เอกซเรย์ที่ดินทองฝังเพชร แพงระยับ-วาละล้าน โซน ‘อีอีซี’ ทะยานติดลม

ช่วงนี้กรมธนารักษ์กำลังประเมินราคาทุนทรัพย์ที่ดินใหม่ทั่วประเทศ โดยกำหนดประกาศใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 ซึ่งราคาประเมินที่ดินจะปรับทุก 4 ปี เพื่อนำไปใช้อ้างอิงจดทะเบียนสิทธิ และนิติกรรม

ย้อนดูที่กรมธนารักษ์ประเมินราคาทุนทรัพย์ที่ดินรายแปลงครบทั้งประเทศเมื่อ 1 มกราคม 2561 นั้น ในอดีตการประเมินราคาที่ดินทำทั้งรายแปลง และราคาประเมินรายบล็อก เพราะการประเมินรายแปลงต้องใช้เวลา แต่ด้วยกฎหมายภาษีที่ดินใหม่ เริ่มใช้วันที่ 1 มกราคม 2563 กำหนดให้การประเมินที่ดินต้องเป็นรายแปลง เพื่อให้ง่ายต่อการประเมินภาษี สอดคล้องกับราคาประเมินเปลี่ยนใหม่ทุก 4 ปีพอดี
ที่ดินทั่วประเทศมีจำนวน 321 ล้านไร่นั้น เป็นที่ดินเอกชน 127 ล้านไร่ จำนวน 37.62 ล้านแปลง ในจำนวนนี้เป็นโฉนด 33.48 ล้านแปลง คิดเป็น 89% ที่เหลือเป็นที่ดิน เช่น น.ส.3 ก. น.ส.3 และใบจอง

ฐนัญพงษ์ สุขสมศักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานประเมินราคาทรัพย์สิน กรมธนารักษ์ กล่าวถึงราคาประเมินที่ดินรอบใหม่ว่า การประเมินราคาที่ดินรอบใหม่จะแล้วเสร็จในช่วงเดือนกรกฎาคมนี้ และจะทูลเกล้าฯเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยและประกาศในราชกิจจานุเบกษา ภาพรวมราคาที่ดินทั่วประเทศปรับเพิ่มขึ้น 11.37% แต่มีบางทำเลที่ปรับขึ้นมากถึง 100% บางทำเลราคาทรงตัว โดยทำเลที่ปรับขึ้นมาก เช่น ตามแนวรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ แนวรถไฟความเร็วสูง พื้นที่โครงการพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)

สำหรับราคาที่ดินใน กรุงเทพฯ ปรับเพิ่มเฉลี่ย 2.45% โดยอัตราเปลี่ยนแปลงของราคาที่ดินถนนสายสำคัญ ซึ่งคิดเป็นตารางวา (ตร.ว.) เช่น ถนนสีลม ราคาประเมินอยู่ที่ 7.5 แสนบาท ถึง 1 ล้านบาท เพิ่มจากราคาประเมินรอบที่ผ่านมาที่อยู่ 7 แสนบาทถึง 1 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 7.14-0%, ถนนเพลินจิต 1 ล้านบาท เพิ่มจาก 9 แสนบาท หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 11.11%, ถนนพระรามที่ 1 ราคา 4 แสนบาทถึง 1 ล้านบาท จาก 4 -9 แสนบาท หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 0-11.11%, ถนนวิทยุ 1 ล้านบาท จาก 5-7.5 แสนบาท หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 100-33.33%, ถนนสาทร 4.5-8 แสนบาท จาก 4.5-7.5 แสนบาทหรือ 0-6.67%, ถนนสุขุมวิท 2.3-7.5 แสนบาท จาก 2.1-6.5 แสนบาท หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 9.52-15.38%, ถนนพหลโยธิน 1.3-5 แสนบาท จาก 1-4 แสนบาทหรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 30-25%, ถนนรามอินทรา 1-1.7 แสนบาท จาก 8.5 หมื่นบาท-1.5 แสนบาท หรือ เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 17.65-30.76%

