7 กิโลเมตร และขนาดความกว้าง 2 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางจากสนามบินเพียง 15 นาที และใช้ระบบการก่อสร้างแบบพรีคาสท์แห่งแรกในมัลดีฟส์

นริศบอกเหตุผลที่เลือกลงทุนในมัลดีฟส์ เพราะเห็นโอกาสการเติบโตของธุรกิจโรงแรมและการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด นโยบายของบริษัทจะขยายธุรกิจนี้อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบการร่วมทุน การเข้าซื้อกิจการ และการลงทุนเอง รวมถึงการเข้าลงทุนซื้อกิจการโรงแรม และรีสอร์ตในแบรนด์เอาท์ริกเกอร์ จำนวน 6 แห่งใน 4 ประเทศท่องเที่ยวชั้นนำ มูลค่า 310 ล้านเหรียญสหรัฐ

นับเป็นหนึ่งในย่างก้าวสำคัญตามแผนกลยุทธ์การลงทุนของสิงห์ เอสเตท (Smart M&A) ซึ่งมุ่งเน้นลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนระยะยาวและมีศักยภาพในการเติบโตสูง โดยมีแนวทางพัฒนาธุรกิจในรูปแบบการสร้างจุดแข็งที่แตกต่าง เพิ่มมูลค่าสินทรัพย์ ผ่านการสร้างประสบการณ์ที่ประทับใจให้แก่ลูกค้า พร้อมสร้างความยั่งยืนของธุรกิจ มุ่งเน้นการรักษาความสมดุลระหว่างความเติบโตของธุรกิจ คุณภาพชีวิตของชุมชน และความอุดมสมบูรณ์ของสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน

การเข้าซื้อกิจการธุรกิจโรงแรมและรีสอร์ตกลุ่มเอาท์ริกเกอร์ สะท้อนให้เห็นถึงกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจของบริษัท ที่นอกจากเน้นการเติบโตด้วยการสร้างคุณภาพที่ยั่งยืน ส่งผลตอบแทนในระยะยาวแล้ว ยังเป็นการสร้างคุณค่าให้กับแบรนด์ด้วย ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญที่จะช่วยผลักดันให้ สิงห์ เอสเตท ก้าวขึ้นเป็นบริษัท Premier Property Development and Investment Holding Company ตามแผนของบริษัท โดยกลยุทธ์การดำเนินงานแบบ Smart M&A ได้ส่งผลให้สินทรัพย์รวมของบริษัทเติบโตขึ้นจากแผนที่วางไว้ หากรวมกับการลงทุนขนาดใหญ่ในโครงการครอสโร้ดส์ที่ประเทศมัลดีฟส์แล้ว คาดว่าจะทำให้สินทรัพย์รวมของสิงห์ เอสเตท เติบโตสูงถึง 60,000 ล้านบาท และสามารถสร้างรายได้ให้กับบริษัทตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ในระยะเวลาที่เร็วขึ้น

“โครงการครอสโร้ดส์ จะทำให้เรามีชื่อเสียงในฐานะผู้พัฒนาโครงการ เพราะเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่รวบรวมบริการที่ต้องการและสิ่งอำนวยความสะดวกทั้งหมดอย่างครบครัน จึงเชื่อมั่นว่าโครงการนี้จะเป็นส่วนทำให้แบรนด์สิงห์ เอสเตท เป็นที่รู้จักและมีชื่อเสียงระดับโลกต่อไปในอนาคต ซึ่งตรงนี้มันไม่สามารถวัดค่าได้ เพราะหากเรามีชื่อเสียงในอนาคตก็จะมีโอกาสต่อยอดธุรกิจหรือทำโครงการใหม่เพิ่มอีก โดยในการพัฒนาโครงการอะไรขึ้นมาจะทำจนสุดกำลัง และเลือกสิ่งที่ดีที่สุด เพื่อทำให้ได้ดีมากกว่าที่สุดเพิ่มขึ้นอีก”

จากธุรกิจเบียร์สู่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และอาคารสำนักงานระดับลักชัวรี่..ถ้าไม่ดีจริง ไม่ใช่แบรนด์สิงห์ เอสเตทแน่นอน

วิณัฐฏาภรณ์ ศิริโสม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image