Advertisement

ส่วนราคาประเมิน พื้นที่ปริมณฑล ต่อ ตร.ว. พบว่า นนทบุรีมีราคาประเมินเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 0.25% ราคาต่ำสุด 1,000 บาทสูงสุด 170,000 บาท ที่ดินราคาแพงสุดอยู่บริเวณ ถนนกรุงเทพ-นนทบุรี ถนนงามวงศ์วาน, สมุทรสาครราคาเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 3.58% ราคาต่ำสุด 350 บาทสูงสุด 70,000บาท ที่ดินแพงสุดถนนเอกชน ถนนเศรษฐกิจ 1, สมุทรปราการราคาเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 5.36% ต่ำสุด 500 บาทสูงสุด 160,000 บาท แพงสุดบริเวณถนนสุขุมวิท (เขตกรุงเทพฯ-คลองสำโรง), นครปฐมเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 6.46% ต่ำสุด 130 บาท แพงสุด 80,000 บาท บริเวณแพงสุดแถวถนนหน้าพระ ถนนหลังพระ ถนนซ้ายพระ ถนนขวาพระ ถนนทรงพล ถนนราชวิถี ถนนราชดำเนิน ปทุมธานีเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 7.07% ราคาต่ำสุด 600 บาท สูงสุด 100,000 บาท แถวถนนรังสิต-ปทุมธานี ถนนพหลโยธิน

สำหรับภาคกลาง ราคาต่อ ตร.ว. จังหวัดเพิ่มมากสุดคือ พิษณุโลก เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 25.13% ราคาสูงสุด 100,000 บาท ต่ำสุด 30 บาท, ชัยนาท เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 23.63% สูงสุด 44,500 บาท ต่ำสุด 80 บาท, สุโขทัย เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 20.67% สูงสุด 64,000 บาทต่ำสุด 50 บาท, เพชรบูรณ์ เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 15.38% สูงสุด 43,500 บาท ต่ำสุด 60 บาท, นครสวรรค์ เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 13.19% สูงสุด110,000 บาทต่ำสุด 70 บาท ส่วนจังหวัดที่ราคาเพิ่มขึ้นน้อยสุด คือ สมุทรสงคราม เท่าเดิม 0.00% ราคาสูงสุด 53,000 บาทต่ำสุด 150 บาท, อุทัยธานีเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 1.18% ราคาสูงสุด 50,000 บาทต่ำสุด 100 บาท, พิจิตรเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 1.49 % สูงสุด 36,000 บาทต่ำสุด 50 บาท, อ่างทองเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 2.19% สูงสุด 60,000 บาทต่ำสุด 150 บาท, พระนครศรีอยุธยาเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 2.60% สูงสุด 60,000 บาท ต่ำสุด250 บาท สุพรรณบุรีเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 10.13% สูงสุด 70,000 บาทต่ำสุด 80 บาท

ภาคเหนือ ราคาต่อ ตร.ว. จังหวัดเพิ่มสูงสุด คือตาก จากเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษดันราคาพุ่ง 48.66% ราคาสูงสุด 63,000 บาท ต่ำสุด 25 บาท, เชียงใหม่เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 26.79% สูงสุด 51,500 บาทต่ำสุด 25 บาท,อุตรดิตถ์เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 11.80% สูงสุด 60,000 บาทต่ำสุด 50 บาท, เชียงรายเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 11.69% สูงสุด 85,000 บาทต่ำสุด 130 บาท ส่วนจังหวัดที่ปรับน้อยสุด คือ แพร่ เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 0.19% ราคาสูงสุด 42,500 บาทต่ำสุด 50 บาท,พะเยา เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 1.86% สูงสุด 58,000 บาท ต่ำสุด 100 บาท, ลำพูนเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 2.39% สูงสุด 100,000 บาท ต่ำสุด 80 บาท, น่านเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 4.61% สูงสุด 65,000 บาทต่ำสุด 25 บาท แม่ฮ่องสอนเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 5.44% สูงสุด 52,000 บาทต่ำสุด 30 บาท, ลำปางเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 5.45% สูงสุด 100,000บาท ต่ำสุด 100 บาท

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ราคาต่อ ตร.ว. จังหวัดเพิ่มสูงสุด คือ ชัยภูมิเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 27.19% ราคาประเมินสูงสุด 53,500 บาท ต่ำสุด 40 บาท, ขอนแก่น เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 21% ราคาประเมินสูงสุด 200,000 บาทต่ำสุด 50 บาท, มุกดาหาร เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 18.27% ราคาสูงสุด 40,000 บาท ต่ำสุด 50 บาท, ยโสธรเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 16.68% สูงสุด 44,000 บาท ต่ำสุด 100 บาท, นครราชสีมาเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 15.93% สูงสุด 130,000 บาทต่ำสุด 50 บาท สำหรับจังหวัดเพิ่มขึ้นน้อยสุด เช่น บึงกาฬ คงที่ 0.00% สูงสุด 7,000 บาทต่ำสุด 130 บาท, อุดรธานีเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 1.31% สูงสุด 180,000 บาท  ต่ำสุด 50 บาท, มหาสารคามเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 1.56% สูงสุด 60,000 บาทต่ำสุด 100 บาท, หนองคายเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 2.92% สูงสุด 45,000 บาทต่ำสุด  100 บาท

สำหรับภาคตะวันออก เป็นพื้นที่ อีอีซี และกำลังมีการก่อสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินจังหวัดมีราคาประเมินเพิ่มสูงสุดต่อ ตร.ว. คือ ชลบุรี ราคาเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 28.23% สูงสุด 220,000 บาท ต่ำสุด 200 บาท, จันทบุรีเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 13.29% ราคาสูงสุด 90,000 บาท ต่ำสุด 100 บาท, ตราดเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 9.66% ราคาสูงสุด 71,000 บาท ต่ำสุด 75 บาท สระแก้ว 9.35% สูงสุด 25,000 บาทต่ำสุด 50 บาท จังหวัดที่ราคาเพิ่มขึ้นน้อยคือ ฉะเชิงเทราเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 1.91% ราคาสูงสุด 50,000 บาทต่ำสุด100 บาท, ระยองเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 2.86% ราคาสูงสุด100,000 บาทต่ำสุด 100 บาท, ปราจีนบุรีเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 3.20% สูงสุด 45,000 บาทต่ำสุด 75 บาท

ภาคใต้ จังหวัดมีราคาประเมินปรับตัวสูงสุดต่อ ตร.ว. คือ นครศรีธรรมราช เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 26.28% ราคาสูงสุด 200,000 บาทต่ำสุด 60 บาท,ตรังเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 21.05% ราคาสูงสุด 150,000 บาทต่ำสุด 100 บาท,สงขลาเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 11.51% สูงสุด 400,000 บาท ต่ำสุด 80 บาท ส่วนจังหวัดที่ปรับตัวขึ้นน้อยสุด ภูเก็ตเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 0.77% สูงสุด 200,000 บาทต่ำสุด 980 บาท, นราธิวาสเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 0.92% สูงสุด 85,000 บาทต่ำสุด 50 บาท,พังงาเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 2.13% สูงสุด 50,000 บาทต่ำสุด 100 บาท

ภาคตะวันตก ราคาคิดเป็น ตร.ว. จังหวัดกาญจนบุรีเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 2.84% สูงสุด 60,000 บาท ต่ำสุด 50 บาท, เพชรบุรีเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 6.03% สูงสุด 100,000 บาทต่ำสุด 100 บาท, ประจวบคีรีขันธ์เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 13.46% สูงสุด 150,000 บาทต่ำสุด 100 บาท, ราชบุรีเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 16.92% สูงสุด 100,000 บาท
ต่ำสุด 75 บาท

จากราคาประเมินดังกล่าว พบว่าในพื้นที่กรุงเทพฯ ราคาที่ดินปรับขึ้นสูงสุดอยู่บริเวณถนนวิทยา ปรับเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 100% ส่วนราคาแพงสุด ตร.ว.ละ 1 ล้านบาท บริเวณถนนสีลม (ถนนพระรามที่ 4-ถนนนราธิวาสราชนครินทร์) ถนนเพลินจิต ถนนวิทยุ ถนนพระราม 1 (ถนนราชดำริ-ถนนพญาไท) ราคาต่ำสุดพื้นที่กรุงเทพฯคือ 500 บาท เป็นที่ดินตาบอดไม่มีทางออก

สำหรับต่างจังหวัดปรับเพิ่มขึ้นสูงสุด คือ จังหวัดตาก ปรับเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 48.66% เป็นผลจากการผลักดันเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ รองลงมาจังหวัดชลบุรี เพิ่มขึ้น 28.23% จากอีอีซี โดยราคาที่ดินสูงสุด คือ ในจังหวัดสงขลา 4 แสนบาทต่อ ตร.ว.เป็นผลจากเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ส่วนราคาต่ำสุด คือ ในจังหวัดลพบุรี 20 บาทต่อ ตร.ว ซึ่งเป็นที่ดินตาบอด

ทั้งหมดสะท้อนให้เห็นถึงพื้นที่ใดเจริญแล้ว และพื้นที่ใดไม่มีพัฒนาการ ความก้าวหน้า

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image